สถานการณ์ “หมูแพง” ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต่างจับจ้อง โดยเฉพาะประชาชนผู้บริโภค ซึ่งนอกจากจะต้องติดตามดู “มาตรการบรรเทาผลกระทบ” แล้ว ก็ยังต้องเฝ้ามองแบบห้ามกะพริบตา…ว่าจะมี “โม่งปริศนา” ที่ถูกเผยตัวออกมาหรือไม่?-อย่างไร? หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เกิดกระแสอื้ออึงว่า… “มีตัวการทำให้หมูราคาแพง??” อย่างไรก็ดี กับเรื่องเกี่ยวกับ “หมู นี่ก็มี “มุมนวัตกรรม-ไอเดียล้ำ ๆ ที่ก็ “น่าสนใจ” น่าติดตามเช่นกัน อย่างกรณี “เนื้อหมูเพาะเลี้ยง โดย “นักวิจัยไทย” ที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้า พัฒนาผลงานดังกล่าวนี้ขึ้นมา และก็เป็น “นวัตกรรมด้านอาหาร ที่น่าพินิจ…

นวัตกรรมด้านอาหารนับวันจะมีออกมาเรื่อย ๆ…

การ “เพาะเลี้ยงผลิตเนื้อหมูจากห้องแล็บ” นี้…

นี่จะเป็น “วัตถุดิบอาหารในอนาคต” ได้หรือไม่??

ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับกรณี “เนื้อหมูเพาะเลี้ยง” นี้ ได้รับการเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ www.chula.ac.th โดยเป็นผลงานการพัฒนาของ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้วิจัยเกี่ยวกับการ “ผลิตเนื้อหมูจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” โดยที่ยังคงรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการเอาไว้ได้ “ใกล้เคียงเนื้อหมูปกติ” เพื่อ “ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต” และก็ “ตอบโจทย์ด้านความต้องการบริโภค“ ที่ในอนาคตนั้นความต้องการบริโภคเนื้อหมูมีแนวโน้มที่จะสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ!!!… จากการที่ประชากรในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น…

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ “เนื้อหมูจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” นั้น ทางทีมผู้วิจัย โดย ผศ.นสพ.ดร.เจนภพ สว่างเมฆ ศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการให้ข้อมูลไว้ว่า… เนื้อหมูจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือ “Cultured Meat” นี้ จะเป็น “ทางเลือกในการบริโภคเนื้อสัตว์” ให้กับผู้คนในอนาคต ในฐานะที่เป็น “นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต” เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเลี้ยงหมูในฟาร์ม อีกทั้งยังไม่ต้องใช้ทรัพยากรที่สูงมากเหมือนกับการเลี้ยงสัตว์หรือการทำปศุสัตว์ในแบบเดิม ๆ

ที่สำคัญยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแบบเป็นรูปธรรม

รวมถึงตอบโจทย์ในด้านความปลอดภัยทางอาหาร

ทาง ผศ.นสพ.ดร.เจนภพ ตัวแทนทีมผู้วิจัย ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้อีกว่า… ขณะนี้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงนั้นกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัยเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงาน โดยอยู่ภายใต้การพัฒนาของทาง ไบโอ อิงค์ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้การบ่มเพาะของ CU Innovation Hub ซึ่งคาดว่า…เนื้อหมูเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้นจะสามารถจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคได้ภายในอีก 2-3 ปีนับจากนี้ โดยในอนาคตก็คาดการณ์ว่า…เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะเข้ามาเป็น “อาหารทางเลือก” ที่อาจจะเข้ามา “ทดแทนเนื้อสัตว์ธรรมชาติ” ในอนาคตได้ และที่สำคัญประเทศไทยนั้นก็มีศักยภาพในการผลิต ที่สามารถผลิตเพื่อส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้ …ทางตัวแทนทีมวิจัยให้ข้อมูลไว้

ทั้งนี้ “คำจำกัดความ” ของ “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง” นั้น เรื่องนี้ตัวแทนทีมวิจัยได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… หมายถึง เนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อด้วย “เทคโนโลยีสเต็มเซลล์” ซึ่งในทุก ๆ เนื้อเยื่อจะมีสเต็มเซลล์ซ่อนอยู่ ทีมวิจัยจึงใช้วิธีการที่พัฒนาขึ้นทำการแยกเซลล์ออกมา แล้วนำมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองเพื่อเพิ่มจำนวน ซึ่งใน 1 เซลล์ตั้งต้นจะสามารถผลิตเนื้อได้เป็นจำนวนมาก …นี่เป็นคำจำกัดความ-คำอธิบาย จากทีมผู้วิจัย “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง”

ขณะนี้เนื้อสัตว์ต้นแบบจะเป็นเนื้อสุกรในรูปแบบเนื้อแดงและเนื้อสามชั้น ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ส่วนอนาคตวางแผนที่จะเพาะเนื้อเยื่อสัตว์ประเภทอื่น ๆ ต่อไป เช่น วัว ปลา กุ้ง ที่สำคัญ เนื้อสัตว์รูปแบบนี้ เครื่องมือและระบบผลิตเป็นระดับเดียวกับที่ใช้ผลิตยารักษาโรค ดังนั้นจึงมีความสะอาดและปลอดภัยสูง …ทีมผู้วิจัยระบุไว้

พร้อมกับเน้นย้ำไว้ว่า… ท่ามกลาง “สถานการณ์โลก” ตอนนี้ ที่มีทั้ง “โรคระบาดในคน-โรคระบาดในสัตว์” จึงทำให้ผู้คนเริ่มเล็งเห็น “ความสำคัญ” ของ “ความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงอาจจะเป็นหนึ่งในคำตอบเรื่องนี้ของโลกยุคอนาคต เนื่องจาก กระบวนการทำเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงนั้นจะใช้พื้นที่ระบบปิด ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดสถานกาณ์โรคระบาดในสัตว์หรือในคน ก็จะไม่กระทบต่อกระบวนการผลิต เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงดังกล่าวนี้

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จากการเพาะเนื้อเยื่อรูปแบบนี้ยังมีส่วนช่วย ลดมลพิษในโลก อีกด้วย โดยกระบวนการผลิตอาหารในรูปแบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์นั้นจะส่งผลให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งกระทบต่อภาวะโลกร้อนค่อนข้างมาก ทำให้หลายประเทศจึงมีความพยายามที่จะลดมลพิษจากการเลี้ยงสัตว์ในระยะยาว ซึ่งสำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ในอนาคตก็คงหนีไม่พ้นแนวทางการผลิตอาหารทางเลือกอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะ อาหารที่ผลิตจากพืช (Plant-based meat) หรือ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Cultured meat) …ผศ.นสพ.ดร.เจนภพ ระบุไว้ถึงความเป็นไปได้ที่ว่า…

รูปแบบ “การผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ” …

นี่น่าจะ “ทดแทนเนื้อสัตว์ธรรมชาติ” ในอนาคต…

ในฐานะ “อาหารที่สอดรับเทรนด์โลกอนาคต

แต่…“ตอนนี้ก็ทนราคาแพง ๆ กันไปก่อน!!.