เงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลงมากกว่า 45% ตั้งแต่ต้นปีนี้ เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ไม่ค่อยกังวลกับเรื่องนี้มากเท่าใดนัก

ในขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เงินลีราเสื่อมค่าลงอีก แต่ผู้นำตุรกียังคงยืนกรานเดินหน้า “สงครามเศรษฐกิจเพื่อความเป็นเอกราช” ต่อไป ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และการส่งออก แต่แนวทางดังกล่าวสวนทางกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยึดถือมานาน นั่นคือ เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น วิธีการที่จะใช้ควบคุมคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดประสานกัน

ทว่าทฤษฎีดังกล่าวใช้ไม่ได้กับเออร์โดกัน ผู้นำตุรกีมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย “คือมัจจุราชที่จะยิ่งทำให้คนรวยยิ่งรวย แต่ในเวลาเดียวคน คนที่ยากจนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะยิ่งยากจนลงไปอีก” นายเซวิม ยิลดิริม พ่อค้าขายผลไม้คนหนึ่ง ในเมืองอิสตันบูล กล่าวว่า ข้าวของในท้องตลาดตอนนี้ราคาแพงมาก เป็นไปไม่ได้เลยที่จะประกอบอาหารมื้อหลักรับประทานกันในครอบครัว ด้วยราคาผักและผลไม้ซึ่งสูงขนาดนี้

Al Jazeera English

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของตุรกีโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงกว่า 21% อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางแห่งตุรกี ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมที่ค่อนข้างจะโดยตรงจากเออร์โดกัน ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้วจาก 16% ลงมาอยู่ที่ 15% และเออร์โดกันยืนกรานเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานนี้ลงอีก โดยยังคงยืนยันว่า แนวทางนี้จะช่วยกระตุ้นการผลิต เพิ่มการจ้างงาน และชะลออัตราเงินเฟ้อ ที่ยังคงสูงมากและยังคงห่างไกลจากเส้นทางที่จะลงมาสู่เป้าหมาย คือที่ระดับ 5%

ปัจจุบัน เศรษฐกิจของตุรกียังคงพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบและบริการหลายอย่างจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตสินค้าเพื่อใช้งานเองภายในประเทศ ตั้งแต่อาหารไปจนถึงเครื่องนุ่งห่ม ดังนั้น การทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ากว่าเงินลีรามากขนาดนี้ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยกตัวอย่างมะเขือเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารตุรกีแทบทุกชนิด การปลูกมะเขือเทศแม้เพียงต้นเดียว ต้องใช้ปุ๋ยและเชื้อเพลิงจำนวนไม่น้อย ขณะที่ราคามะเขือเทศในตลาดของตุรกีปรับตัวสูงขึ้นแล้ว 75% ตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ค่าเงินลีรายังคงผันผวนอย่างหนัก เฉพาะอัตราเงินเฟ้อของภาคการผลิตพุ่งขึ้นมากกว่า 50% แล้วตั้งแต่ต้นปีนี้

รายงานโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า ในบรรดาสมาชิก 38 ประเทศ ตุรกีมีอัตราการว่างงานในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวสูงเป็นอันดับ 4 ปัจจุบัน ประชากรเกือบ 9 ล้านคนของตุรกี เป็นผู้ที่เกิดหลังปี 2533 และจำนวนไม่น้อยมีท่าทีค่อนข้างชัดเจน ว่าไม่พอใจนโยบายเศรษฐกิจปัจจุบันของรัฐบาลเออร์โดกัน

อนึ่ง กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นผู้ชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองของพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (เอเคพี) ของเออร์โดกัน ในการเลือกตั้งแห่งชาติครั้งต่อไป ที่มีกำหนดจัดขึ้นในปี 2566.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES