หลังจาก “เสี่ยตู่” ผู้มีประสบการณ์ในวงการหมูมากว่า 20 ปี ในแถบพื้นที่จ.ราชบุรี-นครปฐม ตั้งแต่การทำฟาร์มเลี้ยงหมู-โรงฆ่าสัตว์-หน้าร้าน-แปรรูป ออกมาให้ข้อมูลกับทีมข่าว “1/4 Special Report” เกี่ยวกับปัญหาราคาหมูโคตรแพง! ว่าอาจเกี่ยวข้องกับ “5 พี่เบิ้ม” วงการหมู มีการกักตุนหมูไว้ใน “ห้องเย็น” ประมาณ 3-4 แสนตัน โดยมีการลากราคาหมูขึ้นไปสูงในช่วงต้นปี 64 แล้วลากลงมาต่ำช่วงกลางปี และมาลากราคาขึ้นไปสูงช่วงปลายปี 64 ต่อเนื่องต้นปี 65

แต่เมื่อมีประเด็นข่าวเรื่อง “ห้องเย็น” แพร่กระจายออกไป ทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งไม่ติด! ต้องสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด เจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัด และตำรวจ ออกตรวจสอบโกดังเก็บสินค้า รวมทั้งห้องเย็น จนพบว่าทั่วประเทศมีการเก็บเนื้อหมูไว้ในห้องเย็นอย่างน่าสงสัย ประมาณ 13.41 ล้าน กก.  นอกจากนี้ยังตรวจพบหมูแช่แข็งลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ในพื้นที่จ.มุกดาหาร อีก 24 ตัน

อุบไต๋ “หมู” ในห้องเย็น-ไม่เชื่อมั่นให้รัฐบาล “นำเข้า”

ล่าสุด! “เสี่ยตู่” เปิดเผยกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ว่าหลังจากเดลินิวส์เสนอเรื่อง “ห้องเย็น” ออกไปทำให้วงการหมูปั่นป่วนมาก เนื่องจากใน “สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ” มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรแต่ละภาค และบรรดา “สัตวแพทย์” มีการประชุมหารือกันทุกวัน เรียกว่าทุกคนล้วนมีผลประโยชน์ในวงการหมูกันทั้งนั้น

ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ “อุบไต๋” สต๊อกหมูในห้องเย็น โดยไม่ยอมบอกว่ามีกันเท่าไหร่แน่? สัตวแพทย์ก็มีผลประโยชน์เกี่ยวกับยาหมูและวัคซีน ใครเสนอให้ “นำเข้าหมู”จากต่างประเทศ จึงต้องออกมาคัดค้าน เนื่องจากการเลี้ยงหมูในบางประเทศสามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงได้ แต่บางประเทศใช้ไม่ได้ รวมทั้งประเทศไทยที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง

ดังนั้นเมื่อประเทศไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง พวกเขา (สัตวแพทย์)ขายยา ขายสารเร่งเนื้อแดงกันไม่ได้ แต่รัฐบาลอาจ
จะนำเนื้อหมูในประเทศที่ไม่มีข้อห้ามตรงนี้เข้ามา เขาจึงไม่ยอมกันหรอก!

ประการสำคัญคือหลายคนในสมาคมฯ ไม่มีความเชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะควบคุมปริมาณการนำเข้าได้ ไม่ว่าจะคุยกันบนโต๊ะ หรือใต้โต๊ะก็ตาม เพราะถ้ารัฐบาลไม่สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณการนำเข้าหมูได้ วงการหมูของประเทศจะพังไปมากกว่านี้ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สมาชิกในสมาคมฯ ต้องออกมาคัดค้านการนำเข้าหมู

หมูในห้องเย็นหมดเมื่อไหร่ยุ่งนะ!

แต่หลังจากมีการเปิดประเด็น “ห้องเย็น” ทำให้ราคาหมูเป็น ๆ หน้าฟาร์มที่ขึ้นไปแพงสุดวันที่ 17 ม.ค.65 (วันพระที่ 3 ของเดือนม.ค.) ราคา 114 บาท/กก. ค่อย ๆ ตกลงมา 6 บาท/กก. และช่วงวันที่ 25-26 ม.ค. ราคาหมูเป็น ๆ ตกลงมาอีก 6 บาท จนเหลือกก.ละ 102 บาท พูดง่าย ๆ ว่าเมื่อมีกระแสห้องเย็น ส่งผลให้ราคาหมูเป็น ๆ ตกลงไป 12 บาท/กก. ทั้งที่ยังไม่ถึงสองช่วงวันพระ จึงประหยัดเงินชาวบ้านที่บริโภคเนื้อหมูลงไปได้กก.ละ 24 บาท (ราคาหมูเป็น ๆ x 2 = ราคาเนื้อหมูชำแหละ)

ถามว่าทำไมราคาหมูจึงลง? เพราะบรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ในสมาคมฯ เริ่มมีความกังวลและกลัว จึงรีบเทขายเนื้อหมูออกมา ถ้าเนื้อหมูชำแหละลงมาอยู่กก.ละ 190-200 บาท เขาก็ยังมีกำไรมากพอสมควร แต่ว่าตอนนี้ต้องเทขายก่อน เพราะไม่รู้ว่าแต่ละรายมีสต๊กห้องเย็นกันเท่าไหร่ ข้อมูลแบบนี้บอกกันไม่ได้

“ถามว่าใครจะมีหมูสต๊อกในห้องเย็นเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ กก. ถ้าไม่ใช่รายใหญ่ แล้วสต๊อกกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอนที่หมูเป็น ๆ ราคากี่บาท? แต่เมื่อรัฐบาลสั่งตรวจสอบทุกจังหวัด จึงต้องเร่งเทขายออกมา ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าหมูสต๊อกในห้องเย็นทั่วประเทศมีปริมาณเท่าไหร่แน่ สามารถบริโภคไปได้นานอีกกี่เดือน แต่ถ้าหมูในสต๊อกห้องเย็นหมดเมื่อไหร่ ผมว่าจะยุ่งนะ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลย ยังไม่หาวัคซีน หรืออาจจะนำเข้าวัคซีนจากเวียดนามก็ได้ ยังไม่นำเข้าหมู ดังนั้นถ้าหมูในห้องเย็นหมดเมื่อไหร่ คราวนี้ราคาหมูจะสะท้อนจากสภาพความเป็นจริง เรื่องการขาดแคลนหมูในประเทศ และคนไทยจะต้องกินหมูในราคาที่แพงกว่านี้มาก”

ถามรัฐบาลทำ 3 ข้อหรือยัง?

“เสี่ยตู่” กล่าวต่อไปว่ารัฐบาลทำ 3 ข้อนี้หรือยัง? 1. เร่งวิจัยพัฒนาวัคซีน หรือนำเข้าวัคซีนจากเวียดนาม-จีน 2.นำเข้าเนื้อหมู 3.ส่งเสริมช่วยเหลือเกษตรกร คือถ้าไม่ทำ 3 ข้อนี้ ถ้าหมูในห้องเย็นหมดเมื่อไหร่จะยุ่งนะ! ราคาเนื้อหมูจะแพงมาก เพราะหมูขาดแคลนจริง ๆ

วันนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจปัญหาให้ลึกซึ้ง ว่าเกษตรกรมีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ลงทุนเลี้ยงหมูเองทุกขั้นตอน กับเกษตรกรที่รับจ้างเลี้ยงหมูให้นายทุนใหญ่ หรือที่เราเรียกกันว่า “เกษตรพันธสัญญา”

พวกเกษตรพันธสัญญาอาจจะเจ็บตัวน้อยหน่อย เพราะลูกหมู-วัคซีน-ยาและอาหาร เป็นของนายทุน ซึ่งอาจจะสัญญากันไว้เลี้ยงหมูไปจนจับได้ ประกันราคาไว้ที่กก.ละกี่บาท หรือจ้างเลี้ยงกันเป็นตัว ๆ คือเลี้ยงไปจนจับได้ โดยให้ราคาตัวละ 500-1,000 บาท เป็นต้น

แต่ที่น่าห่วงคือกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการรายกลาง ๆ ที่ลงทุนเลี้ยงหมูเองทุกขั้นตอน ปัจจุบันล้มหายตายจากกันไปมาก เพราะสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) หมูทยอยตายยกคอกและเชื้อโรคยังวนเวียนอยู่ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในการกำจัดเชื้อโรค ในขณะที่การเลี้ยงหมูมีต้นทุนหลักอยู่ 3 ส่วน คือ ลูกหมู-อาหาร-ยาและวัคซีน

ลูกหมูแพง! “อาหาร-ยา-วัคซีน” ทุนใหญ่กินรวบ!

ช่วงปี 63 ราคาลูกหมูเฉลี่ยตัวละ 1,800-1,900 บาท แต่ตอนนี้ลูกหมูตัวละ 3,200-3,400 บาท ถามว่าเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายกลาง ๆ ใครจะเลี้ยงไหว?  ในขณะที่ทุนใหญ่ มีฟาร์มใหญ่ กินกำไร 2 เด้ง คือกำไรจากลูกหมู และกำไรจากหมูขุนให้โต ไหนจะเรื่องอาหารหมู ยาและวัคซีน คือสั่งเข้ามาใช้เอง แถมขายด้วย พูดง่าย ๆ ว่า “กินรวบ” หมด!

ประเภทที่ว่ากว่าจะเลี้ยงหมูให้โต 120-130 กก./ตัว (4-4 เดือนครึ่ง) ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ 11 เข็ม ค่าวัคซีนเฉลี่ยตัวละประมาณ 200 บาท ต้นทุนเรื่องวัคซีนของเกษตรกรรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ จึงต่างกัน ต้นทุนเรื่องอาหารก็ต่างกัน โดยรายเล็กอาจจะสั่งข้าวโพดอาหารสัตว์ครั้งละ 1 คันรถสิบล้อ แต่รายใหญ่สั่งครั้งละ 20 คันรถสิบล้อ ดังนั้นต้นทุนของหมูเป็น ๆ ระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับนายทุนใหญ่จะต่างกันไม่ต่ำกว่า กก.ละ 10 บาท ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาดูแลสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ สามารถกลับมาเลี้ยงหมูให้ได้โดยเร็ว เพื่อไว้ถ่วงดุลกับนายทุนใหญ่

“อาชีพเลี้ยงหมูเอาแน่นอนไม่ได้หรอก บางทีขาดทุนกันจนน้ำตาร่วง เพราะหมูตาย หมูราคาตกต่ำ แต่บางครั้งขายหมูเป็น ๆ ได้กำไรกก.ละ 10-20 บาทก็มี ผมเคยกู้เงินมาเลี้ยงหมูครั้งหลังสุด 20 ล้านบาท เลี้ยงแบบเตาะแตะ ๆ 10 ปี ส่งดอกเบี้ยและเงินต้นไปได้แค่ 10 ล้านบาท แต่พอถึงช่วงเวลาหมูแพง ๆ หนี้ที่เหลืออีก 10 ล้านบาท กลับใช้เวลาเพียงแค่ปีครึ่งสามารถใช้หนี้หมดเกลี้ยง แถมยังเหลือกำไรด้วย แต่ปัจจุบันต้องหยุดเลี้ยง เพราะลูกหมูแพงและหายาก รวมทั้งวัคซีนยังไม่มี จากที่เคยชำแหละหมูวันละเกือบ 300 ตัว ปัจจุบันเหลือแค่วันละ 30-40 ตัว สภาพแบบนี้ไม่มีใครอยู่ได้ เขียงหมูในตลาดสดก็อยู่ไม่ได้ เพื่อนฝูงที่ทำลูกชิ้นหมูขายบอกว่าอยู่ไม่ไหว ต้องเอาเนื้อไก่มาปนด้วย ยิ่งถ้าหมูในสต๊อกห้องเย็นหมดเมื่อไหร่ โดยที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ1-2-3 ในข้างต้นที่กล่าวมา คราวนี้ล่ะตัวใครตัวมัน” เสี่ยตู่กล่าวปิดท้าย.