ต้องยอมรับว่า โควิดระลอกสาม หรือใครจะตีโวหารเป็นระลอกใหม่นี่สร้างความกลัวกว่ารอบที่ระบาดครั้งแรก และรอบที่ระบาดที่สมุทรสาคร เพราะ อัตราการติดพรวดๆ วันละพันกว่าเข้าไปแล้ว ทุกคนมีโอกาสเป็นพาหะได้หมดเพราะสายพันธุ์นี้มันติดต่อได้ง่าย ชาวบ้านเขาก็ด่ากันว่า รัฐบาลช้าเหลือเกินในการกระจายวัคซีน กว่าจะได้ก็ต้องไปลงทะเบียนแอพใหม่กันอีก เหมือนไม่ทำอะไรให้มันครบวงจรในแอพเดียว

แถมข่าวเกี่ยวกับวัคซีนที่ได้มาคือ แอสตราเซเนกา ก็มีแบบร้ายๆ ออกมารายวัน อย่างล่าสุดรัฐบาลเดนมาร์กเพิ่งระงับการฉีดไปเพราะพบว่า มีปัญหาเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย วัคซีนจีนอย่าง ซิโนแวค เขาก็ครหาอยู่ว่าด้อยประสิทธิภาพ แต่ถ้ามองในมุมนึงก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจเพราะ ไม่ว่าวัคซีนรุ่นไหนมันก็ยังมีความเสี่ยงทั้งนั้น เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ เวลาพัฒนาวัคซีนไม่นาน ใครจะรู้ว่าต่อไป ไฟเซอร์ที่อยากได้กันนักหนาจะมีปัญหาอะไรรึเปล่า

ได้พูดคุยกับหลายๆ คนเขาก็บ่นๆ เบื่อการทำงานของสื่อมวลชน ที่ตอนนี้น้ำหนักเน้นไปเรื่อง สร้างบรรยากาศของความกลัวเสียมากกว่า ว่าคนติดหน้าใหม่มีเท่าไร วัคซีนมีความเสี่ยงอย่างไร แต่นั่นก็คือมุมหนึ่งของเนื้อที่ข่าวทั้งหมด ซึ่งสื่อก็ต้องพึ่งพาการหาข่าวจากแหล่งข่าว ถ้าแหล่งข่าวให้ข้อมูลได้แต่เชิงนี้มันก็จะมีข่าวเชิงนี้ออกมาค่อนข้างบ่อย ตรงนี้ก็เป็นบทพิสูจน์หนึ่งของสื่อมวลชนที่จะหาข่าวให้ประชาชนรู้สึก “อุ่นใจ ปลอดภัย” ด้วย

มันจะ “อุ่นใจ ปลอดภัย” ได้อย่างไร? เคยถามคนที่เขาวิจารณ์การทำงานของสื่อ เขาก็บอกว่า ตอนนี้สิ่งที่อยากรู้คือ การใช้สิทธิในการตรวจรักษาฟรี สามารถเข้าถึงได้อย่างไร เพราะไปตรวจตามโรงพยาบาลเอกชน ค่าสว็อบเชื้อครั้งนึงก็หลายพันบาท และย้อนกลับไปอย่างที่บอกคือ การระบาดของสายพันธุ์ใหม่นี้มันติดง่าย เพราะฉะนั้นหลายคนก็เริ่มไม่มั่นใจตัวเอง “กูติดยังวะ” อย่างเกิดไปอยู่ในคอนโดเดียวกับคนที่ติดเชื้อ ก็มีผวากันบ้างแหละ  

เขาต้องการรู้ว่า ถ้าต้องการรับบริการตรวจหาเชื้อฟรี สามารถทำได้อย่างไรบ้าง ซึ่งตรงนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ก็ให้ สิทธิผู้มีประกันสังคมตามมาตรา 33, 39, 40 ที่คิดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถไปจองคิวตรวจสวอปได้ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ตรงถนนวิภาวดีรังสิต ให้กูเกิลคำว่า “แรงงานเราสู้ด้วยกัน” แล้วไปลงทะเบียนตามลิงก์เอา ส่วนคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมก็ไม่รู้เอาไงกับเขาเหมือนกัน

สิ่งที่เขาต้องการรู้จากสื่ออีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเกิดติดโควิดขึ้นมา สามารถดำเนินการจัดการกับตัวเองอย่างไรได้บ้าง มีฟรีที่ไหน ติดต่อที่ไหน คือให้มีการอธิบายแจกแจงให้มากขึ้น พื้นที่และเวลาในการเสนอข่าวสารควรจะเน้นเพื่อลดความหวาดกลัวที่ว่า เกิดกูติดขึ้นมาแล้วทำตัวไม่ถูก บางคนเหน็บแนมว่าขนาดข่าวลุงพลยังทำกันละเอียดพูดกันเป็นชั่วโมงๆ ทีนี้ก็ทำกันบ้างสิประเภทไปติดต่อหาเตียงที่โรงพยาบาลไหน รายงานไปเลยว่าโรงพยาบาลไหนเตียงเต็ม

เรียกว่าคือการเตรียมพร้อมให้ประชาชนกระตือรือร้นมากขึ้น และอุ่นใจว่า “เรารู้วิธีจัดการตัวเองแล้วนะ” เกิดต้องเข้าโรงพยาบาลสนามที่ไหนก็ต้องมีการเตรียมตัว อยู่นานแค่ไหน สำหรับคนมีภาระที่บ้าน เช่น มีลูกเล็กต้องทำอย่างไร ข่าวโรงพยาบาลมันต้องเสนอกันถึงระดับแต่ละจังหวัดว่า ที่ไหนพร้อมรับผู้ป่วยที่ไหนเตียงเต็ม และเสนอข่าวผลกระทบไปด้วยว่า ใน โรงพยาบาลนี้มีบุคลากรติดแล้วไม่สามารถบริการในแผนกไหนได้บ้าง

ตอนนี้เรียกว่า “ใครติดก็ไม่เท่ากูติด” พื้นที่สื่อควรให้ความสำคัญกับเรื่อง ความพร้อมของโรงพยาบาล การเตรียมตัวของประชาชน และมาตรการรัฐอย่างการตรวจ การรักษาให้มากขึ้น และย้อนกลับไปอีกรอบก็คือ “รัฐนั่นแหละเป็นผู้ให้ข่าวกับประชาชน” ดังนั้นรัฐก็ต้องให้ข่าวแนวนี้เพื่อลดความวิตกกังวล ไม่งั้นก่อนจะได้ฉีดวัคซีนเดือน มิ.ย.รัฐก็โดนด่าจนอ่วมอยู่อย่างนี้แหละ แล้วก็ได้แต่ออกมาขอร้องให้อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติไปวันๆ

พอพูดถึงเรื่อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” อยู่ๆ ก็มีคนมาบอกว่า

“ถ้ามองมุมนึงมันคือการโรมานติไซซ์ ( romanticize ) ปัญหา ว่าการบริหารจัดการของรัฐไม่ดีพอ ทั้งที่ก่อนหน้านี้กองเชียร์รัฐ หรือรัฐบาลเองก็ชื่นชมตัวเองว่า สามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้จนอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก และอยู่ในลำดับที่น่าพอใจของอาเซียน อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์นี่อัตราผู้ติดเชื้อสูงกว่าเรา ( แต่สิงคโปร์ก็ฉีดวัคซีนเร็วกว่าเรา )”

Romanticize คืออะไร? มันคงจะเป็นศัพท์ฮิตต่อไปในอีกไม่นาน ความหมายก็ประมาณว่า คือ การสร้างเรื่องที่มีองค์ประกอบในเชิงเร้าอารมณ์ให้อ่อนไหวตาม หรือเกิดความฮึกเหิมตาม แต่ romanticize ในยุคสมัยนี้มันเพิ่มความหมายออกมาว่า คือ การสร้างองค์ประกอบในเชิงเร้าอารมณ์เพื่อปกปิดปัญหาที่ควรจะแก้ไขไว้ใต้เนื้อเรื่องสวยหรู อย่างการขอให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ก็เป็นเรื่องที่ปลุกเร้าอารมณ์ให้ประชาชนร่วมสู้ ร่วมอดทนไปด้วยกัน

แต่ขณะเดียวกัน มันก็ทำได้กับคนที่มีฐานะอยู่ในระดับกลางถึงบน หรือสามารถทำงานที่บ้านไปได้ แต่ คนหาเช้ากินค่ำ คนทำงานในวงการกลางคืน ผับ บาร์ ร้านอาหาร ต้นทุนทางทรัพยากรเขาต่ำมีแค่แรงงาน เขาไม่สามารถที่จะหยุดนอนอยู่บ้านเฉยๆ ได้ อย่าเพิ่งพูดถึงการใช้เงินเก็บเงินออมเลย คนจำนวนมากใน กทม.นี่ แค่เงินจะใช้จ่ายวันต่อวันก็ลำบาก บางทีก็ไม่ใช่ปากท้องเดียว พ่อ แม่ ลูก ภรรยา ครอบครัว ก็ต้องพึ่งพา

แล้วเที่ยวนี้รัฐบาลจะมีการช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร? อันนี้ก็ถือว่า ฝุ่นยังไม่หายตลบยังต้องสู้กับสถานการณ์แพร่ระบาดรายวัน แต่สายเศรษฐกิจนี่ควรจะต้องคิดได้แล้ว ในเมื่อ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ( สศค.) ให้สัมภาษณ์ถึงงบประมาณสำหรับใช้เยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิดว่า รัฐบาลยังมีงบประมาณเหลือเพียงพอสำหรับนำมาใช้เยียวยา และฟื้นฟูดูแลเศรษฐกิจ โดยมีเงินเหลือเกือบ 3.8 แสนล้านบาท

เราจะโฆษณาไปเฉยๆ ให้ช่วยกันหยุดอยู่บ้านเพื่อชาติ มันก็เป็นการบรรเทาปัญหาไปได้ส่วนหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า แล้วเช่นนั้นการบริหารจัดการของรัฐจะช่วยอย่างไร แล้ว เรื่องโรงพยาบาลสนามก็เหมือนกัน ที่ไม่มีการกั้นฉากมีความเป็นส่วนตัว ก็เห็น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า “หลายคนชอบที่จะอยู่อย่างนี้ด้วยซ้ำเพราะได้พูดคุยกัน” แต่มองอีกมุมหนึ่งคือการจัดการโรงพยาบาลสนามยังไม่ดีพอหรือไม่?

เรื่อง romanticize มันซุกปัญหาไว้ใต้พรมหลายอย่าง อย่างที่ยกตัวอย่างง่ายที่สุดคือกรณี “ตูน บอดี้แสลม” วิ่งจากใต้ขึ้นเหนือเพื่อระดมทุนบริจาคโรงพยาบาล มันสะท้อนให้เห็นว่า การจัดการงบสาธารณสุขของรัฐไม่เพียงพอ ใจบุญก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องการจัดการสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งรัฐต้องรับไปเต็มๆ ในฐานะตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปจัดสรรทรัพยากร แต่เราก็เห็นเวลาจัดงบประมาณรัฐปกป้องแต่งบซื้ออาวุธ

กรณี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการโพสต์ขอบคุณครูที่สละเงินเดือนซื้อของให้เด็กๆ ก็เป็นตัวอย่างของการ romanticize อีกเรื่องหนึ่งว่า นักเรียนจำนวนหนึ่งยังยากจน ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน แต่มี “ครูผู้เสียสละตน” ออกมาช่วยเหลือช่างน่ายกย่อง ก็เป็นเรื่องน่าอนุโมทนาสาธุด้วย แต่ก็เหมือนกรณีตูน บอดี้แสลมนั่นแหละ คือ เรายกย่องคนบริจาคเพราะเราลืมมองเรื่องการกระจายสวัสดิการของรัฐได้ไม่ทั่วถึงเพียงพอหรือไม่

เป็นเรื่องที่ฝากไว้ให้คิดวันนี้.

………………………………………….

คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”