ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของซาอีฟ นับเป็นการปรากฏตัวท่ามกลางสาธารณชน ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เกิดวิกฤติการเมืองในลิเบีย นำไปสู่การสังหารและการถึงแก่อสัญกรรมของ พ.อ.กัดดาฟี เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2554 ที่หลังจากนั้นซาอีฟถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรรมสงคราม แม้ได้รับการปล่อยตัว เมื่อปี 2560 แต่แทบไม่ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการมากนัก การเดินทางมาสมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเองของซาอีฟในครั้งนี้ จึงน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ไม่เพียงแต่เฉพาะภายในลิเบีย

พ.อ.กัดดาฟีผูกขาดการปกครองลิเบียยาวนาน 42 ปี ก่อนร่วงจากอำนาจด้วยการปฏิวัติครั้งใหญ่ เมื่อปี 2554 ที่นำไปสู่การถึงแก่อสัญกรรมของ พ.อ.กัดาฟีด้วย ขณะที่บุตรชาย 3 คนจาก 7 คน เสียชีวิตในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ที่ทำให้ลิเบียกลายเป็นประเทศซึ่งไร้ขื่อแป และแตกเป็นกองกำลังหลายฝ่าย จนถึงปัจจุบัน

Al Jazeera English

ทั้งนี้ ซาอีฟ ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (แอลเอสอี) ถูกจับกุมและคุมขังโดยกองกำลังฝ่ายต่อต้าน เพียงไม่นานหลังเกิดการลุกฮือ แม้ได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2560 แต่เจ้าตัวยังคงไม่เคลื่อนไหวมากนัก และเก็บตัวอย่างเงียบเชียบ โดยในระหว่างนั้นถูกพิพากษาลับหลังจากศาลในประเทศ เมื่อปี 2558 ให้รับโทษประหารชีวิต และยังคงเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ซาอีฟจึงยังคงมีความเสี่ยงถูกจับกุมอีก หากเดินทางเข้ามาในกรุงตริโปลี

แน่นอนว่า โลกภายนอก “เซอร์ไพร้ส์” กับการปรากฏตัวต่อสาธารณชนของซาอีฟ ที่ถือได้ว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้สันทัดกรณีด้านการเมืองตะวันออกกลางหลายคน ให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่าการกลับมาของซาอีฟ “ถูกเวลา” และมีโอกาสสูงด้วยที่จะได้รับชัยชนะ หรืออย่างน้อยที่สุด “ได้รับเสียงสนับสนุนในระดับมากพอตัว” ปัจจุบัน การเมืองภายในของลิเบียมีความซับซ้อนและเปราะบางมาก ไม่เพียงแตกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ยังไม่มีฝ่ายใดมีอิทธิพลโดดเด่นเหนือกลุ่มอื่น รวมถึงรัฐบาลแห่งชาติที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) รับรอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น การกลับมาลงสนามด้วยตัวเองของซาอีฟ เป็นได้ทั้งการกระตุ้นให้กลุ่มการเมืองทั้งหลายในลิเบีย “เร่งจัดระเบียบตัวเอง” และเป็น “การเดิมพัน” เพื่อพิสูจน์ให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า ประชาชนที่นิยมอำนาจเก่าของตระกูลกัดดาฟี “มีเพียงใด”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP