ทั้งนี้ปลายเกมศึกซักฟอกหนนี้ “ผู้นำฝ่ายรัฐบาล” ออกหมัดย้อนเกล็ด “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่ปรามาสกรณี “ขาดภาวะผู้นำ” ว่าพูดบ่อยจนเหมือนตัวเองขาดภาวะนี้ จนบรรดาคอการเมือง “แซ่บซู้ดปาก!!” กันไม่น้อย ซึ่งนั่นก็ว่ากันไป ขณะที่ในภาพรวม ๆ ทั่ว ๆ ไป กับ “ภาวะผู้นำที่ดี” นั้น ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับประเทศ…ทุก ๆ ระดับเรื่องนี้ล้วน “สำคัญ”

เรื่องนี้ “น่าตระหนักทุกระดับทุกกรณี”

และก็ “รวมถึงกรณีที่มีปัญหาพิบัติภัย”

สำหรับ “คุณสมบัติภาวะผู้นำที่ดี” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจ เป็นข้อมูลจากบทความชื่อ “ภาวะผู้นำตามคุณลักษณะของผู้นำที่ดี” ที่มีการเผยแพร่ไว้ทาง วารสารปราชญ์ประชาคม ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-สิงหาคม 2566 โดยผู้เขียนคือ ปรัชญา บุตรสะอาด อาจารย์ หลักสูตรสาขาการจัดการเชิงพุทธ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ชลบุรี ซึ่งในบทความชิ้นนี้ได้มีการนำเสนอถึงประเด็นดังกล่าวนี้ไว้ โดยสังเขปมีดังนี้…

ผู้นำ” และ “ภาวะผู้นำ” มีความ “สัมพันธ์กัน” ตามคุณสมบัติและคุณลักษณะในตัวบุคคล ซึ่งถ้าผู้นำมีภาวะผู้นำที่ดีก็สามารถนำองค์กรไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ บรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากผู้นำเป็นผู้กำหนดปัญหา ตัดสินใจ วางแผน รับผิดชอบต่อความอยู่รอดขององค์กร ซึ่งภาวะผู้นำเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ จากการฝึกฝนความสามารถในการใช้อำนาจ และเป็นผู้ที่ชักชวนจูงใจให้ผู้ร่วมงานยินดีและเต็มใจที่จะร่วมมือให้บรรลุเป้าหมาย …นี่เป็น “ความสัมพันธ์ความสำคัญ”

กรณี “ผู้นำ” กับการ “มีภาวะผู้นำที่ดี”

นอกจากนี้ ในบทความดังกล่าวยังชี้ไว้ว่า… ในสังคมโลกยุคปัจจุบันเป็นสังคมที่ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำ ดังนั้น การบริหารองค์กรแต่ละองค์กรนั้นจึงจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ จินตนาการ และความรับผิดชอบของผู้นำ ที่ถึงแม้ภาวะผู้นำจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างในการปฏิบัติงานขององค์กรก็ตาม หากแต่ปัจจุบันภาวะผู้นำบุคคลก็กำลังเป็นสิ่งที่ขาดแคลนมากในเกือบทุก ๆ องค์กร ซึ่งเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี โครงสร้างองค์กร และพฤติกรรมทางสังคม ผู้บริหารจึงต้องพัฒนาความรู้ความสามารถ ความเข้าใจ และคุณลักษณะภาวะผู้นำ อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพราะ…

ภาวะผู้นำเป็นกลไกสำคัญการทำงาน

ที่จะช่วยให้ภารกิจขององค์กรสำเร็จ

แล้ว “ต้องมีอะไรบ้าง??” จึงจะมี “คุณลักษณะผู้นำที่ดี” ทาง .ปรัชญา ผู้เขียนบทความดังกล่าว ได้ให้แนวทางเบื้องต้น โดยสังเขปมีว่า… ลักษณะพิเศษการเป็นผู้นำที่ดี” นั้น ถ้าแบ่งกว้าง ๆ จะมี 2 ด้านสำคัญ คือ “คุณสมบัติภายใน” ได้แก่ 1.รู้หลักของสัปปุริสธรรม หรือรู้หลักการเหตุผล 2.มีสติปัญญา ไม่ประมาท 3.ตื่นตัว ทันต่อเหตุการณ์ 4.มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล 5.เป็นคนเข้มแข็ง ส่วนอีกด้าน คือ “คุณสมบัติภายนอก” ประกอบด้วย 1.มีความรู้ความสามารถ 2.มีพรหมวิหารธรรม และหวังประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม 3.น่ารัก น่าเคารพ 4.เป็นธรรมาธิปไตย 5.ฉลาดในการพูด 6.ไม่ลำเอียง …นี่เป็นคุณลักษณะ

ผู้นำที่ดีต้องมีคุณลักษณะที่ดี” เหล่านี้

มี “เพื่อจะนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ”

อย่างไรก็ดี“ผู้มีภาวะผู้นำที่ดี”ก็ยัง “ต้องมีลักษณะพิเศษ”เหล่านี้ประกอบกันด้วย ได้แก่1.มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นผู้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีท่วงท่ากิริยาท่าทางการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อยและสมฐานะกับสมส่วน2.ยึดหลักธรรมาภิบาล เช่น ยึดหลักความถูกต้อง หลักความเหมาะสม หลักความบริสุทธิ์ หลักความยุติธรรม 3.มีสัปปุริสธรรม ยึดคุณธรรม ความดี ศีลธรรม รู้จักเหตุรู้จักผล รู้จักวางตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะหรือสถานการณ์ 4.รู้จักหลักปฏิบัติต่อกันด้วยดี ระหว่างผู้บังคับบัญชากับลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา โดยยึดหลักเหฏฐิมทิศ ที่เป็นหลักคุณธรรมของพระพุทธเจ้า

5.รู้จักปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยหลัก “อ่อนนอกแข็งใน” และถัดมา… 6.รู้วิธีการพัฒนาบุคลากร ให้เป็นคนดี มีคุณภาพ และมีคุณธรรมเสมอ 7.มีความคิดริเริ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์สุขแก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ 8.มีความคิดพัฒนา เป็นนักพัฒนาปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ล้าหลังหรือข้อบกพร่องให้ดีขึ้นอยู่เสมอ 9.มีสำนึกในภาระหน้าที่ ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม 10.เป็นนักเสียสละความสุขส่วนตน ให้แก่กิจการงาน เพื่อบรรลุความสำเร็จ และ 11.มีความมั่นใจตนเอง หมายถึงมั่นใจในความรู้ความสามารถกับสติปัญญา แต่ มิใช่มั่นใจผิด ๆ ลอย ๆ แบบหลงตัวเอง

ทั้งนี้ .ปรัชญา บุตรสะอาด ระบุไว้ด้วยว่า… บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะความเป็น “ผู้นำที่ดี” ซึ่งการเป็นผู้นำเป็นศิลปะของการที่จะมีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่น เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นเชื่อมั่นผู้นำ เคารพนับถือ ให้ความร่วมมือ โดยผู้นำที่ดีต้องทำหน้าที่เสมือน “ผู้สร้างนาฬิกา ไม่ใช่เป็นแค่นาฬิกา” เพราะหน้าที่ผู้นำไม่ใช่แค่บอกเวลา…

เหล่านี้เป็นมุมวิชาการ “ภาวะผู้นำที่ดี”

ภาวะที่ “นำสู่การจัดการปัญหาที่มีได้”

ที่รวมถึงปัญหาภัยแผ่นดินไหว”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์