ช่วงมีการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้รวบรวมจิตอาสากลุ่มแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ และกลุ่มแม่ มาร่วมพูดคุยผ่านทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse ห้อง “นมแม่” มาอย่างต่อเนื่อง 46 ครั้ง โดยมุ่งเน้นการสื่อสารและให้ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ในประเด็นและหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับแม่ที่กำลังตั้งท้อง แม่ที่กำลังให้นมบุตร และการดูแลเด็ก… ด้วยตระหนักว่า แม่ต้องรู้สู้โควิด และมูลนิธิฯ ยังได้รวบรวมองค์ความรู้มาไว้ใน Mini Book ด้วย” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุไว้โดย พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธาน มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ที่เกี่ยวกับ “โควิด-19” เกี่ยวกับ “แม่” และก็เกี่ยวกับ “ลูก”

“โควิดสายพันธุ์โอมิครอน” กำลัง “ระบาดรุนแรง”

“แม่ตั้งท้อง-ให้นมลูก-ดูแลลูก” นั้น “ต้องรู้สู้โควิด”

และกับการต้องรู้สู้โควิดของคนเป็นแม่ที่มีลูกเล็ก รวมถึงคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ล่าสุดมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยได้จัดทำ Mini Book “34 เรื่อง แม่ท้อง-แม่ให้นมต้องรู้ เตรียมพร้อมสู้-อยู่กับโควิด-19″ ภายใต้โครงการ “ช่องทางสื่อสารทันการ : รู้ตัวติด
โควิด-19 รักษาเบื้องต้นถูกต้องและเร็ว แม่ท้องแม่ให้นม”
สนับสนุนโดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกลุ่มผู้ใหญ่ใจดี ซึ่งก็ถือเป็นแหล่งความรู้ที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ แหล่งความรู้ดังกล่าวนี้มีการจัดทำขึ้นทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์จำนวน 5,000 เล่ม และแบบออนไลน์ ที่สามารถติดตาม-ดาวน์โหลดได้ฟรี ซึ่งสำหรับแบบออนไลน์นั้นผู้ที่สนใจก็สามารถติดตามได้หลายช่องทาง กล่าวคือ… เว็บไซต์ : www.thaibf.com  ยูทูบ : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพจเฟซบุ๊ก : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพจเฟซบุ๊ก : นมแม่ แอพพลิเคชั่น : Thai BF อีกทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ข้อมูลการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ยังสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลแบบออนไลน์ได้ที่ ไลน์ : @thaibf อีกด้วย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางที่มีประโยชน์ต่อคนเป็นแม่ที่มีลูกเล็ก 

“สำหรับข้อมูลใน Mini Book จะมี 4 ส่วนคือ… 1.นมแม่ เรื่องสำคัญในยุคโควิด-19, 2.แม่ท้อง เสี่ยงทั้งแม่และลูก มาฉีดวัคซีนกันเถอะ, 3.พร้อมท้อง พร้อมคลอด อย่างปลอดภัยในยุคโควิด-19, 4.เรื่องต้องย้ำ แม่ท้อง แม่ให้นม ลูกเล็ก ปลอดภัยโควิด” …นี่เป็นการระบุไว้โดย พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รวมถึงยังมีการระบุไว้อีกว่า… ใน Mini Book นี้ได้รวมแนวทางปฏิบัติ การดูแลตัวเอง การป้องกัน การตรวจหาเชื้อ การรักษาในระยะเริ่มต้น การดูแลฟื้นฟูหลังติดเชื้อ การรักษา การใช้ยาและข้อห้ามต่าง ๆ รวมถึงช่องทางความช่วยเหลือ สำหรับแม่ที่กำลังตั้งท้อง แม่ที่กำลังให้นมบุตร และการดูแลเด็ก กับกรณีการระบาดของ “โควิด-19”

“มูลนิธิฯ เราร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงใจให้กับแม่ตั้งท้อง แม่ให้นม ให้ได้มีความรู้ เตรียมตัวพร้อมสู้ พร้อมที่จะอยู่กับโควิด โดยที่ยังสามารถ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้สำเร็จ” …นี่ก็เป็นอีกส่วนจากการระบุไว้โดย พญ.ศิราภรณ์

ทั้งนี้ กับ Mini Book ดังกล่าวนี้ จากที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ติดตามดูจากช่องทางดังที่ระบุข้างต้น ก็คอนเฟิร์มได้อีกแรงถึงความน่าสนใจที่อัดแน่น มีหลากหลายแง่มุมที่ล้วนเป็นประโยชน์ อย่างเช่นเนื้อหาในส่วนถาม-ตอบ อาทิ…

คำถาม… แม่ให้นมลูกฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม? ควรฉีดเมื่อไหร่? คำตอบคือ… ฉีดได้ ควรฉีดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหลังฉีดแล้วสามารถให้นมลูกต่อได้โดยไม่ต้องงดหรือบีบนมทิ้ง, คำถาม… วิธีการให้ลูกดูดนมจากเต้าในแม่ที่ติดเชื้อโควิดจะต้องทำยังไง? คำตอบสำหรับคำถามนี้มี 2 ส่วนคือ… 1.แม่ติดเชื้อโควิด แต่ลูกไม่ติด แม่สามารถจะให้นมลูกต่อไปได้ตามปกติเช่นเดียวกับการให้นมลูกสำหรับแม่ทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อ และแนะนำว่าควรให้นมลูกโดยใช้วิธีเข้าเต้าจะดีที่สุด แต่ในการให้นมลูกนั้น แม่ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ ทำความสะอาดเต้านม งดการสัมผัสบริเวณใบหน้าทั้งของแม่และลูก เช่น งดการหอมแก้มลูก โดยหลังลูกดูดนมเสร็จแล้วก็ให้แม่เว้นระยะห่างจากลูกอย่างน้อย 6 ฟุต และ 2.ทั้งแม่และลูกติดเชื้อโควิด กรณีนี้ถ้าแม่ไม่มีอาการก็สามารถให้นมลูกได้ด้วยวิธีเดียวกัน

คำถาม… แม่ที่หายจากการป่วยด้วยการติดเชื้อโควิดแล้วให้นมลูกได้เลยไหม? คำตอบคือ… หากแม่หายจากการติดเชื้อโควิด และ ไม่ได้กินยารักษาแล้ว โดยหยุดกินยาฟาวิพิราเวียร์ไปแล้ว 24 ชั่วโมง หรือหยุดกินยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรไปแล้ว 48 ชั่วโมง แม่สามารถให้ลูกดูดนมต่อได้ ตามปกติ …นี่ก็เป็นเนื้อหาอีกส่วนที่น่าสนใจ

ขณะที่ใน Mini Book “34 เรื่อง แม่ท้อง-แม่ให้นมต้องรู้ เตรียมพร้อมสู้-อยู่กับโควิด-19″ ยังมีเนื้อหาส่วนที่ระบุว่า… ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้ออุบัติใหม่โควิด-19 นมแม่” ยังคงเป็น “สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก” เสมอ เพราะสามารถปกป้องทารกจากโรคภัยไข้เจ็บด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ให้กับลูก อย่างไรก็ดี แม่ควรดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด และก็ยังมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องที่ระบุว่า… นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และการได้รับนมแม่คู่อาหารตามวัยอย่างเหมาะสม เป็นการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับลูก อย่าปล่อยให้ลูกรักพลาดโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุดเช่นนี้ไป เพียงเพราะโควิด-19

แม้ “โควิดโอมิครอน” กำลัง “ระบาดไต่ระดับพีค”

แต่ “ชีวิตต้องดำเนินต่อไป” ซึ่ง “รวมถึงวัยทารก”

โดย “แม่ต้องรู้สู้โควิด” รู้และทำให้ถูก “เพื่อลูก” .