ผลการศึกษาเบื้องต้นเสร็จแล้ว สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงสุพรรณบุรี – นครหลวง – ชุมทางบ้านภาชี และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น(IEE)   โดยพบว่ามีความเหมาะสม และคุ้มค่าก่อสร้าง

การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)   จะใช้งบประมาณอีก 57 ล้านบาท  ศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)  อีก 1 ปี  แล้วเสร็จในปี 2569  ตามแผนงานจะขอความเห็นชอบEIAในขั้นตอนต่างๆ ให้แล้วเสร็จในปี 2570 จากนั้นเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบปี2571 ออกกฎหมายเวนคืนและเริ่มก่อสร้าง ปี 2572  ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 2576

แนวเส้นทางโครงการที่เหมาะสมมีจุดเริ่มต้นแยกจากแนวรถไฟเดิม สายสุพรรณบุรี – หนองปลาดุก(ราชบุรี) บริเวณก่อนถึงสถานีสุพรรณบุรี ประมาณ 4.5 กิโลเมตร(กม.) จากนั้นเบี่ยงขวาออกจากทางรถไฟเดิม ก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟกับทล. 357 มุ่งหน้าทิศตะวันออกขนานทางหลวงหมายเลข(ทล.357) ข้ามแม่น้ำท่าจีน ผ่านทล. 340 ผ่านทุ่งรับน้ำบึงผักไห่ ข้ามแม่น้ำน้อย ผ่านพื้นที่บ่อทรายขนาดใหญ่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

ผ่านทล. 309 ด้านทิศใต้ ห่างตัวเมืองของอำเภอป่าโมก  6 กม. ผ่านทล. 347 และทล. 32 ข้ามแม่น้ำลพบุรี แล้วเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามแม่น้ำป่าสัก รองรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือ อำเภอนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านทล. 33 แล้วจึงเข้าบรรจบทางรถไฟเดิม ที่บริเวณชุมทางบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา  มีระยะทางตัดใหม่รวม 65.5 กม.และแนวเส้นทางเดิมช่วงต้นและปลายโครงการประมาณ 8 กม. รวมทั้งเส้นทางประมาณ 73 กม. เส้นทางช่วงตัดใหม่ 65.5 กม. จะต้องใช้พื้นที่แนวเวนคืนประมาณ 3,448 ไร่ สิ่งปลูกสร้างประมาณ 161 หลัง

ในการออกแบบแนวเส้นทางเป็นรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร มี 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีสะแกย่างหมู, สถานีสุพรรณบุรีใหม่, สถานีบ้านกุ่ม และสถานีบางปะหัน คาดว่าในปีแรกของการเปิดบริการจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 5 ล้านคนต่อปี และปริมาณสินค้าประมาณ 11 ล้านตันต่อปี

รถไฟสายนี้เป็น 1 ในโครงการรถไฟสายใหม่ระยะทางรวม  403กม.  (ทางคู่ระยะ(เฟส)ที่3) ของแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map)  ระยะเร่งด่วน (ปี 2566-2570 ***ล่าช้าจากแผนงานก่อสร้าง2ปี)  

มี 5 เส้นทางประกอบด้วย  ช่วงชุมพร-ระนอง (MR 8 – Landbridge) 91 กม., ช่วงสุพรรณบุรี-นครหลวง-ชุมทางบ้านภาชี (MR10) 68 กม., รถไฟเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ดอนสัก-สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต-กระบี่ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย ช่วงสุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น (MR9) 158 กม., ช่วงท่านุ่น-สนามบินภูเก็ต (MR 9) 18 กม. และช่วงทับปุด-กระบี่ 68 กม.

ใจความสำคัญของรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงสุพรรณบุรี – นครหลวง – ชุมทางบ้านภาชี จ. พระนครศรีอยุธยา  เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เข้ากับเส้นทางรถไฟสายสุพรรณบุรี – หนองปลาดุก(ราชบุรี)  รองรับการเดินทาง และการขนส่งระหว่างภาคใต้ ภาคตะวันตกกับภาคกลาง ภาคอีสาน  และภาคเหนือได้อย่างสะดวก เดินทางได้อย่างต่อเนื่อง  โดยไม่ต้องผ่านเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ รฟท. ยังมีแผนพัฒนาทางรถไฟสายสุพรรณบุรี-หนองปลาดุก จากปัจจุบันเป็นทางเดี่ยว ให้เป็นทางคู่ด้วย ซึ่งจะศึกษารายละเอียด และดำเนินโครงการต่อไป

รถไฟทางคู่เฟสแรกของประเทศไทย  7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. ทยอยเปิดบริการแล้วหลายเส้นทาง    แต่หลายจุดยังมีปัญหาการก่อสร้างค้างคา   ส่วนเฟส 2 ทั้ง 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,483 กม. เริ่มก่อสร้างสายแรกช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม.  เพื่อเชื่อมโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรกช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น  ส่งเสริมสนับสนุนการเชื่อมต่อเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-สระบุรี-ฉะเชิงเทรา- แหลมฉบัง-มาบตาพุด  เพื่อขนส่งสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ สปป.ลาว และภาคอีสานมายังท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด  ที่เหลือรอครม. อนุมัติโครงการ 

ย้ำปัญหาโครงการรถไฟทางคู่  ทั้งเฟส1 เฟส2 และเข้าโหมดเฟส3ที่กำลังเริ่มศึกษา  ถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยตรงทั้งรฟท.กรมการขนส่งทางราง(ขร.) ที่กำกับการขนส่งทางราง  และกระทรวงคมนาคม  เร่งรัดแก้ไขปัญหาหมักหมมโครงการเก่าๆ ให้จบ คู่ขนานกับการพัฒนาโครงการใหม่ 

ที่สำคัญต้องเร่งรัดโครงการจัดหาขบวนรถไฟโดยสารใหม่ๆ  ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก  ให้เพียงพอบริการประชาชน ด้วยความสะดวกรวดเร็วปลอดภัย   ใช้งานทางคู่เต็มศักยภาพ  สร้างรางรัวๆต้องไม่ร้างรถไฟ.

……………………………………………….
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…