ปี่กลองเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประโคมแล้วเป็นช่วงสัปดาห์แรก ๆ นี่ก็ยังเหลือเวลาอีก 40 กว่าวัน การหาเสียงก็ยังคงทำไปเรื่อยๆ สลับกับการแสดงวิสัยทัศน์ออกสื่อ ซึ่งก็เชิญหน้าเดิมๆ ที่มีโอกาสเป็นตัวเต็งเสียส่วนใหญ่ คือ

  • นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล
  • นายสกลธี ภัททิยกุล เบอร์ 3 อิสระ
  • นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4 พรรคประชาธิปัตย์  
  • พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 กลุ่มรักษ์กรุงเทพ
  • น.ส.รสนา โตสิตระกูล เบอร์ 7 อิสระ
  • นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8 อิสระ
  • น.ต.ศิธา ทิวารี เบอร์ 11 พรรคไทยสร้างไทย

ตอนนี้ก็ยังถือว่า บรรยากาศเรื่อยๆ มาเรียงๆ เสนอวิสัยทัศน์กันได้เต็มๆ ไม่มีสาดโคลนใส่กัน โดยเฉพาะถ้าจะสาดนี่เห็นทีว่า “บิ๊กวิน” น่าจะโดนหนักสุด ด้วยข้อหาว่า “เป็นผู้ว่าฯ มาตั้ง 5 ปี 5 เดือน ทำไมไม่เห็นทำอะไร” ซึ่งเจ้าตัวก็แก้ต่างว่าทำอะไรเมื่อปีสองปีก่อนมันติดขัดไปหมดจาก ภาวะโควิดระบาด แต่ก็พยายามทำเต็มที่เช่นการเปิดจุดฉีดวัคซีนของ กทม. การทำรถโมบายฉีดวัคซีน การเปิดโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เพิ่ม และผลงานที่สำคัญคือ การเชื่อมล้อ-ราง-เรือ ซึ่งมี โครงการจะพัฒนาคลองสายสำคัญให้เป็นเส้นทางสัญจรนอกเหนือจากรถเมล์และรถไฟฟ้า

และ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สำคัญ ที่น่าจับตามองว่า “ถ้าบิ๊กวินไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ อีกสมัย จะออกมาอีหรอบไหน” คือปรับปรุงภูมิทัศน์ สวนลุมพินี และปรับปรุงคลอง ช่องนนทรี ซึ่งช่องนนทรีนี่โดนโจมตีหนักมากว่าเป็น โครงการแบบไม่คุ้มค่า ซึ่งโครงการมันก็ยังไม่เสร็จต้องรอดูกันไป…เหนือสิ่งอื่นใด เคยถามคนที่ฟัง “บิ๊กวิน” หาเสียง เขาบอกว่า “ผู้สมัครผู้ว่าฯ คนนี้หาเสียงน่าเบื่อ” คือมีแต่บอกทำนองว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ไม่มีโครงการใหม่ๆ แบบฟังแล้วต้องร้อง ว้าว!! น่าเลือกมาก นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ลดรายจ่ายไม่ชัด ทั้งที่จากภาวะโควิด คนสนใจเรื่องนี้มากเพราะปัญหาปากท้อง..เจ้าตัวบอกเป็นคนทำงานไม่ค่อยพูด แต่สมัยนี้ก็ต้องเข้าใจว่าการสื่อสารมันสำคัญ

มีเพจเป็นของตัวเอง และยังใช้เพจของ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง อดีตโฆษก กทม. ลูกชายคนเล็ก กับเพจคนลุยเมืองได้ ก็ใช้นำเสนอผลงานหรือแนวความคิดอะไรใหม่ๆ ดีๆ ได้ ..ไม่ใช่แค่เดินพบปะประชาชนตามตลาดตอนเช้า ไปกันเป็นขบวนจนบางคนก็ไม่ค่อยจะชอบใจ เป็นวิธีหาเสียงแบบดูโบราณอารมณ์ให้คนจำหน้าได้ แต่เรื่องนโยบายนี่โดนเหน็บตลอดว่ามีแต่คลองโอ่งอ่างเป็นจุดขาย..ซึ่ง “บิ๊กวิน” ควรเปิดโครงการอะไรใหม่ๆ ได้แล้วเพราะชาวบ้านเขาเปิดกันไปถึงไหนๆ แล้ว ตัวเองไม่เก่งการสื่อสารก็ต้องจัดทัพ จัดทีมใหม่ ให้คนรู้ว่าจะทำอะไรด้วยไม่ใช่ทำอะไรไปแล้วและจะทำต่อ ..เมื่อเปิดตัวผู้สมัคร โพลตอนนี้กลายเป็นชื่อ “บิ๊กวิน” หล่นจากที่ 2 ไปแล้ว ไม่รู้เพราะปัญหาสื่อสารไม่ดีหรือเปล่า

ขณะที่คนรุ่นใหม่เขาชอบการสื่อสารขอเบอร์ 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาก มีการเสนอ 200 โครงการในเว็บไซต์แบบค้นง่าย พิมพ์คีย์เวิร์ดคำที่เกี่ยวข้องเข้าไป ก็จะปรากฏขึ้นมาเองว่า มีโครงการอะไรบ้าง อย่างพิมพ์คำว่า “หมา” ก็อาจมีโครงการเกี่ยวกับการทำหมันหมาจร หรือจัดสวนสาธารณะที่ให้หมาเข้าไปวิ่งเล่นได้ แถมตอนนี้ชัชชาติกลายเป็น “ผู้ปฏิวัติวงการป้าย” ทำป้ายแคบจนผู้สมัครรายอื่นเลียนแบบ (ซึ่งก็ควรต้องเลียนแบบเพราะโดนด่ามากเรื่องป้ายบังทัศนวิสัย และหวังว่าจะเป็นแบบอย่างในการทำป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีทั่วเมืองต่อไปเร็วๆ นี้)

ชัชชาติเปิดนโยบายที่ทาง คนกลางคืน เขาฝากมาบอกว่า “ฟังแล้วชอบมาก” คือนโยบาย “ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน” เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนทำงานกลางคืน คนเลิกงานกลางคืน เกี่ยวกับเรื่องการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย เช่น การจัดรถเมล์ 24 ชั่วโมง การจัดเพิ่มกล้องวงจรปิดและไฟสาธารณะ ซึ่งคนทำงานกลางคืนหลายคนเขาเลิกงานก็ตามเวลาผับบาร์ ร้านอาหารปิด ก็หลังเที่ยงคืน การมีรถเมล์เพิ่มจะลดค่าใช้จ่ายได้ ไม่ต้องไปนั่งแท็กซี่ และปลอดภัยขึ้นด้วยหากมีกล้องวงจรปิดเพิ่ม เพราะผับ บาร์ หรือร้านอาหารหลายร้าน ที่เป็นที่แฮงก์เอาต์ของคนกรุงก็อยู่ในตรอกซอกซอย

เจ้าตัวยังพูดทำนองว่า “เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับปรุงที่เที่ยวย่านกลางคืนของกรุงเทพฯ ให้สวยงาม เพื่อให้เห็นกรุงเทพฯ ในอีกมิติ” ซึ่งคำว่า “ที่เที่ยวย่านกลางคืน” มันก็มีหลายแห่ง ทั้งพวกตลาดสตรีทฟู้ด พวกย่านผับบาร์ ถ้าเป็นย่านตลาดสตรีทฟู้ดก็ใช้วาดผนัง หรือศิลปะกราฟฟิตี้ได้ ..เห็นการวาดรูปตกแต่งผนังบริเวณคลองโอ่งอ่างอยู่…เมืองกรุงเทพฯ ย่านกลางคืนมีตั้งหลายอารมณ์ ถ้าสมมุติ เยาวราช ก็ลองพิจารณาเรื่องแต่งเป็นบรรยากาศฮ่องกงเก่าๆ ..ย่านที่มีสีสันอย่างย่านสีลมหรือทองหล่อ ก็จัดบรรยากาศแบบโมเดิร์น แล้วแต่จะออกแบบ สมัยนี้แค่สถานที่, โรงแรมแต่งสวยๆ คนก็อยากมาถ่ายรูปเช็กอินแล้ว การทำเมืองให้มีศิลปะมันกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง

ช่อ พรรณิการ์

แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า ทางชัชชาติเองก็กำลัง เริ่มมีผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายออกมาบ้าง แล้ว คือกรณี น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาโพสต์ไม่เอาเรื่อง การจัดโซนนิ่งการชุมนุม เพราะเป็น การลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การชุมนุมแต่ในพื้นที่รัฐจัดให้เท่ากับต้องสยบยอมต่ออำนาจเผด็จการ ไม่มีอะไรเป็นพลังพอที่จะสะเทือนผู้มีอำนาจได้ อย่าพรากอำนาจในการต่อสู้ของประชาชนไป แล้ว นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็รับลูก ทำนองว่า ถ้าไม่ปกป้องสิทธิการชุมนุมของคนกลุ่มอื่น วันหนึ่งเราต้องชุมนุมบ้าง จะมีใครมาปกป้องเรา พร้อมยืนยันว่า ผู้ชุมนุมต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชนกลุ่มอื่นๆ อยู่แล้ว ก็ไม่อยากกระทบกระทั่งหรือให้เกิดปัญหากับใครหรอก

อันนี้ก็พูดยาก ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การชุมนุมทางการเมืองในบ้านเราเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางเรื่องก็ไม่รู้ชุมนุมเอาอะไรนอกจากแสดงสัญลักษณ์ ซึ่ง เสรีภาพมันก็ควรต้องใช้อยู่บนความรับผิดชอบต่อผู้อื่นด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีกลุ่มทะลุอะไรมั่วซั่วก่อจลาจลแถวดินแดงอยู่พักหนึ่ง ทำลายทรัพย์สินราชการ  ทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับ “การใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต” ก็มี แล้วอะไรจะเป็นจุดร่วมที่เหมาะสมที่ถือว่า ชุมนุมได้โดยไม่ละเมิดผู้อื่น? เรื่องนี้เมื่อมีผู้นำกลับไปถามชัชชาติ ก็ได้คำตอบแบบอมๆ ว่า “ประชาชนมีสิทธิในการแสดงออกในความเห็นที่ต่างกัน เคารพความเห็นที่แตกต่าง ส่วนรายละเอียดเราต้องฟังจากหลายๆ ฝ่ายก่อนแล้วค่อยคิดเป็นนโยบาย ยังมีเวลาค่อยมาประมวลความคิดอีกครั้งหนึ่ง”

ขณะที่ น.ต.ศิธา มองเรื่องการแก้ปัญหาการชุมนุมทำนองว่า ให้ไปชุมนุมที่ไหนก็ไม่สำคัญ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล, ผู้มีอำนาจนั่นแหละจะรับฟังผู้ชุมนุม ทำตามข้อเรียกร้องได้แค่ไหน เมื่อรู้ถึงปัญหาแล้วก็ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล แต่เรื่องความสะอาดและความสะดวกสบาย เราก็เป็นที่จำเป็นต้องทำด้วยการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนกระทบกระเทือนบุคคลอื่นๆ…ก็คือมองการชุมนุมต้องอยู่ในกรอบ

ตอนนี้นโยบายที่ผู้สมัครแต่ละคนชูขึ้นมา คือเพิ่มเงินดูแลกลุ่มเปราะบาง คือ เด็ก คนแก่ คนพิการ ช่วยให้ไม่เป็นภาระต่อวัยทำงานมาก อย่างที่ นายวิโรจน์ บอกว่า “เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนเข้ามาทำตามความฝัน” ซึ่ง “บิ๊กวิน” ก็มักจะพูดทำนองเดียวกันคือ “กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คน (รวมถึงตัวบิ๊กวินด้วย) เข้ามาหาความฝัน” และนโยบายที่ถูกพูดถึงมากคือการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละชุมชนดูแลแก้ปัญหากันเอง อย่างของ น.ต.ศิธา ก็ให้มีสภาประชาชน ที่ทำเรื่องเสนอโครงการเข้ามาขอใช้งบ ซึ่งตรงนี้ต้องระวังเรื่องความโปร่งใส และระวังการถูกครหาว่า “เพื่อเป็นการหาหัวคะแนน” ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองในวันนี้หรือคนเตรียมจะเป็นนักการเมือง แต่จะเอานโยบายนี้ไปใช้ก็ตาม

ของ น.ต.ศิธา มีนโยบายที่เปิดไปแล้วน่าสนใจ คือ มีเน็ตเวิร์กให้ประชาชนประเมินผลข้าราชการได้ ซึ่งก็ทำให้คนอยากมีส่วนร่วมในเรื่องการพัฒนาเมืองมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา หลายคนบ่นว่าเวลาร้องเรียนอะไรกับฝ่ายประจำแก้ปัญหายากเย็น ถ้ามีกลไกให้ประเมิน ให้คะแนน มีผลต่อการปรับ เลื่อน ย้ายตำแหน่งก็ดีไม่น้อย…ข้างฝ่าย “จั๊ม สกลธี” ตอนนี้กำลังชูนโยบายเรื่อง เปลี่ยนที่รกร้าง หาทางเท้าเพิ่มให้พ่อค้าแม่ค้าขายของเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ต่อไปคงมีนโยบายอะไรใหม่ๆ ออกมาอีก เผลอๆ อาจเป็นนโยบายที่ปรับใช้จากท้องถิ่นสู่ประเทศในการเลือกตั้ง.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”