การจำเหตุการณ์ต่างๆ ที่คนเรารับรู้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เราจำชื่อตัวเองจำบ้านที่อยู่ของตน จำญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง จำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จำความคิดและความตั้งใจที่จะทำอะไร

การจำเหตุการณ์ต่างๆ ของคนเรามีความไม่สมบูรณ์ เราไม่สามารถจำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราประสบได้ ความจำบางอย่างลืมหายไปอย่างรวดเร็ว บางอย่างก็ลืมในเวลาต่อมา การจำและการลืมจึงเดินสวนทางกันตลอดเวลาในชีวิตของเรา

วิธีทดสอบความจำมี 3 วิธีคือ สัญญา (Recognition) การระลึก (Recall) และการเรียนซ้ำ (Relearning)

สัญญา หมายถึงการจำได้ จำสิ่งที่ประสบพบเห็นได้ ในการวัดความจำด้วยสัญญานี้เราต้องแสดงสิ่งของหรือเหตุการณ์ซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่เคยประสบมาแล้วต่อหน้าผู้ถูกทดสอบเพื่อให้ผู้ถูกทดสอบเกิดการรับรู้สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่ปรากฏตรงหน้า แล้วผู้ถูกทดสอบจะเปรียบเทียบการรับรู้นี้กับการรับรู้ซึ่งตนเคยมีมาก่อนในอดีตว่าเหมือนกันหรือไม่ ผู้ถูกทดสอบจะตอบว่าจำได้หรือจำไม่ได้จากผลการเปรียบเทียบนี้

การระลึก การระลึกแตกต่างจากสัญญาตรงที่ในการระลึกนั้น ผู้ระลึกจะต้องสร้างเหตุการณ์ต่างๆ จากความจำ ส่วนสัญญานั้นเหตุการณ์ได้ปรากฏตรงหน้าแล้ว การระลึกนี้ อาจเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นเอกเทศเดี่ยวๆ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ของเพื่อนที่เพิ่งรู้จักเมื่อคืนนี้ หรือเป็นเหตุการณ์ปะติดปะต่อ ที่เป็นเรื่องเป็นราว

การระลึกได้นั้นประกอบด้วยการสร้างเหตุการณ์จากความจำและการจำเหตุการณ์ที่สร้างขึ้นได้ ถ้าเราสร้างเหตุการณ์ขึ้นมาแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ คือไม่เกิดสัญญา เราก็เกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งที่นึกขึ้นมานั้นถูกต้องหรือไม่ และเนื่องจาก การจำได้นั้นอาจผิดพลาดได้ การระลึกได้จึงผิดพลาดได้เช่นกัน ในบางโอกาสเรานึกไม่ออก คือเราไม่อาจสร้างเหตุการณ์ที่ต้องการจำขึ้นมาได้ แต่พอมีคนอื่นบอกเท่านั้นเราก็ร้องอ๋อขึ้นมาทันที ว่าจำได้แล้ว หรือเพียงแต่ให้คนอื่นช่วยแนะบอกรายละเอียดบางอย่างเราก็สร้างเหตุการณ์นั้นขึ้นมาได้

การเรียนซ้ำ ในการจำนั้นเราต้องใช้ความพยายามทำซ้ำๆ อ่านซ้ำๆ หรือฟังซ้ำๆ เพื่อให้สิ่งที่ต้องการจำนั้นติดอยู่ในความทรงจำ ความพยายามนี้อาจใช้เวลาหรือจำนวนครั้งในการทำซ้ำเพื่อให้จำได้เป็นเครื่องวัด เช่น ถ้าเราต้องอ่านบทความตอนหนึ่งถึง 8 เที่ยว จึงสามารถท่องจำบทความตอนนั้นได้ ความพยายามในการจำบทความตอนดังกล่าวก็จะมีค่าเท่ากับ การทำซ้ำ 8 ครั้ง เมื่อเวลาล่วงเลยไป ความจำก็จะค่อยๆ จางหายไป จนบางครั้งถ้าพบบทความตอนนั้นอีก เราอาจจำไม่ได้เลยว่าเป็นบทความที่ตนเคยพยายามท่องจำมาแล้วครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี หากเราพยายามอ่านบทความตอนนั้นซ้ำอีกเพื่อให้จำได้ เราอาจใช้ความพยายามน้อยกว่าครั้งแรกก็ได้ เช่น หลังจากการอ่านซ้ำอีกเพียง 5 เที่ยวเท่านั้น ก็สามารถท่องได้ กล่าวคือ เราจะประหยัดเวลาหรือจำนวนครั้งในการทำซ้ำมากขึ้นหากความจำยังมีอยู่มาก การประหยัดนี้อาจคิดเป็นร้อยละได้ตามสูตร ดังนี้

ถ้าให้ A = จำนวนครั้งที่ทำซ้ำในการพยายามจำครํ้งแรก

B  = จำนวนครั้งที่ทำซ้ำเพื่อให้จำได้อีกร้อยละของการประหยัด = 100 X (A- B/A)

จากสูตรนี้หากเราจำได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามทบทวนซ้ำอีกเลย ค่า B จะเท่ากับ ศูนย์ และการประหยัดจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ แสดงว่าความจำยังมีอยู่สมบูรณ์ และถ้าหากในการทบทวนครั้งที่สองจะต้องใช้จำนวนครั้งเท่ากับจำนวนครั้งในการพยายามจำครั้งแรก (a = b) จำนวน ร้อยละของการประหยัดจะเท่ากับศูนย์ ซึ่งแสดงว่าไม่มีความจำหลงเหลืออยู่เลย จากตัวอย่าง การจำบทความข้างต้น A มีค่าเท่ากับ 8 ครั้ง B มีค่าเท่ากับ 5 ครั้ง การประหยัดจึงเท่ากับ 100 X(8-5/8) = 37.5 %

การวัดความจำโดยใช้ร้อยละของการประหยัดนี้ นักจิตวิทยาชาวเยอรมันชื่อ เอบบิงเฮาส์ (Ebbinghaus, 1850-1909) เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1885 เอบบิงเฮาส์ ทำการทดลองกับตนเองโดยพยายามจำพยางค์ไร้ความหมาย (Nonsense Syllable) ครั้งละหลายๆ พยางค์ แล้วปล่อยให้กาลเวลาล่วงเลยไปจนเขาไม่สามารถนึกพยางค์ไร้ความหมายเหล่านี้ได้ทุกพยางค์ จากนั้น เอบบิงเฮาส์ก็ใช้ความพยายามอ่านพยางค์ไร้ความหมายเหล่านั้นซ้ำอีกจนจำได้อีก เขาพบว่าความจำที่วัดจากการเรียนซ้ำนี้ลดฮวบอย่างรวดเร็วในระยะแรกๆ หลังจากนั้นความจำจะค่อยๆ หายไป ทีละน้อยๆ จะเหลือเพียงประมาณ 25% เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง และเหลือเพียงประมาณ 20% ในเวลา 1 เดือน.