สิงห์ เอสเตท ตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เดินหน้าโครงการอนุรักษ์ปลาฉลามกบ หรือ SOS (Save Our Shark) อย่างยั่งยืน ที่ศูนย์การเรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Center) ในพื้นที่โรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ จังหวัดกระบี่ เพื่อช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่ทะเลเกาะพีพี

โดยล่าสุดได้รับความไว้วางใจจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ให้เป็นเอกชนรายแรกๆ ที่ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ปลาฉลามกบอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การฟักไข่ อนุบาลลูกฉลามวัยอ่อน ไปจนถึงการปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาติในพื้นที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของศูนย์วิจัยฯ เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สายพันธุ์ของปลาฉลามกบให้มีความสมบูรณ์ และยั่งยืนต่อระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทย

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเทต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ปลาฉลามกบอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งเน้น และให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs14: Life Below Water)

“การอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากอย่างฉลามกบ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะปลาฉลามเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก ที่สำคัญในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จำนวนปลาฉลามยังมีปริมาณลดลงมากกว่า 20 เท่า” นางฐิติมา กล่าว

ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ มั่นใจในศักยภาพและความเชี่ยวชาญของสิงห์ เอสเตท ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตทางทะเล โดยดูจากประสบการณ์และโครงการต่างๆที่ได้ทำมา นอกจากนี้ บริษัทยังมีนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และบุคลากรที่มีความสามารถในการช่วยดูแลอนุบาลฉลามกบอย่างเต็มที่

สิงห์ เอสเตท มีความพร้อมอย่างยิ่งในเรื่องของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับการดำเนินงานในโครงการอนุรักษ์ปลาฉลามกบ โดยมีศูนย์เรียนรู้ทางทะเล ที่ก่อตั้งในปี 2561 ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ บนเกาะพีพี โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่สะท้อนแนวคิดการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจโรงแรมอย่างยั่งยืนผ่านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชิงรุก เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่เกาะพีพี นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา มาโดยตลอด อาทิ เช่น

• พีพีกำลังจะเปลี่ยนไป เป็นโครงการฯ ที่นำพีพีโมเดล มาใช้ในการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ และนักวิชาการ

• โตไวไว เป็นโครงการฯ ต่อเนื่องจากโครงการพีพีกำลังจะเปลี่ยนไป ด้วยการปล่อยปลาการ์ตูน และปลูก ปะการังด้วยวิธี Coral Propagation ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี

• โครงการติดตามและฟื้นฟูปะการังในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยใช้ ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน ร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลของศูนย์การเรียนรู้ทางทะเล โรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ ได้ช่วยชีวิต ”ฉลามกบ” (Bamboo shark) ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นฉลามขนาดเล็ก ที่อยู่ในภาวะใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ซึ่งปัจจุบันฉลามดังกล่าวได้รับการดูแลอย่างดีในบ่ออนุบาลสัตว์น้ำของศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลชองโรงแรม 

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม ศูนย์การเรียนรู้ทางทะเล ยังได้ช่วยเหลือ “ปลาสิงโต” (Lionfish) ที่ได้รับบาดเจ็บ  โดยที่ชาวบ้านท้องถิ่นเป็นผู้นำมาส่งให้ศูนย์ฯ ของรีสอร์ท เนื่องจากปลาสิงโตที่ดูสวยงามแต่มีพิษร้ายแรง จึงต้องอาศัยการจัดการปลาอย่างระมัดระวังโดยผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ฯ​ โดยขณะนี้ปลาสิงโตกำลังได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี รวมถึงที่ศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลยังมีบ่ออนุบาลปลาการ์ตูน (Clownfish Nursery) เพื่อเพาะขยายพันธุ์ก่อนที่จะปล่อยกลับสู่แนวปะการังในเวลาและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

อนึ่ง โรงแรม ทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ (SAii Phi Phi Island Village) เป็นหนึ่งในโรงแรมของบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ “SHR” บริษัทในเครือของสิงห์ เอสเตท ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ และอยู่ภายในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาด นพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ที่ผ่านมาโรงแรมได้ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างดี เพื่อให้เข้าใจการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ของโรงแรม ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับแขกที่เข้าพักเท่านั้น แต่เป็นศูนย์กลางการให้ความรู้สำหรับทุกคน รวมทั้งชาวบ้านและเยาวชนที่สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น

“ความมุ่งมั่นและทำงานในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างจริงจัง เพื่อให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนพร้อมๆ กับสังคมและชุมชนโดยรอบ อีกทั้งยังสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป คือหนึ่งในแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัท” นางฐิติมา กล่าว ทิ้งท้าย