ส่งท้ายปี (ฉลู) วัวและต้อนรับปี (ขาล) เสือที่ผ่านมาเหมือนทำนบแตก แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งแน่นขนัดไปหมด หลังผู้คนถูกจองจำจากวิกฤติโควิด-19 มานานนับปี (คิดดูเถอะแค่เราไม่ได้ไปไหนยังอึดอัดขนาดนี้ แล้วคนที่อยู่ในคุกไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน เพราะสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย จะเจ็บปวดขนาดไหน อย่าลืมพวกเขา) แม้จะหวาดหวั่นกับ “โอมิครอน” ที่รุกคืบอยู่ แต่เมื่อได้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม (กำลังรอเข็มบูสเตอร์) และมีประสบการณ์ดูแลตัวเองดีพอ การได้ไป “ชาร์จแบต” บ้าง ทำให้มีกำลังใจที่จะกลับมาสู้ชีวิตในปีเสือต่อไป แม้จะสิ้นหวังกับ รบ. 3ป. แต่ต้องทนอยู่ก็ตาม 

วกกลับมาเรื่องที่จะเขียน เป็นเรื่องค้างคาและติดค้างมานาน แต่ตั้งใจไว้ว่ายังไงก็ต้องหยิบมาเขียนถึง เป็น จม.น้อย จาก คุณจ้อ นินจา ที่บอกว่าเป็นนักร้อง นักแสดง ครูอาสาศิลปะเพื่อเยาวชนและคนสูงวัย เขียนถึง ดาวประกายพรึก สั้น ๆ บอกว่า ได้ติดตามผลงานการเขียนอันได้สาระทางสังคมมากมาย (แอบปลื้มนะ) ต้องขออนุญาตเขียนถึงความคลาดเคลื่อนทางข้อมูลเล็กน้อยในฉบับที่มีหัวข้อ แด่ชาลี อินทรวิจิตร โดยบอกว่า ชื่อจริงของ “ยาขอบ” ผู้ประพันธ์นวนิยายอมตะเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ น่าจะเป็น คุณโชติ แพร่พันธุ์  ไม่ใช่ คุณมานะ แพร่พันธุ์ (อันนี้ชัวร์ เป็นลูกชายของยาขอบ อดีตท่านเป็น บก.นสพ.บ้านเมือง คุณจ้อย้ำมาแบบนั้น)…ลงท้าย จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ย้อนที่มาของเรื่องคือ เป็นการเขียนเชิดชูและอาลัยถึงครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่  ศิลปินแห่งชาติ ชาลี อินทรวิจิตร หลังจากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยวัย 93 ปี เมื่อกลางปีที่แล้ว เนื่องจากเคยไปสัมภาษณ์ คุณอาชรินทร์ นันทนาคร (ซึ่งเรียกตัวเองว่า อา ก็เลยขอเรียกว่าคุณอาตามในฐานะแฟนเพลงตัวยง) เมื่อ 6-7 ปีก่อนที่บ้านคลองตันอันแสนร่มรื่นที่ซึ่งคุณอาอยู่กับภริยาสุดที่รัก เพชรา เชาวราษฎร์ อดีตนางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง ทำให้รู้ว่า ครูชาลีนั้น เป็นทั้งเพื่อน ทั้งพี่ กัลยาณมิตร และครูเพลงคู่บุญของนักร้องตำนานคนนี้ คุณอาชรินทร์เล่าถึงที่มาของเพลง “ผู้ชนะสิบทิศ” ที่กลายเป็นเพลงประจำตัว ไม่ว่าจะไปร้องหรือแสดงคอนเสิร์ตครั้งใดแฟนเพลงก็จะเรียกร้องให้คุณอาร้องเพลงนี้ทุกครั้ง ซึ่งคุณอาก็ร้องได้อย่างไพเราะหาใครในปฐพีเทียบยากจริง ๆ ยิ่งแต่งองค์ทรงเครื่อง เป็นพระเจ้าบุเรงนอง หรือ จะเด็ด กษัตริย์นักรบ นักรัก ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งกรุงหงสาวดีด้วยแล้ว สะกดทุกสายตาให้โลกรู้

