เดิมที่นี่เป็นสนามกอล์ฟร้าง แต่ได้รับการจัดสรรที่ดินเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ผู้ที่มีหนี้สิน และคนที่ไร้ที่ดินทำกินในพื้นที่ จำนวน 238 ครัวเรือน โดยมีภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จนทำให้วันนี้ไม่เหลือเค้าเดิมของผืนดินร้างในอดีตอีกแล้ว” เสียงของตัวแทนชาวบ้าน ชุมชนเพชรนํ้าหนึ่ง ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี บอกเล่า “ความเป็นมาของพื้นที่” นี้ ที่อดีตเคยเป็นสนามกอล์ฟร้างก่อนที่ชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน จะจับมือร่วมกันช่วย “พลิกฟื้นชีวิต” จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็น “อู่ข้าว-อู่นํ้า” ให้ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงเป็นอีกหนึ่ง “ตู้กับข้าวสำหรับคนไทย” ในฐานะ “แหล่งผลิตพืชผลที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง” ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวมานำเสนอ…

“ชุมชนเพชรนํ้าหนึ่ง จ.เพชรบุรี” แห่งนี้ในวันนี้ มีที่มาจากการดำเนินงานของ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าชุมชนตามแนวพระราชดำริฯ ของชุมชนสหกรณ์การเกษตรแบบรวมกลุ่ม ซึ่งที่นี่นับเป็นอีกหนึ่งในโครงการที่ทาง มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าไปช่วยดูแลแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านในด้านต่าง ๆ โดยสภาพพื้นที่เดิมของที่นี่นั้น ตัวแทนชาวบ้านในชุมชนได้ฉายภาพให้ฟังว่า ด้วยสภาพพื้นที่ค่อนข้างลาดเอียง และเป็นดินลูกรัง จึงทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาเกี่ยวกับนํ้า เพราะขาดแหล่งกักเก็บนํ้า

ปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกร ที่ประสบปัญหาขาดแคลนนํ้าจนทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกผลิตพืชผลได้มากนัก จึงตกอยู่ในวังวนหนี้สินมาตลอด จนปี 2557 ทางผู้นำชุมชน คือ สพรรณ์ นาคสิงห์ ได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือไปที่ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อในขณะนั้น) เพื่อขอรับการสนับสนุน “โครงสร้างสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์” เพื่อที่จะลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ทางหน่วยงานดังกล่าวจึงส่งเรื่องไปยัง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรนํ้าและการเกษตร โดยได้มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจและวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว จนปลายปี 2560 ก็ได้รับความร่วมมือจาก กองทัพบก ผ่านทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เข้ามาพัฒนาแหล่งสำรองนํ้าในพื้นที่ จนปัญหาบรรเทาลงไป

ทั้งนี้ “ชุมชนเพชรนํ้าหนึ่ง” แห่งนี้ ทาง มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ก็ได้เข้าร่วมสนับสนุนด้วย ซึ่งในปี 2561 ทาง ไอ.ซี.ซี. ก็ได้ร่วมพัฒนา “โครงสร้างบริหารจัดการนํ้าและระบบกระจายนํ้า” รวมถึงจัดสร้างและส่งมอบ “อาคารบรรจุเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร” ให้ชุมชน โดยมีมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรนํ้า เป็นพี่เลี้ยง

“ปัจจุบันชุมชนของเรามีแหล่งนํ้าที่สามารถเชื่อมโยงการบริหารจัดการได้รวม 9 สระ ทำให้มีการสำรองนํ้าเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร โดยระบบสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะส่งนํ้าผ่านท่อไปยังหอถังสูง 7.5 เมตร เพื่อกระจายนํ้าให้เกษตรกร โดยการเพาะปลูกจะใช้หลักการปลูกพืชแบบใช้นํ้าน้อยซึ่งเป็นแปลง ทฤษฎีใหม่ ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และแก้ปัญหาขาดนํ้าต้นทุนไปได้ในคราวเดียวกัน ทำให้ปัจจุบันชุมชนมีนํ้าเพียงพอสำหรับอุปโภค และทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี” ตัวแทนชาวบ้านที่นี่พูดถึง “ชีวิตใหม่” ที่ชุมชนแห่งนี้ได้รับ

