ทั้งนี้… “เหี้ยม–โหด–โฉด–โกง–เกรียน” ดูจะเป็น “เรื่องที่เกิดขึ้นมาก” ในยุคนี้ ซึ่งบางคนแม้จะ “บ่นว่ามีแต่เรื่องร้าย…แต่ก็ติดหนึบข่าวร้าย” ชนิดปัดผ่านหรือเลิกสนใจไม่ได้ ซึ่งแบบนี้นักจิตวิทยาก็สนใจศึกษา ทั้งยัง “บัญญัติศัพท์” เพื่อจะอธิบาย…
บางคนมี “พฤติกรรมเสพติดข่าวร้าย”
แม้ปากจะบ่น…แต่ “เลิกติดตามไม่ได้”
กรณีแบบนี้ “มุมจิตวิทยามีคำเตือน!!”
กับกรณีที่บางคน “เสพข่าวร้ายจนเกินพอดี” นี่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล… โดยในทางจิตวิทยาอธิบาย “พฤติกรรมอินข่าวร้าย” ไว้ว่า… กรณีนี้อาจเข้าข่ายพฤติกรรมหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่ “ยอมขอบตาดำ” เพื่อ “ติดตามข่าวร้าย” ที่กำลังเป็นกระแส ชนิดที่ “ละสายตาเลิกสนใจไม่ได้”ซึ่งพฤติกรรมนี้พบบ่อยขึ้นในไทยยุคนี้ โดยเรื่องนี้ นิลุบล สุขวณิช นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อธิบายผ่านบทความใน เว็บไซต์ ISTRONG ไว้น่าสนใจว่า… อาจเข้าข่ายเกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า “Doomscrolling” ที่เป็นการผสมกันของคำ 2 คำจากศัพท์ภาษาอังกฤษ…
นั่นก็คือคำว่า “Doom” และ “Scrolling”
ทั้งนี้ ทาง นิลุบล นักจิตวิทยาการปรึกษา มทร.ล้านนา และนักเขียนของ ISTRONG ได้ขยายความเกี่ยวกับศัพท์ภาษาอังกฤษ 2 คำที่นำมารวมกันแล้วกลายเป็น “Doomscrolling” ไว้ว่า… สำหรับ “Doom” นั้นจะแปลว่า “หายนะ” หรือ “เคราะห์กรรม” ส่วนคำว่า “Scrolling” จะแปลว่า “การเลื่อน” โดยเมื่อนำศัพท์ 2 คำมารวมกัน เป็นศัพท์ใหม่นำมาใช้เรียกพฤติกรรมใช้โทรศัพท์มือถือเกินกว่า 2 ชั่วโมงเลื่อนดูข่าวร้ายในโซเชียลจนแทบไม่ยอมหลับนอน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สามารถ“บั่นทอนสุขภาพจิต”ในระยะยาวโดยเจ้าตัวอาจจะยังไม่ทันรู้ด้วยซ้ำว่า…สภาพจิตของตัวเองกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ
ถ้ารุนแรงมากขึ้น “อาจถึงขั้นจิตดิ่ง”
เพราะเสพติดข่าวร้ายเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ทางนักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เขียนบทความน่าสนใจชิ้นดังกล่าวยังได้มีการให้ข้อมูลเอาไว้อีก…กับ “วิธีบรรเทาอาการ” ถ้าหากรู้ตัวเองว่า…กำลังเข้าข่ายมีพฤติกรรมแบบ “Doomscrolling” โดยได้ให้แนวทางในเรื่องนี้เอาไว้ ดังต่อไปนี้คือ… “จัดตารางเวลาให้ตัวเอง” โดยแบ่งเวลาเป็นช่วง ๆ ว่าช่วงไหนที่จะอนุญาตให้ตัวเองอ่านข่าว และช่วงไหนเป็นเวลา ต้องพักการเสพข่าว เพื่อที่จะไม่ให้เสพข่าวตลอดทั้งคืนทั้งวัน โดยเฉพาะการเลื่อนอ่าน “new feed” ในช่วงใกล้เข้านอน เนื่องจากมีผลต่อการนอนหลับ โดยจะทำให้นอนไม่หลับ หลับยาก หรือฝันร้าย ทำให้การนอนหลับไม่มีคุณภาพ
“เลือกติดตามแค่บางแหล่งข่าว” ซึ่งในอดีตนั้นมีโอกาสเสพข่าวได้ในปริมาณที่จำกัดต่อหนึ่งวัน เนื่องจากมีแหล่งให้เสพไม่เยอะ แต่ในปัจจุบันแหล่งที่จะใช้ติดตามข่าวสารต่าง ๆ มีเพิ่มขึ้น จนคนเราสามารถรับข่าวสารได้อย่างไม่จำกัด และหากยิ่งกดติดตามเอาไว้มาก ก็จะยิ่งทำให้ new feed เต็มไปด้วยข่าวสารที่ทะลักหลั่งไหลเข้ามา ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิด Doomscrolling จึงควรเลือกติดตามเพียงบางแหล่ง และควรคัดเลือกแหล่งที่นำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่าดึงดราม่า เพื่อ…
ป้องกันสุขภาพจิตย่ำแย่โดยไม่รู้ตัว!!
แนวทางต่อมาก็ต่อเนื่องกัน คือ “งดติดตามช่องทางที่นำเสนอแต่ข่าวดราม่า” โดย “Unsubscribe” ซึ่งบางแหล่งมักนำเสนอพาดหัวดราม่าหนัก ๆ เพื่อดึงความสนใจ แต่อาจไม่ค่อยมีข้อเท็จจริงหรือประโยชน์ให้กับผู้ที่ติดตามนัก เมื่อเทียบกับแหล่งที่นำเสนอข้อเท็จจริงล้วน ๆ ซึ่งการกด Unsubscribe ช่องที่นำเสนอข่าวดราม่าหนัก ๆ ก็เพื่อป้องกัน Doomscrolling
และนอกจากนี้ก็ยังมีแนวทาง “กำหนดเวลาห่างจากหน้าจอ” ด้วยการหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อลดการใช้เวลากับหน้าจอ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมามีพลังบวกเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางนี้ก็จะ คล้าย ๆ กับการทำ “Social Detox” ให้กับตัวเอง และสุดท้ายคือ “อย่าให้ข่าวร้ายกลายเป็นแหล่งข้อมูลหลัก” โดยเมื่อคนเรา เจอกับเรื่องหดหู่ทุกวัน แล้วถ้าหากยิ่งกดดูแต่ข่าวร้าย ๆ ก็จะยิ่งเปิดประตูไปสู่ความหดหู่มากขึ้น ดังนั้น จึงควรเลือกแหล่งข้อมูลที่สร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้พัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น ดีกว่าปล่อยให้เกิดความรู้สึก ดำดิ่งไปกับข่าวหดหู่ จนกลายเป็นพฤติกรรม “Doomscrolling” นั่นเอง
ทาง นิลุบล สุขวณิช นักจิตวิทยาการปรึกษา มทร.ล้านนา และนักเขียน ISTRONG ระบุไว้ด้วยว่า… “เสพติดข่าวร้าย” นั้น บางทีก็มีปัจจัยลึก ๆ ขับเคลื่อนให้ไม่อยากเลิกติดตามข่าวเหล่านั้น แม้จะทำให้รู้สึกหดหู่แค่ไหนก็ตาม เพราะอาจกลัวตกข่าว กลัวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ซึ่ง ถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากการเสพข่าวร้าย ๆ หรือเรื่องแย่ ๆ ก็จำเป็นจะต้องฝึกให้ตัวเอง “มี Self-awareness เพิ่มขึ้น” ซึ่งจะช่วย “ลดพฤติกรรม Doomscrolling ได้” เช่นกัน …ทั้งนี้ ทั้งพฤติกรรม-ทั้งการลดหรือป้องกันพฤติกรรม “เสพข่าวร้ายเกินพอดี” ที่ส่งผลเสียต่อสภาพจิต เรื่องนี้ยุคนี้ก็ “น่าตระหนัก”…
ยุคนี้มองข้ามไม่ได้…“Doomscrolling”
ที่เรียกง่าย ๆ ก็ “เสพติดข่าวแย่ ๆ”
อาจ “จิตดิ่ง…ชีวิตย่ำแย่ไปด้วย!!”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์