“วันที่ผมเห็นสายตาของยายวันนั้น ผมตัดสินใจแล้วว่า…ถ้าผมออกมา…ผมจะไม่หวนกลับไปสู่เส้นทางเก่าอีกแล้ว“ เสียงจาก “ดรีม” เด็กหนุ่มวัย 19 ปี เล่าถึงความรู้สึกนี้ให้เราฟัง ขณะที่เขากำลังสาละวนอยู่กับแผงวงจรไฟฟ้าเบื้องหน้าเขา ซึ่งเขาคนนี้เคยต้องโทษความผิดในคดียาเสพติด และเคยต้องรับโทษอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.นครพนม แต่ในวันนี้เด็กหนุ่มคนนี้ก็ถือว่าเป็น “ช่างไฟฟ้าฝีมือดี”นระดับหนึ่ง ทะมัดทะแมงคล่องแคล่วกับงานช่างที่ทำ ทั้งนี้ เด็กหนุ่มชื่อ “ดรีม” รวมถึง “เยาวชนที่เคยเดินผิดพลาด” อีกหลายคน จะไม่มีวันก้าวเดินหน้าต่อได้เลย ถ้าไม่ได้รับ “โอกาส” จากผู้ใหญ่ใจดี ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวนี้มานำเสนอ…

’เรามองพวกเขาเป็นเด็กที่บอบช้ำนะ เพราะหลายคนก้าวพลาดพลั้งไป เพราะตอนนั้นเขามองไม่เห็นโอกาส มองไม่เห็นศักยภาพในตัวเอง ซึ่งถ้าเรายิ่งซ้ำเติมความบอบช้ำลงไปอีก ถ้าเราไม่ให้โอกาสเขาแก้ไขสิ่งที่เคยผิดพลาด เขาก็จะต้องเดินซ้ำรอยบนเส้นทางที่ผิดพลาดแบบนั้นซ้ำ ๆ ต่อไปเรื่อย“ เสียงจาก ผศ.บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ในฐานะผู้รับผิดชอบ “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี แก่เยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม” ระบุกับ “ทีมวิถีชีวิต” ถึงเรื่องนี้ เพื่อย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการที่สังคมต้องมอบโอกาสให้กับ “เด็กกลุ่มบอบช้ำ” เหล่านี้

ผศ.บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์

ทั้งนี้ สำหรับโครงการฯ นี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนผ่าน ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่ดำเนินการโดย สำนักงานนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) ซึ่งในพื้นที่นครพนมนี้มีเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนจำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา, เด็ก Drop out รวมถึง เด็กในกระบวนการยุติธรรม ที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้รับโอกาสผ่านการพัฒนาทักษะฝีมืออาชีพ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเลื่อมล้ำแล้ว ยังแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ด้วย

ผศ.บุญเยี่ยม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ และเคยเป็นผู้ฝึกอบรม “ดรีม” เด็กหนุ่มวัย 19 ปี อดีตเยาวชนจากสถานพินิจฯ นครพนม เล่าให้เราฟังอีกว่า โครงการฯ นี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว โดยใช้ “แนวคิด” เน้นการ “ใช้ใจ” มาเป็นแรงกระตุ้นให้เด็ก ๆ อยากที่จะลงมือทำ จนออกมาเป็น “หลักสูตรเฉพาะทาง” ที่มีรูปแบบการสอนแตกต่างจากระบบการศึกษาปกติ เนื่องจาก “เด็กในสถานพินิจฯ” นั้น จะอ่อนทฤษฎี แต่ชอบลงมือทำจริงมากกว่า ดังนั้น หลักสูตรการฝึกทักษะพัฒนาอาชีพให้กับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ จึงต้อง “เน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี” 

สำหรับ “หลักสูตรเฉพาะทาง” ที่ออกแบบมาเฉพาะนี้ ทาง ผศ.บุญเยี่ยม ให้ข้อมูลว่า จะจัดอบรมทั้งหมด 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 “การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า-ระบบไฟฟ้าในที่พักอาศัย” หลักสูตรที่ 2 “การติดตั้งไฟฟ้าในอาคาร”ลักสูตรที่ 3 “การซ่อมจักรยานยนต์” หลักสูตรที่ 4 “การเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ” และหลักสูตรที่ 5 “การสร้างสื่อดิจิทัล” โดยจะแบ่งหลักสูตรการเรียนเป็น 2 ประเภท คือ ระยะสั้น 30 ชั่วโมง กับระยะยาว 120 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อผ่านหลักสูตร เด็ก ๆ จะได้รับใบประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ที่สามารถนำไปใช้สมัครงานเพื่อเข้าทำงานได้

ดรีม ผู้จุดประกายฝันให้เด็กบอบช้ำ

’แก่นใหญ่ของหลักสูตรนี้ก็คือ จะลดทฤษฎี แต่ไปเน้นปฏิบัติ เพราะเด็ก ๆ กลุ่มนี้เขาสมาธิไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีสมาธิ เราจึงปรับหลักสูตรให้เน้นที่การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง ๆ และเน้นการฝึกปฏิบัติมากกว่า ซึ่งก่อนที่จะเกิดเป็นหลักสูตรเฉพาะทางรูปแบบนี้ได้ เราก็ต้องลองผิดลองถูกเช่นกัน โดยจุดเด่นของหลักสูตรนี้ก็คือ จะมีการปรับปรุงหลักสูตรตลอด เพื่อให้เหมาะสมกับโจทย์การเรียนรู้เฉพาะกลุ่ม และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยวิทยากรที่เชิญมาสอนนั้น ก็ไม่ได้สอนเด็ก ๆ อย่างเดียว แต่ยังมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการเรียนการสอนในระบบปกติ“ ผศ.บุญเยี่ยม ระบุถึง “จุดเด่น” ของหลักสูตรฯ ที่ออกแบบขึ้นมา ที่ต้องถือเป็น “โมเดลการศึกษา” ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการ ออกแบบให้เหมาะกับผู้เรียน” หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรที่ “เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”

ย้อนกลับมาที่ “ดรีม” เด็กหนุ่มวัย 19 ปีคนเดิม ที่ปัจจุบันนี้เขาได้พ้นโทษออกจากสถานพินิจฯ นครพนม และขณะนี้เขาก็กำลังศึกษาต่อในสาขาวิชาช่างไฟฟ้าในวิทยาลัยอาชีวะแห่งหนึ่งอีกด้วย แต่ดรีมก็ยังหมั่นกลับมาฝึกฝนฝีมือกับเหล่าคุณครูของเขาอยู่เสมอ ซึ่งเจ้าตัวเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟังว่า โครงการฯ นี้ทำให้เขาสามารถซ่อมและต่อแผงวงจรไฟฟ้าภายในบ้านได้ ทำให้เขามีพื้นฐานติดตัว จนการเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติอีกครั้งหลังจากพ้นโทษนั้นไม่เกิดปัญหาติดขัดหรืออุปสรรคในการศึกษาต่อแต่อย่างใด โดยเขาย้ำว่า ถ้าหากไม่ได้เข้าเรียนรู้ทักษะฝีมือภายใต้โครงการฯ นี้ เมื่อต้องกลับไปเรียนต่อในระบบ เขาก็อาจจะมีปัญหามากมาย เนื่องจากอาจจะเรียนรู้ได้ไม่ทันเพื่อน ๆ คนอื่น ทั้งนี้ ดรีมบอกเราอีกว่า ปัจจุบันเขาได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแล้ว ในสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 และตั้งใจเอาไว้ว่า เขาจะไปเรียนต่อเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชาชีพด้านการซ่อมแอร์ และการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า แบบจริงจัง

’วันแรกที่เดินออกจากสถานพินิจฯ กลับไปในหมู่บ้าน ผมต้องเจอกับสายตาหวาดระแวงของคนในชุมชน แต่ผมก็ไม่สนใจ เพราะครอบครัวของผมเชื่อมั่นว่าผมจะไม่เดินกลับไปเส้นทางเก่าในอดีตอีกแล้ว ซึ่งก่อนที่จะเข้าสถานพินิจฯ ผมเคยฝันว่า โตขึ้นมาผมอยากเป็นตำรวจ อยากเป็นข้าราชการ แต่ผมทำไม่ได้ เพราะไปติดเพื่อน จนเพื่อนพาไปสู่เส้นทางยาเสพติด และเมื่อผมถลำลึกลงไป จากแค่คนเสพก็กลายเป็นคนขาย จนในที่สุดก็ถูกจับ และต้องรับโทษ แต่ผมก็ไม่ได้โทษใครนะ เพราะผมผิดเองที่คิดไม่ได้ แต่จะให้กลับไปเดินทางเก่า ผมไม่ไปแล้ว เพราะผมสงสารครอบครัว“ เป็นความรู้สึกที่พรั่งพรู     ของดรีม ที่บอกเล่าเรื่องราวของเขาในวันที่ก้าวพลาด ก่อนจะ   มุ่งมั่นตั้งต้นชีวิตใหม่

ดรีม บอกเล่าอีกว่า ตอนอยู่ในสถานพินิจฯ ที่เลือกเรียนช่างไฟฟ้า เพราะส่วนตัวชอบเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และมีพื้นฐานในการต่อปลั๊กไฟเปลี่ยนหลอดไฟมาบ้าง พอได้เข้าร่วมหลักสูตรฯ ของ ผศ.บุญเยี่ยม ก็ยิ่งทำให้เขาเกิดความมั่นใจว่า ถ้าหากเป็นตำรวจหรือข้าราชการไม่ได้แล้ว อาชีพที่เขาจะเลือกทำก็คืออาชีพช่างไฟฟ้านี่แหละ ’ผมอยากจะเรียนต่อ เพราะอยากจะทำอาชีพนี้ให้ถึงที่สุด อีกอย่าง ผมมองว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะบางทีถ้าหากเราได้สร้างบ้านของตัวเองก็จะได้ไม่ต้องจ้างใคร หรืออาจจะนำวิชาชีพนี้ไปช่วยคนอื่น ๆ ก็ได้“ ดรีมบอกความตั้งใจด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

และยังได้เล่าย้อนไปถึงวันที่เขาเดินออกมาจากสถานพินิจฯ ให้ฟังอีกว่า หลังจากพ้นรั้วเหล็กออกมาได้ เขาก็สังเกตเห็นว่าตัวเองเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากเดิมที่เป็นเด็กเกเร ไม่ยอมไปโรงเรียน จนคุณตาต้องไล่เขาให้ไปเรียนแทบทุกวัน ก็กลายเป็นเด็กที่อยากไปโรงเรียน แถมยังขวนขวายหาที่เรียนให้กับตัวเองอีกด้วย ที่สำคัญหลังหลุดพ้นจากสถานพินิจฯ กลับมาอยู่บ้าน สิ่งที่คนรอบข้างชมเชยเขาก็คือ เขาช่วยงานที่บ้านทุกอย่าง แถมยังออกไปรับจ้างทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่รับซ่อมไฟ ขับรถเกี่ยวข้าว เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เพียงแต่สิ่งที่เขาเปลี่ยนแปลงไปนี้ คนภายนอกครอบครัวไม่ได้สังเกต จึงทำให้ในช่วงแรก ๆ ที่เขาพ้นโทษออกมาใหม่ ๆ สายตาของคนในชุมชนที่พุ่งตรงมาที่เขา จึงเป็นมุมมองที่ยังมองว่าเขาเป็นดรีมคนเก่าที่เคยเกเร เขาจึงอยากฝากเรื่องราวของตัวเองไปถึง “เพื่อนที่เคยผิดพลาด” และเคยผ่าน “เส้นทางชีวิต” แบบเขา ว่า…

’ตอนที่พ้นโทษใหม่ ๆ แม้คนในชุมชนจะมองด้วยสายตาที่รู้สึกไม่ดี แต่ผมก็พยายามทำตัวเฉย ๆ จนเมื่อผมได้มีโอกาสไปช่วยซ่อมไฟฟ้าในหมู่บ้านให้กับชาวบ้าน ความรู้สึกแย่ ๆ สายตาที่เคยมองผมแบบหวาดระแวง ก็ค่อย ๆ หายไป เพราะผมทำให้เขาเห็นว่า…ผมไม่ใช่ผมคนเก่าแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากจะฝากถึงเพื่อน ๆ วัยเดียวกันที่เคยก้าวพลาด และคิดจะกลับตัวเป็นคนใหม่ ก็คือ อย่าเพิ่งไปแคร์สายตาของคนที่เขามองเรา แต่ขอให้อดทน และพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า เราไม่ใช่คนเก่าแล้ว จะดีกว่า“ เป็นคำแนะนำที่กลั่นจาก “ประสบการณ์ของดรีม”

’ดรีมเป็นเด็กหัวดี เรียนรู้ไว จนสามารถให้คำแนะนำเพื่อน ๆ ได้ จนเพื่อนมองเขาเป็นฮีโร่ ทำให้ดรีมยิ่งภูมิใจในตัวเอง ซึ่งดรีมอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ แต่ผมเห็นเขาพยายามฝึกฝนฝึกซ้อมตัวเองอยู่ตลอด จนผมมั่นใจว่าดรีมจะเป็นช่างไฟฟ้าที่ดีได้แน่ ๆ… แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ ผมไม่ได้แค่ภูมิใจที่ดรีมจะได้เป็นช่างไฟฟ้า แต่ดีใจที่ดรีมจะเป็นตัวแทนความฝันให้กับเด็ก ๆ ที่เคยก้าวพลาดและอยากจะกลับมาเริ่มต้นใหม่มากกว่า“ ทาง ผศ.บุญเยี่ยม พูดถึง “ดรีม” ที่สามารถนำ “โอกาสที่ได้รับ” มา “สร้างเส้นทางชีวิตใหม่” ให้ตัวเอง จนทำให้เรื่องราวของ “ดรีม” คนนี้…

“จุดประกายฝัน” ให้อีกหลาย ๆ คนได้.

‘Mobile School’ โรงเรียนนี้มีครูอยู่ทุกที่

นอกจากโครงการพัฒนาทักษะอาชีพแล้ว อีกโครงการที่ก็น่าสนใจ นั่นก็คือ ’Mobile School“ หรือ ’โรงเรียนมือถือ“ ที่ดำเนินการโดย ศูนย์การเรียน ซี วาย เอฟ เพื่อช่วยให้ “เด็กที่ออกจากสถานพินิจฯ” สามารถศึกษาความรู้ต่อได้โดยไม่ขาดช่วง ด้วยการ “ออกแบบการเรียนการสอนใหม่” รวมถึง “ให้เรียนตามความสนใจ” ผ่าน ’โรงเรียนโทรศัพท์มือถือ“ ได้ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ “นครพนมโมเดล” ที่มีเป้าหมายในการทำให้ “เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา” ของ จ.นครพนม ลดจำนวนลงด้วยหลักการที่สำคัญคือ… ’โรงเรียน ครู เคลื่อนที่ไปหาผู้เรียนได้ทุกที่“.