แต่ที่เป็นเรื่องคุณอาเล่าว่า วันหนึ่ง ครูไสล ไกรเลิศ ผู้เป็นทั้งพี่ เพื่อน และกัลยาณมิตรอีกคนมาที่บ้านพร้อมครูชาลี ชวนไปหานักเขียนนามอุโฆษ ยาขอบ โชติ แพร่พันธุ์ ที่เราเขียนผิดเป็น พี่มานะ แพร่พันธุ์ อดีต บก.นสพ.บ้านเมือง ซึ่งที่จริงเป็นบุตรชายของโชติ แพร่พันธุ์ หรือ ยาขอบ และพี่มานะก็ได้เสียเมื่อปีที่แล้ว ไปเจอพี่เค้าที่บ้านเมืองก็ได้แต่ยกมือไหว้ในฐานะรุ่นลูกรุ่นน้องที่ร่วมวิชาชีพสื่อ เราผิดพลาดไปแล้วจริง ๆ ต้องกราบขออภัยพี่มานะด้วย แม้พี่จะไปอยู่กับคุณพ่อที่สวรรค์ชั้นฟ้าแล้วก็ตาม รวมทั้ง คุณจ้อ นินจา ที่ได้ท้วงติงมา ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง

อย่างที่เขียน ทั้ง 2 ชวนคุณอาไปกราบขอโทษ “ยาขอบ” ที่บ้าน เนื่องจากได้รับโนติสมาว่า ครูไสล ไกรเลิศ เอาเนื้อหาในหนังสือไปเขียนเป็นเพลงโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะตอนนั้นทั้ง 3 คนยังเงินน้อย ไม่มีเงินซื้อนวนิยายทั้งชุดมาอ่าน ต้องใช้วิธีไปแอบอ่านตามร้านหนังสือย่านหลังวังบูรพาแล้วจดไว้ วันรุ่งขึ้นไปใหม่วน ๆ ไป จนเอามาแต่งเป็นเพลงประกอบละครเวที “ผู้ชนะสิบทิศ” ได้ ตอนแรกชื่อเพลงยอดขุนพล เมื่อไปถึงยาขอบซึ่งนั่งบนเก้าอี้โยก ถามว่า คนไหนชื่อ ชรินทร์ ให้ร้องเพลงให้ฟังหน่อย คุณอาก็ร้องและสังเกตเห็นว่า ยาขอบเอามือเคาะตามเพลง และถามครูไสลด้วยว่า เคยไปแม่น้ำอิรวดีหรือ ถึงรู้ว่ามีคลื่น (ท่อนหนึ่งของเพลง ….ฟ้าลุ่มอิรวดี คืนนี้มีแต่ดาว แจ่มแสง แวววาว (ตามด้วยเสียงเอื้อน ลูกคอคุณอาสุดยอด) เด่นอะคร้าว สว่างไสว….เสียงคลื่น ร้าวฤดี คืนนี้ ข้าเปลี่ยวใจ…..) ครูไสลบอกว่า ไม่เคยไป จินตนาการเอา ทำเอายาขอบหัวเราะชอบใจ

และที่สุดของเรื่อง ยาขอบ ได้มอบหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องเยี่ยมนี้ให้ พร้อมลายเซ็นและยังเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า อนุญาตให้เอาไปแต่งเป็นเพลงได้ทุกเพลง นี่คือความยิ่งใหญ่ของนักประพันธ์ผู้ระบือนาม เปี่ยมไปด้วยความเมตตาและหัวใจกว้างใหญ่ดุจมหาสมุทร นาม ยาขอบ หรือ โชติ แพร่พันธุ์

เพลงในชุดผู้ชนะสิบทิศ มีทั้งหมด 29 เพลง มีผู้แต่งหลายคน แต่ “ผู้ชนะสิบทิศ” เป็นเพลงที่ทำให้คุณอาชรินทร์มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นตำนานนับแต่นั้นจนบัดนี้และกลายเป็นเพลงประจำตัวของคุณอาดังที่ได้บอกไป ขณะที่เป็นเพลงสร้างชื่อให้ ครูไสล ไกรเลิศ กลายเป็นนักแต่งเพลงอมตะเช่นเดียวกัน.

————————–
ดาวประกายพรึก