ครูซอ-ดำรัสสิริ ถิรังกูร

นอกจากภาครัฐและเอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือในด้าน “ที่ดิน-แหล่งนํ้า” แล้ว กับด้าน “การผลิต-การตลาด” ก็เป็นอีกโจทย์ใหญ่ของเกษตรกรที่นี่ จึงเกิด “โมเดลสำคัญ” อย่าง “ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี” ขึ้นมา เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชนนี้ ตั้งแต่การ ทำเกษตรตามแนวพระราชดำริ การบริหารจัดการกลุ่มของชุมชน รวมถึงการทำการตลาด เพื่อนำผลผลิตที่เพาะปลูกได้จากชุมชนกระจายออกสู่สังคมไทย โดยมีเป้าหมายคือ เพื่อให้ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้ทาง ครูซอ-ดำรัสสิริ ถิรังกูร ในฐานะประธานบริหารของไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นโมเดลของธุรกิจเพื่อสังคมให้กับพื้นที่อื่น ๆ ด้วย บอกว่า วันนี้ที่นี่แทบไม่เหลือภาพเดิมในอดีต เพราะปัจจุบันพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าสมัยแรก ๆ เยอะ ซึ่งในอดีตที่นี่ไม่มีนํ้า ไม่มีไฟฟ้าใช้ และไม่มีต้นไม้ใหญ่แม้แต่ต้นเดียว จะมีก็แต่ป่าละเมาะ

“พื้นที่ 3,500 กว่าไร่ของชุมชนเป็นพื้นที่ที่กว้างมาก ดังนั้นเมื่อจะเริ่มทำเกษตรตามแนวพระราชดำริ เราก็เริ่มจากการไปสำรวจดูว่า เกษตรกรแต่ละแปลงทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ และแต่ละครอบครัว โดยต้องคิดไปถึงเรื่องของตลาดที่ทำให้ทุกคนมีรายได้ด้วย ตลอดจนต้องคิดถึงเรื่องการแบ่งสันปันส่วนว่าจะเป็นรายได้ได้อย่างไร ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการชุมชนร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกัน” ครูซอ บอกถึง “ภาพเริ่มต้น” ที่ค่อย ๆ ก่อร่างขึ้น พร้อมกับเล่าว่า หลังได้ข้อมูลแล้ว ก็มากำหนดพื้นที่เพาะปลูกว่า พื้นที่ไหนจะเป็นป่า พื้นที่ใดจะปลูกผัก ผลไม้ ข้าว ซึ่งช่วงแรก ๆ ชุมชนมีรายได้ในระยะสั้นจากการปลูกผัก ต่อมาทาง “โกลเด้น เพลส” และ “ร้านมูลนิธิชัยพัฒนา” ได้อนุญาตให้ผักของ “ชุมชนเพชรนํ้าหนึ่ง” สามารถส่งไปขายได้ โดยชุมชนได้ส่งพืชผลไปจำหน่ายในโกลเด้น เพลส ทั้งหมด 16 สาขา

พื้นที่ก่อนและหลังพลิกฟื้น

“เรามีผัก 22 รายการ บางชนิดก็มาก บางชนิดก็น้อย ขึ้นกับความสามารถในการปลูกแต่ละแปลงของแต่ละบ้าน จะเรียกว่าพวกเราโชคดีมาก ๆ ที่ได้รับทั้งโอกาส อีกทั้งยังมีตลาดที่เข้าใจชุมชนมาก ๆ ซึ่งจำนวนของพืชที่ออกมาจึงสอดคล้องตามศักยภาพที่ชาวบ้านทำได้ และก็โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจาก ไอ.ซี.ซี. ที่จัดสร้างอาคารบรรจุเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เพิ่มศักยภาพด้านการตลาดให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น” ประธานไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรีกล่าวเรื่องนี้ ก่อนจะยํ้าว่า “สิ่งที่สำคัญมากในการทำงานกับชุมชนก็คือ การจัดสรรเวลา เพราะถ้าแบ่งเวลากับคนไม่ได้ ก็จะไม่เกิดการสร้างผลผลิต จึงจำเป็นจะต้องมีการวางแผนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง” นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่อง “บรรจุภัณฑ์” ซึ่ง “สินค้าการเกษตร” ที่ชุมชนส่งไปจำหน่ายที่ร้านโกลเด้น เพลสนั้น ใช้กาบกล้วยรองด้วยใบตอง จนกลายเป็น ซิกเนเจอร์ของชุมชน ที่ลูกค้าชอบมาก ๆ อีกทั้งกาบกล้วยยังมีข้อดีในเรื่องของการช่วยยืดอายุสินค้าด้วย ทำให้ผักไม่แห้งเวลาที่อยู่บนเชลฟ์ขาย ส่วนของเสียที่เกิดขึ้นจากการตัดแต่งนั้น ก็ไม่ทิ้งไปเปล่า ๆ แต่จะมีการนำไปชั่งและนำมาทำปุ๋ย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเป็น zero waste

