ทั้งนี้ การทำหน้าที่สื่อเพื่อมวลชนชาวไทยภายใต้นโยบายคณะผู้บริหาร “เดลินิวส์” นั้น ยังรวมถึงการ “สร้างสรรค์” คอนเทนต์ที่เป็นการ “ส่งเสริมชุมชนทั่วไทย” ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาไทยต่าง ๆ และโดยเฉพาะเรื่องการ “สืบสานวัฒนธรรมไทย”…

“ท่องถึงถิ่น เที่ยวฟินวัฒนธรรม” โครงการโดย “เดลินิวส์” นี่คือตัวอย่างหนึ่งในการทำหน้าที่ด้านนี้ที่ทาง“กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” สนับสนุน ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมา “เดลินิวส์” ได้ดำเนินการส่งเสริม 15 ชุมชนทั่วไทย โดยบางส่วนเป็นชุมชนต้นแบบโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ที่ทาง “กระทรวงวัฒนธรรม” จัดขึ้น ทั้งนี้ พลิกแฟ้มการสร้างสรรค์ส่งเสริมชุมชนโดย “เดลินิวส์” เฉพาะในส่วนนี้ โดยสังเขปเกี่ยวกับชุมชนต่าง ๆ มีดังนี้…

“ชุมชนบ้านโคกเมือง” จ.บุรีรัมย์ ชุมชนเก่าแก่ที่รุ่งเรืองทางวัฒนธรรมมาแต่อดีต มีหลักฐานคือ ปราสาทเมืองต่ำ อายุกว่า 1,400 ปี ที่นี่ยังสืบทอดวิถีดั้งเดิม มีกิจกรรมน่าสนใจ เช่น ทำ ผ้ามัดย้อมหมักโคลนบาราย ชิมผัดกุ้งจ่อมทรงเครื่องสมุนไพร, “ชุมชนบ้านโนนบุรี” จ.กาฬสินธุ์ มีถนนสายวัฒนธรรมไดโนโรด ที่นี่อยู่ไม่ไกลจาก พิพิธภัณฑ์สิรินธร สถานที่ขุดพบซากไดโนเสาร์ ซึ่งถูกนำมาผูกโยงกับภูมิปัญญาชุมชน เช่น ทอผ้าลายขิดไดโนเสาร์ สมุนไพรไดโนหอม มีอาหารพื้นถิ่นจากปลาเขื่อน กิจกรรมรำวง คองก้า และ นุ่งซิ่น นั่งสาด ตักบาตร 9 วัด ก็น่าสนใจ, “ชุมชนคุณธรรมบ้านเก่าริมน้ำประแส” จ.ระยอง ชุมชนที่ว่ากันว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ตลาดเก่าที่นี่ยังคึกคักทุกเช้าวันใหม่ มีกิจกรรมนั่งสามล้อพ่วงเที่ยวชม เรือรบหลวงประแส ทุ่งโปรงทอง ชมการทำน้ำปลาแบบดั้งเดิม ยามเย็นล่องแพเปียกไปชมเหยี่ยวแดง และที่นี่มีงานบุญ ทอดผ้าป่ากลางน้ำ ที่น่าสนใจ

“ชุมชนวัดศรีดอนคำ” จ.แพร่ มี วัดศรีดอนคำ เป็นศูนย์รวมของชุมชน มี ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดศรีดอนคำ แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมชุมชน มีกิจกรรม อาทิ ฝึกเล่นดนตรีพื้นเมืองที่โฮงซึงหลวง ทำอาหารอัตลักษณ์คนเมืองลอง น้ำพริกน้ำย้อย ชมพิพิธภัณฑ์โกมล ผ้าโบราณ เป็นต้น, “ชุมชนท่ามะโอ” จ.ลำปาง ชุมชนเก่าที่มีวิถีผูกพันกับอุตสาหกรรมป่าไม้ในครั้งอดีต มีกิจกรรมชมบ้านหลุยส์ ที ลีโอโนแวนส์ ชม บ้านโบราณ นั่งรถม้าชมเมือง เรียนรู้ วิถีคนเลี้ยงม้า ที่บ้านม้าท่าน้ำ เดินถนนสายวัฒนธรรม เรียนรู้การทำผางประทีป ต้น  ผึ้ง ตัดตุงพญายอ, “ชุมชนบ้านผาบ่อง” จ.แม่ฮ่องสอน เป็นชุมชน 2 ชาติพันธุ์ ไทใหญ่ (ไต) และปกาเกอะญอ ที่อยู่รวมกันอย่างกลมกลืน มี ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคุณธรรมฯ เฮินไต ที่อยู่สุดทางอีกด้านของ สะพานข้าว ๙ เพื่อสุข สะพานไม้ไผ่ที่ทอดยาวในนาข้าว เรียนรู้ภูมิปัญญา เช่น สานกุ๊บไต ทอผ้ากี่เอวปกาเกอะญอ เดินกาดซอกจ่า แช่น้ำพุร้อน

“ชุมชนบ้านศรีดอนชัย” จ.เชียงราย ชุมชนที่ยังรักษาวัฒนธรรมไทลื้อจากดินแดนสิบสองปันนา มี วัดท่าข้ามศรีดอนชัย เป็นศูนย์รวม มี ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ มีเฮือนเอื้อยคำ เฮือนไทลื้อ 100 ปี ที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิม มีศูนย์เรียนรู้ผ้าทอไทลื้อบ้านแม่ครูดอกแก้ว ธีระโคตร, “ชุมชนลับแล” จ.อุตรดิตถ์ มีเอกลักษณ์หลากหลายชาติพันธุ์ผสานกันเป็นอัตลักษณ์ลับแล  มีสถานที่รวบรวมสืบทอดภูมิปัญญา มี พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน และที่นี่ยังเด่นเรื่องอาหารที่หลากหลาย มี ถนนคนกิน ที่สะท้อนชัด ทั้งหมี่พัน ข้าวพันผัก ฯลฯ จนถึงร้านเจ๊นีย์ของทอดเจ้าดัง, “ชุมชนสามช่องเหนือ” จ.พังงา ชื่อมาจากคลอง 3 สายไหลผ่าน หมู่บ้านที่มีพื้นที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยป่าชายเลนผืนใหญ่ ไปพายคยัคชมป่าโกงกาง ปลูกป่าชายเลน งมหอยแครง หาหอยหลักควาย ทำความรู้จัก สมุนไพรเหงือกปลาหมอ ชมสตรีทอาร์ตเล่าเรื่องราวชุมชน ต้นปีปี แสมดำคู่อายุกว่า 80 ปี

“ชุมชนบางใบไม้” จ.สุราษฎร์ธานี วิถีชุมชนที่มีคลองและแม่น้ำตาปีเป็นสิ่งเชื่อมโยงท่ามกลางกระแสทุนและเมืองที่รุกคืบ มีกิจกรรมเที่ยว ตลาดน้ำบางใบไม้ สัมผัสวิถีคนในบาง ล่องเรือแจวชมอุโมงค์จาก ค่ำคืนก็ล่องเรือชมหิ่งห้อย และค้นหาเรียนรู้ ภูมิปัญญาแห่งลุ่มน้ำตาปี ที่สวนลุงสงค์ พักโฮมสเตย์ที่ริมวัง, “ชุมชนแหลมสัก” จ.กระบี่ ชุมชน 3 วัฒนธรรมที่อยู่กันกลมกลืนมานับร้อยปี ค้นหาความหมายวัฒนธรรม 3 สายที่ 3 แยกวัฒนธรรม วัดมหาธาตุแหลมสัก มัสยิดซอลาฮุดดีน ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย ชมหาดทรายกลางทะเลอันดามัน เรียนรู้วิถีประมง ทำขนมโกซุ้ย ขนมท้องถิ่นโบราณ, “ชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง” จ.ตราด ที่นี่เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ อยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทยตรงข้ามเกาะช้าง มีการ อนุรักษ์วิถีดั้งเดิม และ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมต้อนรับผู้ไปเยือน อาทิ หมกทรายแดง ทำผ้ามัดย้อมสามป่า ทำลูกประคบ ทำสมุนไพรแช่เท้า ชิมเมนูเด็ดจากหอยถ่าน

“ชุมชนบ้านแหลมมะขาม” จ.ตราด หมู่บ้าน 2 ประวัติศาสตร์ 3 วัฒนธรรม 3 ศาสนา ในพื้นที่วัดที่นี่มีทั้งโต๊ะวาลีศาสนาอิสลาม ศาลเจ้าชาวจีน อยู่ในบริเวณเดียวกัน มีกิจกรรมงมหอยปากเป็ด เยี่ยม ศูนย์เรียนรู้ตามรอยเสด็จฯ พระพุทธเจ้าหลวง พิพิธภัณฑ์หุ่นไม้กระดาน เรียนรู้จักสานคลุ้ม, “ชุมชนบางกอบัว” จ.สมุทรปราการ กับเรื่องเล่าคลองแพ 1 ใน 35 คลองพื้นที่ บางกะเจ้า ที่เคยเชื่อมต่อไปมาหาสู่กันในวันที่การสัญจรทางน้ำยังเป็นทางหลัก มีกิจกรรม ล่องเรือชมอุโมงค์จาก ชิมเมี่ยงกลีบบัวพริกเกลือ แกงกรุบมะพร้าวกุ้งสด ขนมจาก ลองทำผ้ามัดย้อมลายใบจาก ทำและแช่สมุนไพรแช่เท้า, “ชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ” จ.เชียงใหม่ ที่นี่ยังรักษาภูมิปัญญา วัฒนธรรม วิถีอันเป็นเอกลักษณ์ โดยมี วัดศรีมุงเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจ มี ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไตลื้อลวงเหนือ บ้านใบบุญ เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรม ลองชิมอาหารไตลื้อ นั่งรถอีแต๊กชมทุ่งนาฟ้ากว้าง

…ทั้งนี้ ทาง “เดลินิวส์” ก็ขอร่วมเชิญชวนทุกท่านอีกครั้ง หากมีโอกาสก็ลองไป “ท่องถึงถิ่น เที่ยวฟินวัฒนธรรม” ที่ชุมชนต่าง ๆ ดังที่ระบุมา รวมถึงชุมชนอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่มีอีกมากมายทั่วไทย ส่วน “เดลินิวส์” ที่ยืนหยัด “ก้าวสู่ปีที่ 59” แห่งการก่อตั้ง เราจะยังคงมุ่งมั่น “สร้างสรรค์” และ “ส่งเสริมชุมชนทั่วไทย” โดยการดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาไทยต่าง ๆ และโดยเฉพาะการ “สืบสานวัฒนธรรมไทย” นั้นก็จะยังคงเป็นหนึ่งในพันธกิจของเรา…

สื่อความจริง…สื่อเพื่อมวลชนชาวไทย…

สื่อค่ายสีบานเย็น…เดลินิวส์”.