ตั้งแต่เปิดปีใหม่มาก็มีเรื่องไม่ได้หยุดได้หย่อน ในทางการเมืองคนก็สนใจความแตกร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลคือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับ ประชาธิปัตย์ ที่ออกมาฟาดงวงฟาดงากันเรื่องการไม่รักษามารยาททางการเมืองในการส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส. โดยอ้างว่าพรรคร่วมรัฐบาลต้องถอยให้ “เจ้าของพื้นที่เดิม” แต่ พปชร.อยากแข่งเพราะอยากวัดกระแสคะแนนนิยมในภาคใต้เพื่อเตรียมเจาะยางครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งใหญ่

แล้วก็มีเรื่องวิกฤติซ้ำซ้อนคือการระบาดของ เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่ยังโชคดีที่เที่ยวนี้ไทยมีบทเรียนพอจะคุมไม่ให้รุนแรงได้เท่าเดลตา อีกทั้งตัวเชื้อเองยังอ่อนกว่าทำให้อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับแค่หลักสิบต้นๆ ต้องภาวนาให้คุมได้ดีกว่านี้ ต่อมาวิกฤติที่ซ้ำเติมหนักคือ ข้าวของแพง โดยเฉพาะ หมูแพง ซึ่งว่ากันว่าเกิดจากการระบาดของ อหิวาต์หมูแอฟริกา ก็ต้องดูการทำงานของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่ไม่อยากให้เรื่องใหญ่มากลบกระแสจนเรื่องมันเงียบไปเนียนๆ ที่ตั้งแต่ปีใหม่มาก็เปิดมา 4 เรื่องแล้ว ที่น่าจะสร้างความไม่พอใจต่อสังคม และจะต้องเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบขายผ้าเอาหน้ารอดอย่างเรื่องบ้านป่าแหว่งที่เชียงใหม่ ที่ว่าจะรื้อๆ ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่ารื้อจริงหรือไม่แต่เห็นมีคนแฉอยู่ว่าก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้นกับบ้านพวกนั้น เรื่องแรกที่จะต้องสนใจการเปลี่ยนแปลงคือ “การลดหย่อนโทษ”

อันนี้เกิดก่อนเพื่อนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ที่มีการลดหย่อนโทษให้ “นักโทษชั้นดี” เนื่องในโอกาสวันที่ 5 ธ.ค. ปรากฏว่าคนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจเป็นคนแรกๆ คือ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เพราะเห็นรายชื่อนักโทษที่ได้รับการลดหย่อนโทษมีนักโทษทางการเมืองในคดีจำนำข้าวอยู่ด้วย แบบว่าเพิ่งจะติดตะรางได้ไม่นาน แป๊บๆ ก็จะออกมาแล้ว ไหนบอกว่าต้องติดคนนึงร่วม 50 ปี แล้วแบบนี้คำพิพากษาจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร

หลายคนก็ออกมาแสดอารมณ์ร่วมกับนายสมชายว่า ตกลงไอ้ที่ว่าจะให้เป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” หรือ “รัฐบาลนี้จะมาปราบโกง” ก็โกหกเอาทั้งเพใช่หรือไม่ แบบว่าแอ๊บทำเป็นลงโทษขึงขัง แล้วก็หาเรื่องออกพระราชกฤษฎีกาลดโทษให้เรื่อยๆ ทำประวัติเป็นนักโทษชั้นดี คิดกันไปถึงว่าแล้วต่อไปถ้าเกิด นักการเมืองคนอื่นติดตะรางขึ้นมาอีกก็ใช้วิธีนี้แหละช่วยกันไปเรื่อย เพราะนักการเมืองก็เครือข่ายคนกันเองคุยกันได้ทั้งนั้น บางคนพอติดตะรางก็ป่วย เข้าไปนอน รพ.ราชทัณฑ์หรือขอทำเรื่องส่งตัวไป รพ.ตำรวจ ขณะที่ “นักโทษทางความคิด” เกี่ยวกับคดีการเมืองนี่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุดด้วยซ้ำว่าผิดก็ได้ประกันยากเย็นเหลือเกิน แถมพวกนี้เป็นเยาวชนก็หลายคน

กระสุนตกไปที่ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ว่า มีความพยายามช่วยเหลือพวกพ้องนักการเมืองด้วยกันหรือไม่” แม้ว่านายสมศักดิ์จะออกมาปฏิเสธ แต่ทฤษฎีสมคบคิดมันมีมากมาย ขนาดคิดกันไปถึงขั้นว่า ที่ติดตะรางแล้วได้ลดหย่อนโทษมันคดีจำนำข้าว น่าจะมี “ดีล” อะไรหรือเปล่าระหว่างรัฐบาลเก่ากับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยิ่งข่าวลือยิ่งสะพัดว่า 3 ป. “ป๊อก –ป้อม-ประยุทธ์” ไม่ค่อยจะลงรอยกันดีนัก ..ในฐานะ ป.ป้อม ผู้นำพรรค พปชร. แอบไปดีลอะไรกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่เพื่อหวังผลจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งหน้า เขี่ย ป.ประยุทธ์ออกไป

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ต้องแอ๊คชั่นโดยการสั่งการในที่ประชุม ครม.ปลายปี 64 ว่า เรื่องกระบวนการจัดชั้นนักโทษ อยู่ในอำนาจกรมราชทัณฑ์ จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังเลยแม้แต่คนเดียว โดยยังมีเวลาประมาณ 4 เดือน ในการทำบัญชีรายชื่อ และประวัติของผู้ต้องขังที่จะได้รับการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือลดโทษ ดังนั้นเพื่อความสบายใจ หลังจากมีผู้ร้องเรียน และการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร จึงตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา 1 คณะ ทำหน้าที่ตรวจสอบในกระบวนการ และการจัดชั้นนักโทษ รวมถึงให้ทำหน้าที่เสนอแนะว่าควรจะกำหนดหลักเกณฑ์อะไร อย่างไร ในการขอพระราชทานอภัยโทษในคราวต่อๆ ไป ให้เวลาทำงาน 1 เดือน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า นายกฯ ได้ให้ข้อสังเกตด้วยว่า ต่อไปการขอพระราชทานอภัยโทษ รัฐบาลคงจะไม่ขอพระราชทานบ่อยครั้ง ก็จะเป็นการลดโทษลงไปเรื่อยๆ ซึ่งการลดโทษแต่ละครั้งคือ 1 ใน 3 ถ้าลดไปเรื่อยๆ จะทำให้เหลือโทษไม่เท่าไร ส่วนความผิดฐานใดที่จะอยู่ในเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษนั้น คณะกรรมการชุดนี้จะไปทบทวนกันอีกครั้ง โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเชิญนายเข็มชัย ชุติวงศ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และอดีตอัยการสูงสุด (อสส.) มาเป็นประธานคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการฯไปพิจารณาว่า ไม่ควรลดหรือขอพระราชทานอภัยโทษในคดีทุจริตด้วยหรือไม่

ดังนั้น สิ่งที่ต้องรอดูคือ การจัดทำบัญชีนักโทษที่ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ว่ายังคงเดิมตามที่เคยเป็นข่าวมาก่อนหรือไม่ และคณะกรรมการฯ จะเสนอให้ไม่ควรลดหรือขอพระราชทานอภัยโทษในคดีทุจริตหรือไม่ แต่ก็..น่าจะเท่านั้นแหละ เพราะนี่เป็นคณะกรรมการจัดทำความเห็น ไม่ได้มีอำนาจ สุดท้ายก็แล้วแต่รัฐบาลจะเอาอย่างไรเรื่องนักโทษทุจริต (มีคนกระซิบว่าที่คุกเต็มเร็วต้องลดแลกแจกแถมลดโทษเนี่ยเพราะคดียาเสพติดเยอะ รัฐบาลลองพิจารณาดูเอาอย่างไร)

ประเด็นที่ 2 ที่จะต้องจับตาในปีนี้ คือ “การดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาผิด ป.อาญา ม.112” (โปรดอ่านอีกครั้ง ไม่ใช่การแก้ไขแต่เป็นการดำเนินการ) ที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็มีการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนหลายส่วน ให้แก้ไข ป.อาญา ม.112 หรือให้ ยกเลิก เพราะมองว่า “กลายเป็นกฎหมายทางการเมืองที่เอามาใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม” ชนิดที่เขากลัวกันว่าจะใช้กฎหมายแบบ งี่เง่าๆ อย่างเช่น เกลียดใครก็ไปแจ้งความว่าคนนั้นหมิ่นสถาบันฯ เอาก็ได้ การตีความก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจเจ้าพนักงาน และมีโอกาสลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการสื่อสาร

ก็มีฝ่ายเห็นด้วยว่า ป.อาญา ม.112 เป็นสิ่งที่ยังต้องมี เพราะมันคือกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐที่ไม่อยู่ในฐานะจะฟ้องเองเมื่อถูกพาดพิงให้เสื่อมเสียแก่พระเกียรติ และในฐานะเป็นสถาบันหลักของรัฐชาติ การคุ้มครองจึงยังควรเป็นโทษทางอาญา ..อย่างไรก็ตาม การที่ใช้กฎหมาย “ในเชิงการเมือง” มากเกินไปมีแต่จะทำให้ สถาบันเกิดความมัวหมอง ถูกนำไปโจมตีทำให้เมื่อต้นปี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าเสนอคือคนที่มีทักษะความรู้ ปัญญาชนสาธารณะ ต้องมาพูดเรื่องการปฏิรูปไม่ให้สถาบันตกเป็นเครื่องมือหรือข้ออ้างทางการเมือง จะสื่อสารไปยังกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยได้ง่ายกว่าการแสดงออกด้วยการชุมนุม มีการสื่อสารในรูปแบบที่ “น่ารักสดใส” มากขึ้น

อย่าเหยียดวัฒนธรรมกัน "อรรถวิชช์" ซัด "พีตา" ปม แบนกะทิไทย - เก่งนิวส์ :  Kengnews : เก่งนิวส์ : Kengnews

ขณะที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ที่มีข้อเสนอเรื่อง การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ก่อนจะฟ้องคดี ม.112 ว่าพฤติการณ์ไหนเข้าข่ายความผิดถึงฟ้องเอาผิด ลักษณะไหนไม่เข้าเค้าถึงปล่อย โดยมี ผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ศาลฎีกา อัยการ ตำรวจเป็นองค์ประกอบ ซึ่งนายอรรถวิชช์ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กตัวเองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นเห็นชอบแล้ว และส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดำเนินการต่อไป ตอนนี้คณะกรรมการดังกล่าวยังไม่มีการรวมตัวเพื่อพิจารณาอะไรเป็นกรณีตัวอย่าง

ก็ต้องดูว่า ถ้าเกิดคดีใหม่ “คณะกรรมการกลั่นกรอง” จะทำงานอย่างไร ให้สาธารณชนเห็นแค่ไหน และมีตัวแทนในการต่อสู้คดีของฝ่ายถูกกล่าวหาได้กี่คน ที่สำคัญคือ ถ้าเห็นว่ากฎหมายนี้ยังคงความจำเป็นที่ต้องมี ก็อย่าทำให้เป็นกฎหมายที่สร้างความกลัว การตีความพฤติการณ์ที่เข้าข่ายต้องออกมาแบบชัดเจนไม่ใช่ครอบจักรวาล เมื่อคดีความเกี่ยวกับ ม.112 ลดลงก็อาจลดแรงเสียดทานที่มีต่อสังคม และไม่ทำให้สถาบันมัวหมอง

ประเดิมด้วยสองเรื่องแรกก่อน ที่ต้องอย่าให้เป็นสัญญาปากเปล่าเอาจริงไม่รู้ทำแค่ไหน.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”