รู้กันหรือไม่ว่า? ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็น “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” (World Wetlands Day) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวันที่มีการลงนามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ที่ตั้งตามชื่อสถานที่จัดประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญา ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) คือ ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือน้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเลและที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร

บทบาทของพื้นที่ชุ่มน้ำ

พื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม ช่วยค้ำจุนธรรมชาติและมนุษยชาติ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้บริการที่หลากหลาย ประกอบด้วย

1. เป็นแหล่งเก็บกักและผลิตน้ำสะอาด

  • พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งผลิตน้ำจืดส่วนใหญ่ของโลก
  • พื้นที่ชุ่มน้ำช่วยกรองมลพิษตามธรรมชาติ และให้น้ำสะอาดที่ดื่มได้อย่างปลอดภัย

2. เป็นแหล่งผลิตอาหาร

  • เกษตรกรรมเป็นภาคการผลิตอาหารที่กำลังเติบโตสูงสุด รวมถึงประมงน้ำจืดซึ่งสามารถผลิตปลาได้ถึง 12 ล้านตัน ในปี 2561
  • ในแต่ละปี นาข้าวสามารถเลี้ยงประชากรโลกได้ถึง 3,500 ล้านคน

3. หนุนเศรษฐกิจโลก

  • พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีมูลค่ามากที่สุด ให้การบริการเป็นมูลค่าถึง 1,400 ล้านล้านบาทต่อปี
  • ประชากรกว่า 1,000 ล้านคนพึ่งพิงพื้นที่ชุ่มน้ำในการหารายได้

4. เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย

  • ร้อยละ 40 ของสายพันธุ์ของโลกอาศัยอยู่และขยายพันธุ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำในแต่ละปี ปลาสายพันธุ์ใหม่ราว 200 ชนิด ถูกค้นพบในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นน้ำจืด
  • แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์ต่างๆ ถึงร้อยละ 25

5. ให้ความปลอดภัย

  • พื้นที่ชุ่มน้ำทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมและพายุฝน ซึ่งพื้นที่แต่ละไร่สามารถดูดซับน้ำท่วมได้ถึง 2.5 ล้านลิตร
  • พื้นที่ชุ่มน้ำช่วยควบคุมสภาพภูมิอากาศ โดยป่าพรุสามารถเก็บกักคาร์บอนได้เป็นสองเท่าของป่าไม้โลก หนองน้ำเค็ม ป่าโกงกาง และแหล่งหญ้าทะเลก็ช่วยยึดเกาะคาร์บอนได้ปริมาณมหาศาล

แนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับมนุษย์และธรรมชาติ ได้แก่

  • หยุดทำลายและเริ่มฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • ไม่สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำหรือสูบน้ำใต้ดินมากเกินขอบเขต
  • จัดการกับมลภาวะและทำความสะอาดแหล่งน้ำจืด
  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด
  • บูรณาการน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ในแผนพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ป้องกันและยับยั้งการสูญเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก รวมทั้งกำหนดแผนการจัดการระดับชาติในการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด ทุกประเทศที่เข้าร่วมอนุสัญญา จะต้องคัดเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติหรือระหว่างประเทศ (Ramsar Sites) อย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อบรรจุใน “ทะเบียนรายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ”

ประเทศไทย เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 โดยได้เสนอ “พรุควนขี้เสี้ยน” ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย และลำดับที่ 948 ของโลก

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) ดังนี้

  1. พรุควนขี้เสี้ยน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง
  2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ
  3. ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม
  4. ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่
  5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จ.เชียงราย
  6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส
  7. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง จ.ตรัง
  8. อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ จ.ระนอง
  9. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี
  10. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา
  11. อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
  12. พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จ.บึงกาฬ
  13. เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช
  14. เกาะระ เกาะพระทอง จ.พังงา

ขอบคุณภาพประกอบ : Pixabay