หลังจาก โยคีปอ-ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ และ โยคีโรเบิร์ต-ไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ 2 ผู้ต้องหาจาก คดีดาราสาว แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ต จมแม่น้ำเจ้าพระยาเสียชีวิต เมื่อกลางดึกวันที่ 24 ก.พ. ไปเข้าทำพิธีบวชโยคีพราหมณ์ สถานปฏิบัติธรรม ชยันโตโพธิธรรมรังสี หรือชื่อเดิม “ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย” ตั้งอยู่หมู่ 7 ถนนห้วยผาก-บ่อหวี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และยังเป็นที่ตั้งของ มูลนิธิสิริสาโร หลวงพี่อุเทน ซึ่งมีอาณาบริเวณมากกว่า 70 ไร่

กลายเป็นว่าทำให้ พระญาณวิกรม (อุเทน สิริสาโร) หรือ หลวงพี่อุเทน เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ต้องมาถูก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง มหาเถรสมาคม (มส.) ผ่าน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้ตรวจสอบเรื่องที่ หลวงพี่อุเทน ทำพิธีโกนผมบวชโยคีพราหมณ์ให้กับ 2 ผู้ต้องหาในคดีอาญา มีเจตนาที่จะเลี่ยงบาลี ที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม (มส.) ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2536 หรือไม่ เท่านั้นไม่พอยังมีการเดินหน้าจี้ให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อมูลของ สถานปฏิบัติธรรมชยันโตโพธิธรรมรังสี อ.สวนผึ้ง

เบื้องต้นทาง สำนักพุทธฯ ราชบุรี ออกมายืนยันว่า พื้นที่นี้ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนขอจัดตั้งเป็นวัด ทราบเพียงว่าทางสถานปฏิบัติธรรม มาขอตั้งเป็นมูลนิธิฯ ซึ่งจะต้องไปทำเรื่องขอใช้ “พื้นที่ราชพัสดุ” จากกรมธนารักษ์ พอไม่ได้เป็นวัดทางสำนักพุทธฯ จึงไม่ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลของพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่ชาวบ้านในละแวกดังกล่าวแจ้งว่า ทางสถานปฏิบัติธรรมฯ เริ่มเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้ ตั้งแต่ช่วงประมาณ ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน มาเป็นข่าวสร้างความสนใจให้กับชาวบ้านเมื่อเห็นมีสื่อมวลชนจำนวนมากมาเกาะติดรายงานข่าวของ 2 โยคีคดีดาราสาว พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตเสียชีวิต มาปฏิบัติธรรม

“สวนผึ้งโมเดล”ต้นแบบแก้ปัญหารุกที่รัฐ

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เคยเป็นข่าวใหญ่ถึงปัญหาในเรื่องของการบุกรุกที่ดินรัฐเข้าไปทำประโยชน์ทั้งด้านการเกษตรและรีสอร์ทท่องเที่ยวกันอย่างโจ่งครึ่ม เดลินิวส์ เคยส่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลาง เข้าไปเกาะติดนำเสนอข่าวอย่างใกล้ชิดเช่นกัน สัปดาห์นี้ Dailynews Exclusive จึงขอพาย้อนกลับไปดูเรื่องราว “สวนผึ้งโมเดล” ที่ถูกตั้งชื่อขึ้นมาหลังจากการเข้าไปแก้ปัญหานายทุนใหญ่ บุกรุกที่ดินราชพัสดุ ในเขต อ.สวนผึ้ง จนทำให้ทางหน่วยงานราชการสนธิกำลังตรวจสอบกันนานต่อเนื่องหลายเดือน โดยเฉพาะช่วงระหว่างปี 2553 หลังมีการเข้าไปทำประโยชน์หลากหลายรูปแบบตามพื้นที่ป่าเนินเขา ลำธาร ฯลฯ กลุ่มนายทุนอิทธิพล เข้ามาจับจองพื้นที่ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์กันอย่างมากมาย บ้างก็ซื้อขายที่ดินแปลงสวยๆติดธรรมชาติป่าเขาลำธารแบบไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ ด้วยราคาสูง มีทั้งกลุ่มมีอิทธิพล แวดวงข้าราชการระดับสูง แทบทุกกรมกอง และอดีตข้าราชการ ต่างมาหาซื้อที่ดินใน อ.สวนผึ้ง หวังเก็บไว้เป็นกรรมสิทธิ์เพื่อทำเกษตรและท่องเที่ยว ทั้งๆในบางพื้นที่ทาง กรมธนารักษ์ ไม่สามารถให้เช่าได้

ต่อมา ทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี จ.ราชบุรี ต้องหอบหลักฐาน ประสานงานร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมตรวจสอบการครอบครอง พื้นที่ราชพัสดุ เกือบ 3 หมื่นไร่ หลังจากกลุ่มนายทุนขนเครื่องจักรกลหนักเข้าไปปรับพื้นที่ถึงบนเนินเขา ตัดถนนเข้าไปในป่า พร้อมเร่งปรับพื้นที่เป็นแปลงปลูกพืชแบบขั้นบันได เตรียมไว้ปลูกสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน จนบางพื้นที่มีสภาพกลายเป็นภูเขาหัวโล้น 

นอกจากนี้ นายเทวัญ วิชิตะกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ในขณะนั้นพร้อมด้วย พล.อ.ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ตำแหน่งขณะนั้น) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ในการสำรวจรังวัดกำหนดตำแหน่งและปักเขตแดนที่ดินราชพัสดุ ตามแผนที่กายภาพที่ได้ทำการสำรวจรังวัดเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2538 (แปลงทะเบียน รบ.533) โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 เดือน ไว้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อเป็นตัว อย่างกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา โดยใช้ชื่อว่า “สวนผึ้งโมเดล” 

“กระชับพื้นที่”ทวงคืนกว่า 2.5 หมื่นไร่

ขณะที่ พล.ท.ทวนชัย พันธ์เพิ่มศิริ เจ้ากรมการทหารช่าง (ตำแหน่งขณะนั้น) เดินหน้าโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินราชพัสดุ (สวนผึ้งโมเดล) โดยแบ่งเป็นขั้นเตรียมการ ได้แก่การทำฐานข้อมูลต่าง ๆ 1. ขั้นเตรียมการ ได้แก่การทำฐานข้อมูลต่าง ๆ  2. ขั้นดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร จนถึงดำเนินคดีตามกฎหมาย และสุดท้าย 3. ขั้นการฟื้นฟู มีการเตรียมการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ การปักหลักหมุดแนวเขต และการให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาพื้นที่ มิให้มีการบุกรุกเพิ่ม หรือเอาที่ดินของรัฐคืนมาให้ได้ หรือการใช้การเจรจาเป็นหลัก หรือใช้ข้อกฎหมายเป็นหลัก ผู้บังคับบัญชาต้องป้องกันดูแลผู้ปฏิบัติงาน

สั่งตรวจที่ราชพัสดุ ‘โยคีปอ-โรเบิร์ต’ บวช มีการบุกรุกหรือไม่ รู้ผลพรุ่งนี้!

โดยกำลังทหารจากกรมการทหารช่างราชบุรี ลงพื้นที่กันทำงานหลายจุดในช่วงปี 2553-54 เปิดยุทธการ “กระชับพื้นที่ ขอพื้นที่คืนจากนายทุน” ได้ดำเนินการตามมาตรการจากเบาไปหาหนัก ลอตแรกจับกุม  21 คดี รวมเนื้อที่ประมาณ 5,000 กว่าไร่ มีผลคำพิพากษาไปแล้ว 10 คดี โดยศาลพิพากษาทั้ง 10 คดี ว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 และผิดตามประ มวลกฎหมายที่ดินข้อหาบุกรุกที่ดินราชพัสดุ โดยให้ออกจากพื้นที่ทุกราย พร้อมทั้งริบของกลาง อุปกรณ์การแผ้วถาง บุกรุก อย่างเช่นคดีล่าสุด ศาลจังหวัดราชบุรี ได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 246/53 คดีหมายเลขแดงที่ 169/54 เมื่อวันที่ 27 ม.ค.54

ต่อมาเจ้าหน้าที่ทยอยดำเนินการตามมาตรการจากเบาไปหาหนัก จนสามารถจับกุมไปทั้งหมด 85 คดี รวมเนื้อที่กว่า 25,000 ไร่ มีคดีถึงที่สุดที่มีผลคำพิพากษาไปแล้ว 83 คดี โดยศาลพิพากษาว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 ผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน  ข้อหาบุกรุกที่ดินราชพัสดุ โดยให้ออกจากพื้นที่ทุกราย พร้อมทั้งริบของกลาง อุปกรณ์การแผ้วถาง บุกรุก ทั้งโทษจำคุก และรอลงอาญา  พร้อมกับฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อผู้บุกรุก

โทษหนักทั้งจำคุก-ชดใช้ค่าเสียหาย

นอกจากนี้ยังมีบางคดีเป็นของ นายทุนใหญ่ รุกที่ดินกว่า 3,000 ไร่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องเข้ามารับเป็น คดีพิเศษ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2552 กระทั่ง ศาลจังหวัดราชบุรี ได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 246/53 คดีหมายเลขแดงที่ 169/54 พบว่ามีความผิดฐาน ร่วมกันยึดถือครอบครองป่า เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า โดยได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ และร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง ที่ดินของรัฐ โดยได้กระทำเกินเนื้อที่ 50 ไร่ และร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือบางส่วนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

 

ตัดสินลงโทษ ฐานร่วมกันยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง ก่อสร้าง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าโดยได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้ หนึ่งในสาม คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน และ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครอง พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหาย มูลค่า 96 ล้านบาท

หลังจากจากนั้นจึงมีการหยิบยก สวนผึ้งโมเดล อ.สวนผึ้ง ขึ้นมาใช้เป็นต้นแบบเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ราชพัสดุ เนื่องจากในบางพื้นที่ถูกการบุกรุกเป็นจำนวนมาก ทำให้การดูแล และจัดการในพื้นที่ เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน กองทัพบก จึงผุดแนวคิดที่จะประสานงาน ทำงานร่วมกับ กรมธนารักษ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่  เพื่อให้เกิดความร่วมมือเข้ามาแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ดินที่สะสมมาอย่างยาวนานในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศก็นำเอาไปใช้ได้ด้วยจนทำให้เกิด คู่มือสวนผึ้งโมเดล ซึ่งมี 4 ขั้นตอนหลักในการปฏิบัติได้แก่

เปิด ‘ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย’ ปอ-โรเบิร์ต บวชพบไม่ได้ขึ้นทะเบียน!

1.ขั้นการเตรียมการ อบรมกำลังพล เกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ และเทคนิค รวมถึงจัดทำประวัติความเป็นมาของที่ดินในแต่ละพื้นที่

2.ขั้นปฏิบัติ มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์แก่ผู้บุกรุก เจรจา ทำความเข้าใจ ซึ่งหากการเจรจา ขอคืนพื้นที่ หรือขอให้หยุดดำเนินการ ไม่สำเร็จ ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

3.ขั้นตอนการฟื้นฟู หากได้พื้นที่คืนมาแล้ว ทั้งจากการยอมคืนพื้นที่ หรือ ศาลสั่ง ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับมาเป็นสภาพคงเดิมก่อนการบุกรุก

4.ขั้นตอนการพิทักษ์รักษา พื้นที่อย่างยั่งยืน เช่น ดำเนินการจัดการปักหลักแนวเขตให้ชัดเจน ทำรั้ว และนำพื้นที่ มากำหนดเป็นพื้นที่ทางกายภาพให้สมบูรณ์ พร้อมทั้งดำเนินการพื้นที่ที่ได้คืน มาออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ น.ส.ล. ต่อไป

เปิด ‘ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย’ ปอ-โรเบิร์ต บวชพบไม่ได้ขึ้นทะเบียน!

ภายหลังจากที่เกิดการตื่นตัว และการดำเนินการจับกุมผู้บุกรุกพื้นที่ราชพัสดุ โดยเฉพาะในเขต อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี พบว่า ผู้บุกรุกกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาใช้พื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งตามปกติให้เช่าเพื่อการเกษตร เพื่ออยู่อาศัย แต่นายทุน ข้าราชการ ศิลปินดารา ฯลฯ กลับไปเล่นแร่แปรธาตุเสียค่าเช่าถูกแล้วนำที่ดินไปทำเป็น ที่พักตากอากาศ รีสอร์ท จำนวนมาก ทำให้ทาง กรมธนารักษ์, จังหวัดราชบุรี และ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือ กระทั่งมีมติออกประกาศจังหวัดราชบุรี ผ่อนผันให้ผู้ที่ทำกิจการรีสอร์ท ที่พักตากอากาศ “เฉพาะพื้นที่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง” ไปดำเนินการยื่น ขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์การเช่า เพื่อเป็นที่พักตากอากาศ โดยมีอัตราการเช่า คำนวณจากพื้นที่ เป็นตารางวา (โดยราคาจะปรับสูงกว่าเช่าเพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการเกษตร). 

ทีมข่าวเฉพาะกิจ : รายงาน