คีย์แมนผู้สนับสนุน กับผลผลิตชุมชนเพชรนํ้าหนึ่ง

“ทุกขั้นตอนเราจะใช้การทำความเข้าใจกับทุก ๆ คนที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงาน และด้วยความที่เราอยู่กันแบบมวลชน การจัดการสังคมแบบ ธรรมาภิบาล จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้ไม่มีใครเกี่ยงงอนกัน แต่จะทำให้ทุกคนอยากจะเข้าไปช่วยกันเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น” เป็น “ดอกผล” ของ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ที่ทาง ครูซอ-ดำรัสสิริ ได้เล่าให้เราฟัง

ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งของการนำเสนอเรื่องราว ครูซอ-ดำรัสสิริ ได้ถ่ายทอด “หมุดหมายของชุมชน” ว่า “ชุมชนเพชรนํ้าหนึ่ง” ถือว่ามีความสำเร็จในระยะต้น ซึ่งเป็นระยะแรกที่มีรายได้ในระยะสั้น ส่วนการขยับเป็นระยะกลาง ระยะยาว และดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืน จะอีกนานแค่ไหน ก็อาจต้องใช้เวลาอีกยาวไกล แต่วันนี้ชาวบ้านทุกคนต่างก็มีกำลังใจมาก ๆ ที่จะพัฒนาตนเองให้สามารถดำเนินชีวิตและดำรงชีวิตของตนเองให้อยู่ได้แบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่เป็น “หลักนำทาง-หลักนำใจ”

เป็นมงคลนำสู่…“วิถีชีวิตที่มั่นคง”.

‘ความยินดี’ ของ ‘ผู้ที่ได้มีโอกาส’

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และคุณบุญเกียรติ โชควัฒนา

“ที่ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยที่นี่นั้นเกิดจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้เอ่ยถึงโครงการฯ นี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ทำขึ้นตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อดูแลเกษตรกรให้สามารถพยุงตัวและมีรายได้ที่เหมาะสม” …เป็นส่วนหนึ่งจากการเผยไว้โดย บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ใน เครือสหพัฒน์ ที่ได้มาร่วมเยี่ยมชมความสำเร็จของ “ชุมชนเพชรนํ้าหนึ่ง จ.เพชรบุรี” ซึ่งก็ยังได้เล่าย้อนถึงการมีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชนนี้ว่า ได้มอบหมายให้ สมพล ชัยสิริโรจน์ ช่วยประสานงาน โดยในปี 2561 ได้สนับสนุนทุน 2,000,000 บาท ปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างเชื่อมโยงระบบนํ้าและกระจายนํ้าในพื้นที่ ต่อมาปี 2562 ได้สนับสนุนทุน 700,000 บาท สร้างอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิตเพื่อจัดเก็บและตกแต่งผลผลิตส่งไปขายโกลเด้นเพลส ในชื่อแบรนด์ “ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี” และปี 2564 ก็สนับสนุนทุน 440,000 บาท สร้างหอเก็บนํ้าต่างระดับเพื่อกระจายนํ้าให้พื้นที่เพาะปลูกกว่า 500 ไร่ ให้เกษตรกรกว่า 230 ครอบครัวมีนํ้าเพียงพอ เพื่อพลิกฟื้นให้ผืนดินที่เคยแห้งแล้งกลายเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ จนสร้างอาชีพสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้ “ผมมีความรู้สึกยินดีมาก ๆ ที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนนี้ และหวังว่าจะได้มีโอกาสสนับสนุนโครงการนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งก็อยากขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้ได้มีโอกาสทำประโยชน์แบบนี้”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน