กลุ่มชุมชนพื้นที่สองข้างทางรถไฟ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ 89 คน ใน 45 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย และรับจ้างทั่วไปทำให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตตกต่ำ โดยเฉพาะเด็กในชุมชนต้องหยุดการเรียนการสอนเนื่องจากขาดรายได้ในครัวเรือน หันไปพึ่งพาติดยาเสพติด มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ที่สำคัญขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ เกิดเป็นแม่วัยรุ่นตั้งท้องที่มีครอบครัวตั้งแต่ตอนเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นกว่า 20 คน

เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครราชสีมา และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดนครราชสีมา

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศมาตั้งแต่ปี 2548 โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม มุ่งสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ เพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และเพิ่มการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัยทั้งการคุมกำเนิด การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยจังหวัดนครราชสีมา เป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบ ที่ สสส. ให้ความสำคัญเร่งแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นจังหวัดนครราชสีมา

นายชาติวุฒิ กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา มีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569  ประกอบด้วย 1.พัฒนาระบบส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม 2.ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการ ในการเลี้ยงดู สร้างสัมพันธภาพ และการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น 3.พัฒนาระบบบริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร 4.พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น และ 5.ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ โดยให้ความสำคัญการพัฒนาระบบข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อออกแบบกิจกรรมและหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ตรงกับสถานการณ์และบริบทของแต่ละพื้นที่

“ปัจจุบันสถานการณ์การท้องในวัยรุ่นของจังหวัดนครราชสีมาดีขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2564  อัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี อยู่ที่ 1.01 ต่อพันประชากร ลดลงจาก 1.16 ต่อพันประชากร ในปี 2562 สอดคล้องกับกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่มีอัตราคลอดอยู่ที่ 21.06 ต่อพันประชากร ในปี 2564 ลดลงจาก 30.8 ต่อพันประชากร ในปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงระบบบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องและปลอดภัย” นายชาติวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย