ขณะที่หลายภาคส่วนในสังคมไทย ออกโรงคัดค้านการควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ทำให้ราคาค่าบริการจะแพงขึ้น ไม่มีการพัฒนาคุณภาพ เนื่องจากมีผู้ประกอบการน้อยลง ไม่ต้องออกแรงแข่งขันกันมาก และประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน

ทางด้านหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แบไต๋มาสักพักว่า มีอำนาจเป็นได้แค่ “ตรายาง” รับทราบการควบรวมกิจการของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจสั่งระงับยับยั้งได้

แม้การควบรวมกิจการดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดและจำกัดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมก็ตาม

ส่วนคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็ออกมาหงายไพ่ ว่าไม่มีอำนาจก้าวล่วงตรวจสอบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

สรุปว่าประชาชนผู้บริโภคจะพึ่งพาอาศัย “กสทช.-กขค.” ในกรณีดังกล่าวได้หรือเปล่า? หรือว่าสุดท้ายแล้วต้องปล่อยให้ “อ้อยเข้าปากช้าง” เหมือนการควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง จนทำให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งครบวงจร แทบจะกลืนตลาดค้าปลีก-ค้าส่งของประเทศไปแล้วในเวลานี้ โดยที่ กขค.ได้แต่นั่งทำตาปริบ ๆ

เรื่องการควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ยังเป็นปมปัญหากรรมการ กสทช.ชุดเก่า และกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่เพิ่งได้มา 5 คน ยังขาดอีก 2 คนจึงจะครบทีม! กว่าจะผ่านขั้นตอนวุฒิสภาเพื่อให้ได้อีก 2 คน คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ซึ่งตอนนี้หลายภาคส่วนสังคมต้องการให้กรรมการ กสทช.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณากรณี “ทรู-ดีแทค”

นอกจากเรื่อง “ทรูดีแทค” แล้ว! ตอนนี้ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และสื่อมวลชน กำลังตีแผ่เรื่องราวไม่ชอบมาพากลในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเมกะโปรเจคท์เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิอู่ตะเภา) ซึ่ง “ทุนใหญ่” กำลังหืดจับ! หายใจไม่ทั่วท้องเพราะยังไม่สามารถระดมทุนได้ตามแผน แถมเจอปัญหาโควิด-19 ยืดเยื้อ จึงต้องวิ่งพล่านขอยืดเวลาจ่ายเงินให้รัฐออกไป 10 ปี จากกำหนดที่จะต้องจ่ายตั้งแต่ปลายปี 64

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 64 แสดงความเห็นใจและเห็นชอบในหลักการไปให้แล้ว ก่อนจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยืดเวลาผ่อนชำระเงินให้รัฐออกไปไม่เกิน 6-7 ปี

แต่ทุกฝ่ายเชื่อว่า “ทุนใหญ่” อาจไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้? เพราะอยากให้รัฐบาลและการรถไฟฯ ร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนก่อสร้างขึ้นมาให้เร็วขึ้น แม้ว่าตามเงื่อนไข “ทีโออาร์” และสัญญาสัมปทานนั้น กำหนดให้รัฐและการรถไฟฯ จ่ายเงินอุดหนุ 10 ปี ปีละประมาณ 14,965 ล้านบาท นับแต่เปิดดำเนินการหรือตั้งแต่ปีที่ 6 ของสัญญา (ปี 70) ไปแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐได้ผู้ร่วมลงทุนที่มีศักยภาพพร้อมอย่างแท้จริง

ปัจจุบันเรื่องราวของ “ทุนใหญ่” ในพื้นที่ “อีอีซี” และเมกะโปรเจคท์เชื่อม 3 สนามบิน กำลังเป็นปัญหาเหมือน “งูกินหาง” พันกันนัวเนียไปหมด!

ทำเอาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และผู้ว่าการ รฟท. ถึงกับกุมขมับ เนื่องจากปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้ม-สายสีเขียว และรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ยังวุ่นไม่จบ แต่กลับมาเจอเรื่องใหม่อยู่เรื่อย ๆ

คือเป็นเรื่องของ “ทุนใหญ่” ที่ถูกจับจ้องว่าได้คืบจะเอาศอก! หรือไม่? และนี่ก็ไม่รู้ว่าต้องถึงขนาดแก้ “ทีโออาร์” เพื่ออุ้มกันหรือเปล่า?.

—————–
พยัคฆ์น้อย