ทั้งนี้ “สมเด็จพระสันตะปาปา”นอกจากจะทรงมีสถานะเป็นพระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก พระองค์ยังทรงมีสถานะเป็น“พระประมุขของประเทศ”ด้วย นั่นคือ“นครรัฐวาติกัน”ซึ่งนครนี้แม้จะตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี แต่ก็ไม่ได้ขึ้นกับอิตาลี…
“นครรัฐวาติกัน” นั้น “เป็นรัฐเอกราช”
โดยที่ “มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง”
และก็ “มีสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน”
ก่อนจะมาถึงวันที่มี พระประมุขพระองค์ใหม่ พระองค์ที่ 267 แห่งประวัติศาสตร์กว่า 2 พันปีของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก คือ สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14ที่สืบต่อจากพระประมุขพระองค์ที่ 266 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ 21 เม.ย. 2568 หลังทรงเป็นสมเด็จพระสันตะปาปานับแต่ 13 มี.ค. 2556 สืบต่อจากโป๊ปพระองค์ที่ 265 คือ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งทรงสละตำแหน่ง กับเรื่องราวเกี่ยวกับตำแหน่งโป๊ป สมเด็จพระสันตะปาปานั้น มีมายาวนานมากมายหลากหลายแง่มุมนับแต่อดีต เช่นเดียวกับนครทางศาสนาที่ชื่อ “นครรัฐวาติกัน” หรือ “สันตะสำนัก”
“สันตะสำนัก”หรือ “Holy See – อาณาจักรอันศักดิ์สิทธิ์” หรือ “นครรัฐวาติกัน” แห่งนี้…ได้รับการจารึกให้เป็น “ดินแดนที่ต้องได้รับการปกป้องรักษาเป็นพิเศษ”ในฐานะที่เป็น “แหล่งศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก”

ทั้งนี้ จากข้อมูลโดย กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ของไทย ณ วันที่ 3 ก.พ. 2568 สมเด็จพระสันตะปาปาทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขสูงสุดของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่ทั่วโลกมีผู้นับถือกว่า 1 พันล้านคน โดยในประเทศไทยมีผู้นับถือประมาณมากกว่า 4 แสนคน และกล่าวสำหรับ“นครรัฐวาติกัน” หรือ “Vatican City State” นั้น ข้อมูลโดยสังเขปมีว่า… ถือเป็น “รัฐเอกราช”ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยมีพื้นที่ของนครราว 0.438 ตร.กม. มีประชากร 764 คน (ณ ปี 2567) มีสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นพระประมุขนครรัฐ การบริหารนครรัฐดำเนินการโดยสำนักเลขาธิการแห่งรัฐ โดยมีเลขาธิการแห่งรัฐ ซึ่งสถานะเทียบเท่านายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะหน่วยงานระดับกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งมี 9 หน่วยงาน
รัฐเอกราชหรือประเทศอิสระที่ชื่อ “นครรัฐวาติกัน” มีเงินรายได้หลัก ที่เรียกว่า “Peter’s Pence” มาจากการสนับสนุนขององค์กรคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกทั่วโลก นอกจากนี้ก็ยังมีรายได้จากการลงทุนต่าง ๆ และรวมถึงรายได้จากการจำหน่ายหนังสือ สิ่งพิมพ์ ตราไปรษณียากร เหรียญ ของที่ระลึก และค่าธรรมเนียมเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ใน “นครรัฐวาติกัน”…
“ประเทศอิสระที่พื้นที่เล็กที่สุดในโลก”
ข้อมูลโดยกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ระบุไว้ว่า… สถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ เป็นสำนักงานของประเทศไทยที่มีหน้าที่ครอบคลุมเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์” ระหว่างประเทศ “ไทย–วาติกัน” ในขณะที่ วาติกันมีสถานเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย ที่ครอบคลุมถึงกัมพูชา เมียนมา ลาว ซึ่งจากข้อมูลส่วนนี้ก็ฉายภาพ “สัมพันธ์อย่างเป็นทางการ” ระหว่างไทย-วาติกัน ที่วันสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูตคือ 28 เม.ย. 2512
อย่างไรก็ดี ไทยกับวาติกันมีสัมพันธ์มาอย่างยาวนานราว 363 ปีแล้ว โดยมีมิชชันนารีคณะแรกจากวาติกันเดินทางมากรุงศรีอยุธยา ปี 2205 ในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมิชชันนารีคณะนี้ก่อตั้งคริสต์ศาสนาในไทยเป็นคณะแรก จากนั้นทางไทยและวาติกันก็มีสาส์นระหว่างกันหลายครั้งในยุคสมเด็จพระสันตะปาปาหลายพระองค์ โดยในสมัยรัตนโกสินทร์ ในปี 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระหว่างเสด็จประพาสยุโรป ได้เสด็จฯ เยือนนครรัฐวาติกัน ทรงเยี่ยมสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งนับเป็นการเสด็จฯ เยือนครั้งแรกในระดับพระประมุขของประเทศ
ต่อมาในวันที่ 1 ต.ค. 2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เยือนนครรัฐวาติกัน ทรงเยี่ยม สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ที่ 23 และเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2528 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ เยือนนครรัฐวาติกัน ทรงเยี่ยม สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ซึ่งเป็นพระประมุขแห่งวาติกันพระองค์ที่ 264
ขณะที่พระประมุข “นครรัฐวาติกัน” เสด็จเยือนไทยเป็นครั้งแรก 10-11 พ.ค. 2527 ซึ่งก็คือ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 โดยเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสพระประมุขแห่งวาติกันพระองค์ที่ 266 ได้เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกรัฐบาล ระหว่าง 20-23 พ.ย. 2562 เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญทางความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ก่อนจะมาถึงวันที่ สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14ทรงเป็น “พระประมุขพระองค์ใหม่แห่งวาติกัน”…
“ไทย–วาติกัน” สัมพันธ์ “ยุคโป๊ปใหม่”
ทางการสู่ปีที่ 57 แต่จริง ๆ 363 ปี…
จะมีอะไรใหม่ ๆ จากนี้?…น่ารอดู.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์