ศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้มาช้านาน เป็นการแสดงที่มีแบบแผนการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น…

โนรา หรือ มโนราห์ ศิลปะการแสดงที่มากด้วยมนต์เสน่ห์และองค์ความรู้ ยังเป็นอีกหนึ่งรายการที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอให้โนราขึ้นเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

ทั้งนี้ตามรายงานข่าวการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ที่จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จะมีการพิจารณาขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของประเทศสมาชิกที่ผ่านการพิจารณา โดยโนราของประเทศไทยจะเข้ารับการพิจารณาด้วย

หลังการประกาศผลการขึ้นทะเบียนฯ อย่างเป็นทางการ วันนี้เราจะพาสัมผัสศิลปะการแสดงที่มีเอกลักษณ์ของโนรา โดยโนราได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2552 ปัจจุบันการแสดงโนรามีทั้งเพื่อความบันเทิงและโนราประกอบพิธีกรรม นอกจากเครื่องแต่งกายและท่ารำอันเป็นเอกลักษณ์ โนรายังเป็นสื่อเผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เป็นศิลปะการแสดงของภาคใต้ที่ได้รับความนิยม

โนราเป็นการแสดงที่ผูกพันกับวิถีชีวิต ในหนังสือโนราศิลปะการร้องรำที่ผูกพันกับชีวิต และวัฒนธรรมวิถีชีวิตและภูมิปัญญาโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้ความรู้ อธิบายให้รู้จักกับนาฏยโนราเพิ่มอีกว่า การแสดงโนราเป็นที่นิยมและถือปฏิบัติแพร่หลายในชุมชนรอบๆทะเลสาบสงขลา อีกทั้งแพร่ความนิยมไปตลอดสองฟากฝั่งของคาบสมุทรอินโดจีน

ผู้คนรู้จักโนราในฐานะที่เป็น มหรสพการแสดงที่งดงาม ทรงพลังและมีชีวิตชีวา เป็นนาฏยลักษณ์ของคนใต้ โดยการแสดงประกอบด้วยการร่ายรำที่แข็งแรง กระฉับกระเฉง การขับกลอนด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ ใช้ปฏิภาณในการด้นกลอนสดและเจรจาด้วยสำเนียงท้องถิ่นใต้ มีลูกคู่และดนตรีร้องรับด้วยจังหวะที่คึกคักฉับไว

“การแสดงโนรามีรากมาจากพิธีกรรม เป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งส่งผลให้การแสดงโนราต้องมีแบบแผน จารีตยึดถือในการปฏิบัติ การแสดงโนราสัมพันธ์กับช่วงเวลา เทศกาลงานบุญและผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละชุมชนซึ่งมีความแตกต่างกันแล้วแต่พื้นที่ และยังมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในแต่ละยุคสมัย วัฒนธรรมโนราปรับเปลี่ยน สืบทอด สืบสานเป็นแหล่งความรู้สำคัญส่งต่อการสร้างสรรค์”

นอกจากนี้ การแสดงโนราถือได้ว่าเป็นรูปแบบของละครรำที่เก่าแก่ แต่ประวัติของโนรากลับไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ทั้งนี้เพราะโนราเป็นการแสดงที่ซับซ้อนฝังตัวอยู่ในวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีกลวิธีในการสืบทอดเป็นแบบมุขปาฐะ หรือการบอกเล่าปากเปล่าที่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

กำเนิดของโนราที่มีปรากฏในตำนานท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไป จากการตีความของศิลปินโนราผู้สืบทอดตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น แต่ตำนานโนรายังคงคล้ายคลึงกัน พอที่จะสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงตัวละครและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้และแม้จะมีนักคติชน นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์และนักวรรณกรรมพยายามรวบรวมสืบค้น ตีความตำนานการกำเนิดของโนราให้สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในชุมชนรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา แต่ก็ไม่สามารถสรุปประวัติศาสตร์ของโนราได้

“การสืบค้นประวัติของโนราผ่านตำนานท้องถิ่นที่มีอยู่ช่วยเชื่อมต่อตำนานโนรากับชุมชนที่หลากหลายในภาคใต้ นายโรงโนราต่างท้องถิ่นยังคงขับขานบทกลอนที่สืบทอดมา มีรายละเอียดและแบบแผนจารีตในการปฏิบัติตามที่สืบทอดมาในสายตระกูลของตนถือเป็นการสืบทอดตำนาน เป็นหลักฐานของภูมิรู้โนรา”

สำหรับองค์ประกอบหลักการแสดงโนราคือ เครื่องแต่งกาย และเครื่องดนตรี เป็นจุดเด่นที่ทำให้เป็นศิลปะการแสดงที่ต่างไปจากการแสดงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความวิจิตรบรรจงของ เทริด เครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรงหรือโนราใหญ่ เครื่องแต่งกายที่ประดับลูกปัดสี สวยงาม

“เครื่องลูกปัดที่ร้อยด้วยลูกปัดสีเป็นลายใช้สำหรับสวมลำตัวท่อนบนแทนเสื้อ ประดับด้วยปีกนกแอ่นหรือปีกเหน่ง ทับทรวงปีกหรือหางหงส์ ผ้านุ่ง สนับเพลา ผ้าห้อยหน้า ผ้าห้อยข้าง กำไลต้นแขน ปลายแขนและเล็บ ฯลฯ ถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลปะที่น่าศึกษา ที่ใช้ความอุตสาหะในการสร้างสรรค์ โดยส่วนนี้เป็นเพียงเครื่องแต่งกายของโนราใหญ่หรือโนรายืนเครื่องเท่านั้น

ส่วนเครื่องแต่งกายของ ตัวนาง หรือนางรำ แม้จะไม่มีกำไลต้นแขน ทับทรวง และปีกนกแอ่น แต่ความงามของลูกปัดก็โดดเด่นเช่นกัน”

มองในด้านเครื่องดนตรีของโนรา ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตี สำหรับให้จังหวะ ประกอบด้วยทับหนึ่งคู่ โทนหรือทับโนรา เป็นเครื่องตีสำคัญ ทำหน้าที่คุมจังหวะและเป็นตัวนำในการเปลี่ยนจังหวะทำนอง ใช้ผู้ตีเพียงคนเดียว ทั้งยังเสริมเน้นจังหวะด้วย กลองทับ ปี่ โหม่งหรือฆ้องคู่ ฉิ่งและแตร

ด้วยองค์ประกอบสำคัญของการแสดงคือการผสมผสานกันอย่างกลมกลืนระหว่างการร้องกับการรำ แต่ในบางโอกาสแสดงเป็นเรื่องและบางส่วนจัดเป็นการประกอบพิธีตามคติความเชื่อเรื่องการไหว้ครู ดังที่กล่าว การแสดงโนราแบ่งได้เป็นสองรูปแบบหลัก ที่มีความต่างกันคือ โนราประกอบพิธีกรรม หรือโนราโรงครู และโนราเพื่อความบันเทิง

โนราโรงครู เป็นพิธีที่มีความสำคัญเพื่อแสดงความเคารพนบนอบต่อครูและบรรพบุรุษ ทั้งแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม จากศรัทธาและความเชื่อที่มีร่วมกัน ฯลฯ โนราเพื่อความบันเทิง เป็นการแสดงเพื่อให้ความบันเทิงโดยตรงและมีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของคนในชุมชน มีขึ้นในงานประเพณีสำคัญ งานพิธีเฉลิมฉลองที่ชาวชุมชน วัด หรือหน่วยงานจัดขึ้นในโอกาสพิเศษ

จากที่กล่าวการแสดงโนราประกอบด้วยการรำ เป็นการรำที่แสดงถึงความชำนาญความสามารถเฉพาะตัว รำผสานท่าต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องกลมกลืน หรือการเล่นแขน ทำตัวอ่อนผนวกกับการร้อง ขับบทกลอน ปฏิภาณการต่อกลอนมีความคมคายทางภาษา หรืออาจมีการทำบท สามารถตีความหมายของบทร้องเป็นท่ารำ ให้คำร้องและท่ารำสัมพันธ์ กลมกลืนกับจังหวะและลีลาของดนตรีอย่างเหมาะเจาะ ฯลฯ

อีกทั้งโนรายังทำหน้าที่เป็นสื่อเผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสารให้ได้รับทราบกันอย่างทั่วถึง โดยส่วนหนึ่งนี้เป็นเพียงช่วงตอนที่บอกเล่าถึงคุณค่า ความสำคัญของศิลปะการแสดงโนรา

ศิลปะพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ งดงาม ผูกพันกับวิถีชีวิต.