กรมทางหลวง (ทล.)  กำลังประกวดราคา(ประมูล) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 หรือ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน  ส่วนที่ 1 บางบัวทอง – ลาดหลุมแก้ว ระยะทาง 11.775 กม.  ค่าก่อสร้างงานโยธา 4,300 ล้านบาท   

โดยใช้เงินงบประมาณปี 2568-2570  และเงินนอกงบประมาณ (เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางหรือกองทุนมอเตอร์เวย์) ซอยประมูลเป็น  6 ตอน  วางเป้าหมายได้ผู้รับจ้างและเริ่มก่อสร้างภายในปี 2568  ใช้เวลา 36 เดือน  แล้วเสร็จปี 2571 

เพื่อรองรับการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายนี้  ซึ่งมีรูปแบบเป็นทางระดับดิน  ขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ  ใช้พื้นที่ก่อสร้างบริเวณเกาะกลางถนนวงแหวนฯตะวันตก กรมทางหลวงได้ก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 3901 และ 3902 สายทางคู่ขนานถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกตั้งแต่กม.59+988 – 86+559  รวมระยะทาง  35.57 กม.  แบ่งสัญญาก่อสร้างรวม 8 ตอน ทั้งด้านขวาทาง 4 ตอนและซ้ายทาง 4 ตอน  ขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ หรือด้านละ 3 ช่องจราจร  งบประมาณก่อสร้างรวม 7,376 ล้านบาท  ไว้แล้ว    

ล่าสุดสำนักก่อสร้างทางที่ 1  ได้ควบคุมงานโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3902 สายทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอกฯด้านตะวันตก ตอน 2 กม.73+800.000 – กม.86+559.873 ด้านขวาทาง ระยะทาง 12.759  กม. งบประมาณ 1,090 ล้านบาท  มีบริษัทธนะสินพัฒนา (1999) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง  ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยและเปิดบริการประชาชนแล้ว  ด้วยมาตรฐานทางชั้นพิเศษ (3 ช่องจราจร) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ ป้ายเตือน ไฟสัญญาณ และไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อความสะดวกปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง 

M9ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน มีระยะทางรวมประมาณ   35 กม.  วงเงินค่าก่อสร้างรวม  1.6 หมื่นล้านบาท  แบ่งเป็น 2 ช่วงจากบางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว  11.775 กม.  วงเงิน  4,300 ล้านบาท และช่วงลาดหลุมแก้ว-บางปะอิน  22 .800 กม. วงเงิน  9,800 ล้านบาท   มีแผนตั้งงบประมาณปี 2569-2571  พร้อมค่าก่อสร้างระบบด่านวงเงิน 1,050 ล้านบาท  กรมทางหลวงดำเนินการเองทั้งหมด

ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (รอบที่ 2) ได้รับพระราชทานนาม “ถนนกาญจนาภิเษก” เป็นถนนวงแหวนล้อมรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมถึงผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางตลอดทั้งสาย 181 กม. นับเป็นถนนวงแหวนและทางเลี่ยงเมืองยาวที่สุดในประเทศไทย  สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

กรมทางหลวงยกระดับขีดความสามารถของถนนวงแหวนฯด้านตะวันตกช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน  พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ เชื่อมM9 วงแหวนฯตะวันออกช่วงบางปะอิน-บางนา  และM9ด้านใต้บางพลี-บางขุนเทียน  ให้เป็นทางพิเศษควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์   แนวเส้นทางเชื่อมทางแยกต่างระดับบางปะอินสู่M9 ด้านตะวันออกบางปะอิน-บางพลี และM6บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา สิ้นสุดเส้นทางเชื่อมปลายเส้นทางM9ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง  ระยะทาง 35.85 กม. มูลค่าโครงการ 47,521.04 ล้านบาท 

สถานะโครงการM9ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567  ให้ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนรูปแบบ PPP NET Cost เอกชนรับภาระค่าใช้จ่ายลงทุน ได้รับสิทธิจัดเก็บรายได้ และต้องรับความเสี่ยงรายได้  ส่วนรัฐได้รับผลตอบแทนบางส่วนตามที่ตกลงกัน  ระยะเวลาดำเนินโครงการ 34 ปี

กรมทางหลวงจ้างที่ปรึกษาจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน(RFP) แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้ปลายปี 2568 ลงนามสัญญากับเอกชนผู้ร่วมลงทุนได้ประมาณครึ่งหลังปี 2569และเริ่มก่อสร้างทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จ เปิดบริการได้ประมาณปี 2572

เติมโครงข่ายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครให้เป็นมอเตอร์เวย์เต็มวง  เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิภาคต่างๆแบบไร้รอยรอยต่อ   เพิ่มความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น

ได้เวลา…พลิกโฉม M9 ถนนวงแหวนฯตะวันตกช่วงบริเวณเกาะกลางสู่ระบบมอเตอร์เวย์  เก็บเงินค่าผ่านทาง  เป็นทางเลือกในการเดินทาง….ส่วนทางขนาน 6 ช่องจราจรไปกลับให้บริการฟรีเหมือนเดิม

……………………………………………….
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…