“สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยก่อเหตุซ้ำ มี 3 สาเหตุสำคัญ คือ 1.ไม่ได้รักษาต่อเนื่อง 2.ไม่ได้กินยาสม่ำเสมอ และ 3.เกิดจากครอบครัวมีปัญหาในการดูแล” …นี่เป็น “ปัจจัย” ที่ทำให้ “ผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุอันไม่พึงประสงค์” ซึ่งในไทยหลัง ๆ มานี้เกิดกรณีครึกโครมอยู่บ่อย ๆ เช่น ตามห้างสรรพสินค้า ตามถนนหนทาง ตามป้ายรถโดยสาร ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้ผู้คน “ระทึกขวัญ” แต่ยังก่อ “ปุจฉา” และวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้-กรณีแบบนี้  มาสะท้อนให้พิจารณา…

“เหตุระทึก” ลักษณะนี้ “ระยะหลัง ๆ เกิดบ่อย ๆ”

เกิดบ่อยครั้งมากในสังคมไทย…จนก่อเกิด “ปุจฉา”

นี่ “เป็นภัยใกล้ตัวคนไทยอีกรูปแบบหนึ่งไปแล้ว??”

ทั้งนี้ ที่ผ่าน ๆ มานั้น “เหตุระทึกที่เกิดขึ้นโดยผู้ป่วยจิตเวช” เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่เนือง ๆ ซึ่งบางครั้งก็เพียงทำให้ผู้คนที่ประสบเหตุตกอกตกใจ แต่ในบางครั้งก็ได้ทำให้ “เกิดความเสียหาย-เกิดความสูญเสีย” อย่างที่ไม่ควรจะเกิด-ไม่ควรจะเสีย ดังนั้น “วิธีสังเกตอาการผู้ป่วยจิตเวช” จึงน่าจะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะเป็น “สัญญาณบอกเหตุที่อาจจะเกิด” เพื่อการ “ป้องกันเหตุอันไม่พึงประสงค์” โดยวิธีสังเกตอาการผู้ป่วยจิตเวชนั้นก็มี “คู่มือ” ที่คนไทยทั่วไปก็น่าที่จะ “รู้ไว้ใช่ว่า…”

มิใช่เพื่อจะไปรังเกียจเดียดฉันท์…แต่ “เพื่อระวังตัว”

สำหรับข้อมูลที่น่ารู้ ๆ ไว้ เกี่ยวกับคู่มือในเรื่องนี้ มาจากหนังสือชื่อ “คู่มือการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท สำหรับโรงพยาบาลในเขตสุขภาพ (ฉบับพยาบาล-นักวิชาการสาธารณสุข)” จัดทำโดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุถึง “ผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคจิตเภท” ไว้ว่า…ตามเกณฑ์วินิจฉัยนั้น ผู้ที่เข้าข่ายจะต้องมีลักษณะอาการร่วมกัน ดังต่อไปนี้…

ต้อง มีอาการเหล่านี้ตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไปนาน 1 เดือน ได้แก่ หลงผิด ประสาทหลอน พูดไม่มีแบบแผนหรือไม่สัมพันธ์กัน มีพฤติกรรมที่คนในสังคมไม่ทำกัน เคลื่อนไหวมากหรือน้อยไป หรือแปลกประหลาด รวมถึงมีอาการด้านลบ เช่น มีสีหน้าทื่อ เฉยเมย แยกตัวจากคนอื่น, มีความเปลี่ยนแปลงบางด้านที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ระดับความสามารถลดลงจากเดิมอย่างน้อย 1 ด้าน เช่น ด้านการทำงาน ด้านการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น ด้านการดูแลตนเอง รวมไปถึงต้อง มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันนาน 6 เดือนขึ้นไป …นี่เป็นข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ “วิธีสังเกตอาการ”

เพื่อ “ใช้สังเกตผู้ที่เข้าข่ายป่วยเป็นโรคจิตเภท”

เป็นอีกเรื่องการแพทย์ที่คนทั่วไปรู้ไว้ก็น่าจะดี

รวมถึงกับประเด็น “การประเมินพฤติกรรม” ที่ในคู่มือนี้ก็ได้มีการระบุไว้ว่า… ในการจำแนก “ระดับอาการผู้ป่วยจิตเภท” จะประเมินโดยใช้ แบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Overt Aggression Scale for objective rating of verbal and physical aggression หรือ OAS ซึ่งถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อใช้ประเมินลักษณะพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของผู้ป่วย ต่อตนเองหรือต่อผู้อื่นที่แสดงออกมา ทั้งทาง คำพูด และ การกระทำ หรือต่อทรัพย์สิน

“ความก้าวร้าวรุนแรง” ในกรณีนี้นั้น จะมีการพิจารณาจาก “คะแนน” ที่ประเมินได้ตาม “ลักษณะพฤติกรรม”  ดังนี้… “1 คะแนน” จะหมายถึง ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง แต่รับฟังคำเตือนแล้วสงบลงได้ ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มปานกลาง (Moderate), “2 คะแนน” หมายถึง ผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่เริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้ และมีท่าทีที่ อาจเกิดอันตรายต่อตนเอง ผู้อื่น และทรัพย์สิน และ “3 คะแนน” หมายถึง ผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จน เกิดอันตรายต่อตนเอง ผู้อื่น หรือทรัพย์สิน ….นี่ก็เป็น “ระดับ” ตามเกณฑ์จำแนกผู้ป่วยจิต

ทั้งนี้ “ลักษณะพฤติกรรมผู้ป่วยจิตเวช” นั้น ในคู่มือก็ได้มีการแจกแจงไว้ โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้คือ… กลุ่มที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงต่อตนเอง ที่สำหรับกลุ่มนี้มักจะไม่แสดงอาการในระดับที่ 1 แต่จะเริ่มแสดงอาการในระดับ 2 ได้แก่ มีการขีดข่วนผิวหนัง ตีตนเอง ดึงผม โขกศีรษะ กรีดตัวเองเป็นรอยขนาดเล็ก ส่วนถ้าเป็นระดับ 3 ก็จะเริ่มมีการทำร้ายตนเองรุนแรง เช่น มีรอยช้ำ มีรอยกรีดลึกจนเลือดออก หรือมีการบาดเจ็บของอวัยวะภายใน หรือมีอาการหมดสติ

ถัดมา กลุ่มที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงต่อผู้อื่น ทั้งทางคำพูด การแสดงออก ซึ่ง ระดับ 1 ผู้ป่วยมักหงุดหงิดง่าย ส่งเสียงดังหรือตะโกนด้วยความโกรธ หรือ ตะโกนด่าผู้อื่นด้วยถ้อยคำไม่รุนแรง ถ้า ระดับ 2 จะเริ่ม ด่าคำหยาบคาย คำรุนแรง หรือมีการ แสดงท่าทาง คุกคาม เช่น ถลกเสื้อผ้า ทำท่าต่อยลม กระชากคอเสื้อผู้อื่น วิ่งเข้าพุ่งชน เตะ ผลัก หรือดึงผมผู้อื่น และ ระดับ 3 จะเริ่มพูดจา ข่มขู่ทำร้ายผู้อื่นอย่างชัดเจน หรือลงมือทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ

กลุ่มพฤติกรรมและระดับในส่วนนี้…ก็ “ต้องระวัง!!”

และอีกกลุ่ม กลุ่มที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงต่อทรัพย์สิน ระดับ 1 จะมีพฤติกรรม เช่น ปิดประตูเสียงดัง ชอบรื้อข้าวของให้กระจัดกระจาย ระดับ 2 จะเริ่มมีการ ขว้างปาสิ่งของ เตะหรือทุบวัตถุหรือสิ่งของ และถ้า ระดับ 3 นี่จะเริ่ม ทำให้ข้าวของแตกหัก เช่น ทุบกระจก หรือจุดไฟเผา …เหล่านี้เป็นลักษณะพฤติกรรม-กลุ่ม-ระดับความรุนแรง ที่รู้ไว้ใช่ว่า…

จาก คู่มือ” ในทางแพทย์ เพื่อการ ดูแลผู้ป่วยจิต”

ที่ประชาชนทั่วไปก็ อาจใช้เป็นคู่มือเฝ้าระวังได้”

เจอที่ใด?-แบบใด?” ก็ จะได้รู้ระวังตัวได้ดี!!” .