จากรายงานของสำนักข่าวสถานีวิทยุเอเชียเสรี (อาร์เอฟเอ) 7 ชาติอาเซียนที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมทางทหาร อาร์เน็กซ์-21 (ARNEX-21) และส่งเรือรบประเทศละ 1 ลำเข้าร่วม ประกอบด้วย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เมียนมา และบรูไน ส่วนรัสเซียส่งเรือพิฆาต 1 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ เข้าร่วม โดยทั้งเรือและเฮลิคอปเตอร์ 2 แบบนี้มีระบบต่อต้านเรือดำน้ำ

อีก 3 ประเทศของกลุ่มอาเซียน ที่ไม่ได้เข้าร่วม และรายงานข่าวไม่ระบุเหตุผล ได้แก่ ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์  

แถลงการณ์ของ พล.ร.ต.จูเลียส วิดโจโยโน โฆษกกองทัพเรืออินโดนีเซีย บอกว่า การฝึกซ้อมร่วม อาร์เน็กซ์-2021 ภายใต้หัวข้อ “ปฏิบัติการร่วม เพื่อรับประกันความปลอดภัย สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเดินเรือพลเรือน” มีเป้าหมายเพื่อรักษาไว้ซึ่ง ความสัมพันธ์ฉันมิตร ระหว่างอินโดนีเซียกลุ่มชาติอาเซียน และรัสเซีย และปรับปรุงความเป็นมืออาชีพ ของทหารเรือกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมการฝึกซ้อม

METRO GLOBE NETWORK

การฝึกซ้อมครั้งนี้ เน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล และทางยุทธวิธี ระหว่างเรือผิวน้ำกับอากาศยาน

ผศ.อาร์เตียม ลูคิน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น เฟเดอรัล ในเมืองวลาดิวอสตอก ทางภาคตะวันออกของรัสเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพกองเรือแปซิฟิกรัสเซีย ให้ความเห็นว่า การฝึกซ้อมทางทหารในทะเลร่วมกับอาเซียนเป็นครั้งแรก รัสเซียต้องการแสดงให้เห็นถึง การเข้ามามีบทบาททางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออกฉียงใต้

อาร์เน็กซ์ 2021 โดยภาพรวมเป็นเพียงความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ รัสเซียส่งเรือรบเข้าร่วมแค่ลำเดียวเช่นกัน และขีดความสามารถทางทหารของรัสเซียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่อนข้างจำกัด เทียบไม่ได้กับจีน สหรัฐ หรือแม้แต่ญี่ปุ่น

ส่วน โอลกา โอลิเคอร์ ผอ.โครงการประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางของกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) มองว่า การฝึกซ้อมร่วมทางทหาร เป็นหนึ่งในวิธีที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ส่งสัญญาณมิตรภาพ รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงระบบการทำงานร่วมกัน แต่เธอเชื่อว่าการฝึกซ้อมครั้งนี้ ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านภูมิยุทธศาสตร์ แต่เป็นการสะท้อนความสนใจ และความเกี่ยวพันของรัสเซียในภูมิภาค ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรัสเซียได้ให้ความสำคัญกับอาเซียน กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักด้านต่างประเทศ มานานระยะหนึ่งแล้ว

อาเซียนและรัสเซีย ฉลองครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ในปีนี้ และระหว่างการประชุมสุดยอด รัสเซีย-อาเซียน เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า การกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน และกลุ่มประเทศสมาชิก ยังคงเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่สุดด้านต่างประเทศของรัสเซีย เหมือนที่ผ่านมายาวนาน

นักสังเกตการณ์หลายสำนักกล่าวว่า เห็นปูตินพูดแบบนี้เกือบทุกปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยตามด้วยโครงการควรามร่วมมือ ที่เป็นรูปธรรมสักครั้ง

รัสเซียเป็นผู้ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายใหญ่สุด ระหว่างปี 2543 – 2562 ด้วยมูลค่า 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลูกค้ารายใหญ่สุดคือ เวียดนามและมาเลเซีย จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) อันดับ 2 คือสหรัฐ 7,900 ล้านดอลลาร์ และอันดับ 3 จีน 2,600 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน

แอนดรูว์ โคริบโก นักวิเคราะห์การเมืองอเมริกา ในกรุงมอสโก มองว่า การฝึกซ้อมร่วม รัสเซีย-อาเซียน หรือการฝึกซ้อมอื่น ๆ ร่วมกับประเทศหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือตัวอย่างของนโยบาย การทูตโดยใช้การทหาร ที่มอสโกใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์

ผศ.ลูคิน กล่าวว่า ท่ามกลางความเป็นปฏิปักษ์ในภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก ระหว่างสองมหาอำนาจ สหรัฐและจีน ถือเป็นผลประโยชน์ของอาเซียนโดยตรง หากจะมีมหาอำนาจที่ 3 เพิ่มเข้ามา ถ่วงดุลอำนาจเพื่อสร้างเสถียรภาพ  เข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงของภูมิภาค.                        

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES