การประเมินที่แก้ไขใหม่ ลดการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลโลกลง 3 นิ้ว หากธารน้ำแข็งเหล่านี้ละลาย และมวลน้ำแข็งกลายเป็นน้ำ ไหลลงจากภูเขา สู่ทะเลและมหาสมุทร

ข้อเท็จจริงใหม่ที่เพิ่งค้นพบ สร้างความวิตกแก่ชุมชนในหลายประเทศ ที่ต้องพึ่งพาน้ำซึ่งละลายตามฤดูกาล จากธารน้ำแข็ง ไหลลงสู่แม่น้ำ และระบบชลประทานสำหรับการเกษตร

ขณะที่ธารน้ำแข็งบางส่วน ละลายตามธรรมชาติตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่กำลังสูงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะโลกร้อน” กำลังทำให้ธารน้ำแข็งสูญสลาย ในอัตราเร่ง

จากการศึกษาพบว่า ระหว่างปี 2543–2562 ธารน้ำแข็งขนาดมหึมาทั่วโลก สูญเสียมวลน้ำแข็งรวมกัน ประมาณ 5.4 ล้านล้านตัน (5.4 trillion tonnes)

หลายประเทศต้องดิ้นรน แก้ไขปัญหาธารน้ำแข็งที่กำลังหายไป เช่น เปรู รัฐบาลทุ่มงบประมาณ สร้างโรงงานกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ส่วนชิลีกำลังร่างแผน สร้างธารน้ำแข็งเทียม บนเทือกเขาของประเทศ

โรเมน มิลญอง นักวิทยาธารน้ำแข็ง มหาวิทยาลัยเกรอน็อบล์ แอลป์ ในฝรั่งเศส หัวหน้าทีมศึกษาวิจัยรายการนี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ความเข้าใจค่อนข้างน้อย ในประเด็นมีน้ำแข็งมากน้อยเท่าใด ในธารน้ำแข็งโลก

ยกตัวอย่างเช่น การตรวจสอบซ้ำ 2 ครั้ง ธารน้ำแข็งรอบเกาะกรีนแลนด์ และกลุ่มพืดน้ำแข็งแอนตาร์กติก (Antarctic ice sheets) แถบขั้วโลกใต้ ประเมินปริมาณมวลน้ำแข็งมากเกินจริงหลายเท่า

การศึกษาวิจัยของมิลญองและทีมงาน ประเมินอัตราความเร็ว ในการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็ง การตรวจวัดจะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวัดปริมาณมวลน้ำแข็ง ได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากวิธีการไหลของธารน้ำแข็ง จะบ่งบอกความหนาหรือบางของน้ำแข็ง แต่การเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ ถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยี ที่ยังไม่ก้าวหน้าเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายดาวเทียมความละเอียดสูง ที่นำมาใช้งานในระยะหลายปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้เป็นครั้งแรก การเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็ง 98% ของที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วโลก ไล่ตั้งแต่ธารน้ำแข็งขนาดเล็ก บนเทือกเขาแอนดีส ในทวีปอเมริกาใต้ ไปจนถึงขนาดมหึมา ในคาบสมุทรนอร์เวย์ แถบขั้วโลกเหนือ

การศึกษาของมิลญองและทีมงาน ได้ทำการวิเคราะห์ภาพถ่ายเปรียบเทียบธารน้ำแข็ง กว่า 800,000 คู่ บันทึกระหว่างปี 2560–2561 และพบว่า มวลน้ำแข็งตื้นกว่าที่ประเมินก่อนหน้านี้

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ธารน้ำแข็งทั่วโลกมีน้ำแข็งน้อยกว่าที่เคยประเมิน 20% โดยน้ำแข็งเหล่านี้มีโอกาสละลายเป็นน้ำ ไหลลงมหาสมุทร และทำให้ระดับน้ำทะเลโลกสูงขึ้น

ปัจจุบัน ธารน้ำแข็งมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลโลก สูงขึ้นปีละ 1 มิลลิเมตร หรือ 30% ของการเพิ่มขึ้นรายปี

การศึกษาวิจัยของมิลญองและทีมงาน ยังพบอีกว่า ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ในทวีปเอเชีย บรรจุน้ำแข็งมากกว่าที่เคยมีการประเมิน 37% ส่วนธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีส เกือบตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ บรรจุน้ำแข็งน้อยกว่าที่เคยมีการประเมิน 27%

และธารน้ำแข็งบนภูเขาประเทศเปรู สูญเสียพื้นผิวไปถึง 40% นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 หรือเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน

นั่นบ่งชี้ว่า กลุ่มประเทศที่อยู่ตามแนวเทือกเขาแอนดีส จะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำจืดในอนาคต.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS