เดินทางมาถึงวันจบการศึกษาแล้ว เมื่อ นายชาตรี  วัฒนเขจร  รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการงานจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit : LRT) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ช่วงท้ายสัปดาห์เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา   ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

โดยเสนอสรุปผลการศึกษาข้อมูลโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงินการลงทุน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรูปแบบความเหมาะสมด้านการลงทุนโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก ทั้งแบบอินไซต์ และออนไซต์ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำโครงการให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ 

นายสาธิต มาลัยธรรม ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า จากการทบทวนผลการศึกษาเดิมเมื่อปี 56 พบว่า แนวเส้นทาง รูปแบบรถไฟฟ้า และความเร็วที่ใช้บริการ 80 กิโลเมตร(กม.)ต่อชั่วโมง(ชม.) มีความเหมาะสม หลังจากนี้จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนส่งรายงานสรุปผลการศึกษาฯ และรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เสนอกระทรวงมหาดไทย(มท.) พิจารณา

เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธา และงานระบบ พร้อมทั้งดำเนินการและบำรุงรักษา(O&M) โดยรัฐให้สิทธิ์แก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้ และเอกชนจ่ายค่าสัมปทาน หรือส่วนแบ่งของรายได้แก่รัฐ หากเห็นชอบจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการฯ ได้ประมาณต้นปี 66

นายสาธิต กล่าวต่อว่า หาก ครม. เห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่วมลงทุน และเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 67 โดยจะได้ผู้ลงทุน ลงนามสัญญา และเริ่มก่อสร้างประมาณปี 68 ใช้เวลาก่อสร้าง และทดสอบระบบ ประมาณ 4 ปี (ปี 68 –71) เปิดให้บริการในระยะ(เฟส)ที่ 1 ได้ในปี 72

กทม. ได้กำหนดให้รถไฟฟ้า LRT สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีชื่อเรียกว่า รถไฟฟ้าสายสีเงิน โครงการนี้มีระยะทาง 19.7 กิโลเมตร(กม.) มี 14 สถานี แบ่งดำเนินงานเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ 12 สถานี ระยะทาง 14.6 กม. และเฟสที่ 2 ธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ 2 สถานี ระยะทาง 5.1 กม.

“ผลการศึกษาโครงการฯ มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์มีค่าสูงกว่าเกณฑ์ในทุกกรณี โดยมีอัตราผลตอบแทนของโครงการด้านเศรษฐศาสตร์ (EIRR) อยู่ที่ 15.45% สำหรับค่าลงทุนโครงการรวม 1.35 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,181 ล้านบาท, ค่างานโยธาและงานระบบรถไฟฟ้า 36,020 ล้านบาท, ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 6,720 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 91,767 ล้านบาท โดยสัมปทานโครงการอยู่ที่ 30 ปี”  วรวัสส์ วัสสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์การร่วมทุนภาครัฐ และเอกชน ระบุ

นายวรวัสส์  บอกด้วยว่า  รถไฟฟ้ารางเบา มีขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็วสูงสุด 80 กม.ต่อชม. ใช้เวลาเดินทางไป – กลับ 1 ชั่วโมง รองรับผู้โดยสาร 15,000 – 30,000 คน/ชม. คาดว่าปีเปิดให้บริการปี 72 จะมีผู้โดยสาร 82,695 คน-เที่ยว/วัน และปี 76 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คน-เที่ยว/วัน

ในปี 78 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เปิดบริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คน-เที่ยว/วัน ส่วนอัตราค่าโดยสาร กำหนดในปีเปิดบริการปี 72 มีอัตราค่าแรกเข้า 14.4 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2.6 บาทต่อ กม. มีเพดานค่าโดยสารสูงสุด 45.6 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  ช่วงการเปิดให้ผู้ข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็น หลายคนเสนอให้ต่อขยายจากจุดเริ่มต้นบางนา มายังถนนสรรพาวุธ เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือวัดบางนานอก และสอดคล้องกับนโยบายเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ “ล้อ ราง เรือ” ของ กทม.  ทางที่ปรึกษาได้รับข้อเสนอส่งต่อกทม. แต่เบื้องต้นคงไม่สามารถต่อขยายได้ทันทีในครั้งนี้ เนื่องจากการต่อขยายต้องมีการศึกษา ไม่ใช่แค่ด้านการเงินการลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความคุ้มค่าด้วย.

รถไฟฟ้าน้องใหม่ แจ้งเกิดในชื่อ “สายสีเงิน”  เป็นรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบาสายแรกของไทย จากปัจจุบันที่มีรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีเป็นรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง&ชมพูเป็นโมโนเรลสายแรก(ขนาดเบาแต่ใช้รางเดี่ยว)  

จะมาเติมเต็มความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ที่สถานีบางนาและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงพัฒนาการ – สำโรง ที่สถานีศรีเอี่ยม รวมทั้งเชื่อมเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีสุวรรณภูมิใต้ด้วย

————————————

คอลัมน์ มุมคนเมือง

โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง