มาเลเซียลงนามในข้อตกลงสำคัญกับบริษัท อาร์ม โฮลดิงส์ ยักษ์ใหญ่ด้านชิปของสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายของประเทศ ในการผลิตชิปขั้นสูงของตัวเอง ในอีก 5-7 ปีข้างหน้า

นายชาฟิก คาดีร์ นักวิเคราะห์หุ้นจากบริษัท ซีจีเอส อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า บริษัทออกแบบวงจรรวมในท้องถิ่น มีช่องทางเล็กน้อยในการเข้าถึงเงินทุนจำนวนมาก ตลอดจนขาดประวัติการทำงานที่มั่นคง และกลุ่มวิศวกรที่มีประสบการณ์

ขณะที่ นายหว่อง เซียว ไห่ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แห่งมาเลเซีย (เอ็มเอสไอเอ) ระบุว่า มาเลเซียขาดแคลนบุคลากรที่มีประสบการณ์และทักษะเฉพาะที่ประเทศต้องการ

“แม้มีชาวมาเลเซียที่มีประสบการณ์ ซึ่งเคยทำงานกับบริษัทข้ามชาติ แต่หลายคนกลับเลือกที่จะทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากเงินเดือนและโอกาสที่ดีกว่า รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลให้มาเลเซียสูญเสียบุคลากรที่มีทักษะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉลี่ย 15% ทุกปี เพราะปรากฏการณ์สมองไหล” หว่อง กล่าวเพิ่มเติม

อนึ่ง มาเลเซียจะจ่ายเงินให้อาร์ม ของบริษัท ซอฟต์แบงก์ เป็นจำนวน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,400 ล้านบาท) ในช่วงเวลา 10 ปี เพื่อเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงพิมพ์เขียวออกแบบชิประดับไฮเอนด์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้มาเลเซียก้าวไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เช่น การผลิตแผ่นเวเฟอร์ และการออกแบบวงจรรวม

นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังรวมถึงการฝึกอบรบวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ท้องถิ่น 10,000 คน อีกทั้งอาร์มจะจัดตั้งสำนักงานแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย

ด้านนางฟาร์ลินา ซาอิด นักวิจัยด้านนโยบายไซเบอร์และเทคโนโลยี จากสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์และระหว่างประเทศแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศของเซมิคอนดักเตอร์ ต้องใช้เวลาและการวางแผนอย่างรอบคอบ

หว่องชี้ให้เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อยกระดับภาคส่วนเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซีย ถือว่า “น้อย” เมื่อเทียบกับการลงทุนของรัฐบาลปักกิ่งของจีน และรัฐบาลวอชิงตันของสหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น ชาฟิกยังกล่าวว่า เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตชิป อาจมีมูลค่าสูงถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ฟาร์ลินา ระบุว่า การแข่งขันกับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในภูมิภาค จะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากพวกเขาพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะประเทศเป็นผู้เล่นสำคัญในภาคส่วนชิป โดยมีรัฐปีนัง ซึ่งมักถูกเรียกว่า “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งมาเลเซีย” เป็นศูนย์กลางของความสำเร็จ แม้จะมุ่งเน้นไปที่เบื้องหลังอุตสาหกรรม เช่น การประกอบ และการทดสอบก็ตาม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP