สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ต้น ปี 2564 มีการนำเรื่องปัญหาของ กิจการหินและสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งตั้งอยู่ บริเวณเขาวังปลา หมู่ 11 ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี  เนื้อที่ 208 ไร่เศษ นำเข้าไปพูดถึงภายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งดูแลรับผิดชอบกองทัพ ต้องลุกขึ้นชี้แจงต่อเรื่องปัญหาดังกล่าวว่า การทำงานของกองทัพเรือต้องดำเนินการในหลายขั้นตอนเพื่อพิจารณาแต่ละประเด็นให้ได้ประโยชน์สูงสุด พร้อมยืนยันทุกอย่างได้ดำเนินการตามสัญญาที่ระบุไว้

หลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่เรื่องยังไม่จบ ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ ซึ่งก็พยายามติดตามข้อมูลเรื่องดังกล่าวว่าบทสรุปปัญหาจะลงเอยอย่างไร?

ทำให้ได้เบาะแสว่า เรื่องกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ยังมีผู้นำไปร้องต่อที่ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ในชุดที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน โดยร้องขอให้ตรวจสอบ “อดีตบิ๊กทหารเรือ” เพราะสงสัยอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนหรือไม่ รวมถึงปัญหาการทำสัญญากับบริษัทเอกชนที่ได้สัมปทาน จึงต้องมีการตั้งคณะอนุฯ กมธ.ป.ป.ช. ขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้พร้อมเรียกบรรดาผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายผู้ถูกร้อง,  กองทัพเรือ รวมถึง บริษัทเอกชน ที่ได้รับสัมปทานเข้ามาสอบถามให้ข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ใช้เวลาเรียกทุกฝ่ายเข้ามาให้ข้อมูลอยู่นานหลายเดือนจนได้ ข้อสรุปเบื้องต้น 5 ข้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดีเพื่อความรอบคอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่าย ทางอนุฯ กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนฯ ยังเรียกหน่วยงานซึ่งถือเป็นคนกลาง เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบข้อมูลการทำกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น กรมอุสาหกรรม, กรมป่าไม้, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ (ป.ป.ช.) โดยมีการตรวจสอบอย่างเงียบๆ เกือบตลอดทั้งปี 2564 เนื่องจากการทำสัมปทานกองทัพเรือ โยงใยในหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ทำเหมืองหิน ซึ่งเป็นของกรมป่าไม้ หรือ การทำเหมือง ต้องตรวจด้วยว่าเป็นไปตามขั้นตอนของกรมอุตสาหกรรม นอกจากนี้เกี่ยวกับ เงินเรื่องรายได้ ที่มาจากการทำเหมืองฯ ที่ทางสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือดำเนินการก็ให้ทาง สตง.ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงิน แต่มีข้อมูลรายงานการเงินมาให้แค่ช่วงปี 2557-ก.ย.2564 มีรายได้ 224,964,614.14 บาท  ขณะที่ ป.ป.ช.ก็ให้มาดูข้อมูลมีการทุจริตเอื้อประโยชน์ตามที่ถูกร้องจริงหรือไม่

กระทั่งช่วงปลายเดือน ม.ค.2565ที่ผ่านมา ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ ที่เข้าไปตามเกาะติดข้อมูลมาตั้งแต่ ปี 2564 ได้รับรายงานในเบื้องต้นว่า ขณะนี้ทาง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แจ้งผลการสอบการดำเนินกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ พร้อมรายงานการตรวจสอบอีกจำนวนหนึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่สำนักตรวจสอบการเงินและบริหารพัสดุ ที่ 2 ได้สรุปผลการตรวจสอบปรากฏว่า มีข้อบกพร่องเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ จึงขอแจ้งให้ผู้บัญชาการทหารเรือ ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องและควบคุมหรือกำกับมิให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นมาอีก และเพื่อเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ขอให้เร่งดำเนินการตามหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบนี้ โดยแจ้งผลการดำเนินการไปให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ทราบทุก 60 วัน จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และให้พิจารณาดำเนินการตามหนังสือแจ้งนี้โดยเคร่งครัด

นอกจากการแจ้งผลการตรวจสอบแล้ว ทาง สตง.ยังได้มี  “ข้อเสนอแนะ” เพื่อให้การดำเนินงานของกองทัพเรือ เป็นไปตามกฎหมายและแบบแผนการปฏิบัติราชการต่อไป ซึ่งทาง ทีมข่าวเฉพาะส่วนกลางเดลินิวส์ จะได้ติดตามว่า ทาง สตง. มีข้อเสนอแนะในเรื่องการทำกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ มีอะไรบ้างมานำเสนอในตอนต่อไป.

ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์