“แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่มีอนาคต เพราะมีศักยภาพที่ต่างจากจังหวัดอื่น โดยเฉพาะความรุ่มรวยทางด้านวัฒนธรรมและการเป็นแหล่งศึกษาด้านโบราณคดี ที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยในการพัฒนาได้“ …นี่เป็นบางช่วงบางตอนจากที่ทาง ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุไว้ในระหว่างมอบนโยบายด้านการศึกษาวิจัยในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน หลังเยี่ยมชม “ถ้ำผีแมนโลงลงรัก” ที่ อ.ปางมะผ้า ซึ่งถือว่าเป็น “แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญ” เกี่ยวกับ “มนุษย์โบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์”…

ที่ “นักโบราณคดี-นักวิชาการทั่วโลกต่างก็สนใจ”

“แม่ฮ่องสอน” น่าจะ “ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ได้”

ทั้งนี้ มีการเสนอ มีการผลักดัน ให้ จ.แม่ฮ่องสอน ใช้ประโยชน์จาก “ความรู้ที่พบจากงานวิจัยเชิงโบราณคดี” รวมถึง “องค์ความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาวิจัย” ดังกล่าว มีการเสนอไว้บนเวทีเสวนา “แม่ฮ่องสอนโมเดล : ภูมิทัศน์พิเศษทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเวทีนี้มีการรวบรวมนักวิชาการหลากหลายสาขา กับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ขึ้นเวทีเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการ “นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่” ซึ่งสำหรับ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ก็ได้มีการเน้นย้ำว่า…

การจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ “จำเป็นต้องใช้วิธีคิดใหม่”

คิดแบบ “Big Perspective” ให้เกิด “ก้าวกระโดด”…

นอกจากการมอบนโยบายแล้ว บนเวทีเสวนาดังกล่าวนี้ ยังได้มีการนำเสนอ “องค์ความรู้ใหม่ ๆ” ที่ค้นพบจากการศึกษา
วิจัยในพื้นที่นี้อีกด้วย ที่ถึงแม้จะเป็น “พื้นที่ศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดี-ประวัติศาสตร์” แต่การทำงานก็มีลักษณะเป็นการ บูรณาการแบบสหศาสตร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิชาการต่างสาขา ต่างแขนง เข้ามา ร่วมกันทำงานศึกษาวิจัย นี้

รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้ามาร่วมศึกษา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต” บนเวทีนี้ว่า… โลงไม้สักที่พบในถ้ำผีแมนโลงลงรักน่าจะมีอายุราว 1,700 ปี ที่พบการกระจายในบริเวณพื้นที่ของอินเดีย เมียนมา และไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายไม้ของคนโบราณกลุ่มนี้ ที่สำคัญ…สภาพไม้ที่นำมาทำโลงผีแมนสามารถนำมาใช้ทำนายสภาพภูมิอากาศในอดีตได้ อย่างไรก็ตาม แต่ “ข้อจำกัดสำคัญ” เกี่ยวกับการศึกษานี้ก็ยังมีอยู่ นั่นคือ “ไทยยังมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับยุคก่อนประวัติศาสตร์น้อยมาก”

ไม่เพียงมีการศึกษาเรื่องของ “วงปีไม้-ภูมิอากาศยุคโบราณ” เท่านั้น กับ “ดีเอ็นเอ” ก็มีการศึกษาวิจัยเช่นกัน เพื่อจะ “ต่อจิ๊กซอว์สังคมมนุษย์โบราณ” โดยทาง รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้ กล่าวถึง ดีเอ็นเอคนโบราณในปางมะผ้า ว่า…ถือเป็นดีเอ็นเอมนุษย์โบราณที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสาเหตุที่ต้องการศึกษาเรื่องนี้ เพราะต้องการทราบถึงโครงสร้างประชากรยุคโบราณ จึงนำดีเอ็นเอมนุษย์โบราณที่ปางมะผ้าเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอมนุษย์โบราณของบ้านเชียงและดีเอ็นเอของคนปัจจุบันที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในปางมะผ้า ซึ่งแม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่า… “คนโบราณในโลงไม้คือกลุ่มชาติพันธุ์ใด” แต่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมาก…

“แม้จะยังระบุไม่ได้ว่า… มนุษย์โบราณในปางมะผ้าเป็นชาติพันธุ์ใด แต่ก็ระบุได้แล้วว่า… น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ใช้ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก อาทิ เลอเวือะ และปะหล่อง และก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์โบราณบ้านเชียงเลย ซึ่งยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของมนุษย์โบราณบนพื้นที่สูง” …รศ.ดร.วิภู กล่าว

ขณะที่ในเรื่อง “สภาพพื้นที่ถ้ำ” ก็เป็นอีกเรื่องน่าสนใจ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาและถ้ำ อ.ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ได้อธิบายให้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ฟังถึง “ความสำคัญ” ของ “ถ้ำผีแมนโลงลงรัก” ระหว่างเยี่ยมชมว่า… ปางมะผ้ามีถ้ำผีแมนมากกว่า 70 แห่ง จึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยถ้ำแห่งนี้ถือว่าเป็น ถ้ำที่พบแหล่งกระดูกมนุษย์โบราณใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงควรค่าต่อการศึกษาวิจัย รวมถึงในทางถ้ำวิทยาและธรณีวิทยา จนสามารถผลักดันให้เป็น “มรดกสำคัญของโลก” ได้ โดย อ.ชัยพร เชื่อว่า… พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน “มีศักยภาพสูง-มีเอกลักษณ์เฉพาะ”…

น่าจะ “ใช้ประโยชน์จากความรู้งานวิจัย” ได้อย่างดี

ทั้งด้านการศึกษา “รวมถึงในแง่ของเศรษฐกิจด้วย”

ส่วน ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช หัวหน้าโครงการการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง อ.ปางมะผ้า ซึ่งขุดค้นถ้ำผีแมนโลงลงรักมาตั้งแต่ปี 2556 ก็ระบุไว้บนเวทีนี้ว่า… ภูมิทัศน์พิเศษของแม่ฮ่องสอนมีมูลค่าที่ประเมินมิได้ ซึ่งนอกจากความรุ่มรวยทางธรรมชาติ กับความหลากหลายทางชาติพันธุ์แล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดผ่านสำคัญของการเคลื่อนย้ายประชากรในอดีตซึ่งเป็นแกนของวัฒนธรรมโลงไม้อีกด้วย ที่เชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง สามารถนำความรู้จากงานวิจัยเหล่านี้ไปใช้พัฒนาพื้นที่แม่ฮ่องสอนได้ ในฐานะอีกหนึ่ง “โมเดลใหม่”

ด้านการ พัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่สามารถ เชื่อมร้อย”

เชื่อม คุณค่างานวิชาการ” กับ มูลค่าเศรษฐกิจ”

โมเดลนี้…มาดูต่อใน “สกู๊ปเดลินิวส์” ตอนหน้า…