แผนยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ของตะวันตก กำลังยกระดับบรรยากาศตึงเครียดด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สหรัฐและจีนแสดงออกอย่างไม่ปิดบัง ว่าต้องการช่วงชิงความมีอิทธิพลเหนืออีกฝ่าย ในภูมิภาคแห่งนี้ โดยเฉพาะในด้านการทหาร อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกัน การขับเคี่ยวระหว่างสองประเทศมหาอำนาจกำลังทำให้ประเทศขนาดกลางและเล็กในภูมิภาค อยู่ในสถานะที่เรียกว่า “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” กันถ้วนหน้า

การสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังคงยืดเยื้อ และสร้างแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างในทางภูมิศาสตร์การเมืองโลก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ให้ความเห็นเมื่อไม่นานมานี้ ว่าการที่จีนซึ่งทุกฝ่ายทราบกันดีว่า “เป็นพันธมิตรสำคัญ” ของรัฐบาลมอสโก ยังคงมีท่าทีนิ่งเฉยสวนทางกับประชาคมโลก ด้วยการไม่ประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน และ “เลือกเดินบนเส้นทางแบบเดียวกัน” กับรัฐบาลมอสโก เป็นท่าทีที่นาโตกังวลเป็นอย่างยิ่ง และ “โลกประชาธิปไตย” ควรร่วมกันแสดงจุดยืน “ต่อต้านการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ”

นาโตกล่าวว่า ท่าทีดังกล่าวของจีนถือเป็น “ความท้าทาย” และยิ่งทำให้นาโตร่วมด้วยพันธมิตร “ทั้งในและนอกภูมิภาค” ต้องเพิ่มการปกป้อง “คุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตย” พร้อมทั้งเผยว่า นาโตและพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เห็นพ้องยกระดับความร่วมมือในมิติทางการเมืองและความมั่นคง ที่รวมถึง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล การหาทางบรรเทาความรุนแรงของภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และท่าทียืดหยุ่นในมิติที่สำคัญ

บรรยากาศการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศนาโต ที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม เมื่อต้นเดือนเม.ย. 2565

ขณะที่สหรัฐซึ่งถือเป็น “สมาชิกระดับแกนนำ” ของนาโต มีนโยบายกำหนดประเทศและดินแดนให้เป็นพันธมิตรหลักนอกนาโต ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ปัจจุบัน ประเทศและดินแดนที่อยู่ในกลุ่มนี้ มีอย่างน้อย 20 ประเทศและดินแดน ได้แก่ ออสเตรเลีย อียิปต์ อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จอร์แดน นิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา บาห์เรน ฟิลิปปินส์ ไทย ไต้หวัน คูเวต โมร็อกโก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ตูนิเซีย บราซิล กาตาร์ และโคลอมเบีย

จะเห็นได้ว่า บรรดาประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มพันธมิตรหลักนอกนาโต อยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก โดยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็น 4 ประเทศซึ่งได้รับเชิญจากนาโต ให้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ด้วย

แม้สหรัฐเดินเกมรุกอย่างหนักมากขึ้นด้านความมั่นคงมากขึ้นอย่างชัดเจนในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งล่าสุดคือการเคลื่อนไหวของนาโต อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียมีภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ทั้งแตกต่างและซับซ้อน จึงยังเป็นเรื่องห่างไกลมาก หากตะวันตกจะมองว่า กลุ่มประเทศในแถบนี้จะรวมตัวกันสถาปนาสหภาพทางทหารแบบเดียวกับนาโต

ขณะเดียวกัน ไม่มีประเทศใดในเอเชียถือว่าจีน “คือภัยคุกคามอย่างแท้จริง” ไม่ว่าจะในทางทหารหรือทางเศรษฐกิจ แม้มีความขัดแย้งกัน แต่ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ล้วนต้องพึ่งพิงและมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ในระดับมากน้อยแตกต่างกันไป ดังนั้น หากกลุ่มประเทศในเอเชียต้องการรวมตัวเป็นสหภาพทางทหารให้ใกล้เคียงกับนาโตมากที่สุด นั่นเท่ากับว่า ต้องตัดขาดจีนออกจากแทบทุกช่องทางของความร่วมมือที่มีอยู่ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด

เจ้าหน้าที่ของจีนร่วมการลาดตระเวนประจำปีในลุ่มน้ำโขง ร่วมกับลาว เมยนมา และไทย ที่มณฑลยูนนาน เมื่อเดือนม.ค. 2565

ทั้งนี้ การสร้างกฎระเบียบในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ท่ามกลางบรรยากาศที่จีนผงาดอำนาจขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หลายฝ่ายมองเอเชีย-ตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้การจับตามากที่สุด นัยว่าเกี่ยวข้องกับนโยบายพื้นฐานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ที่ระบุ “ความเป็นกลาง” และ “การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด”

การรวมกลุ่มบนหลักการทางทหารของอาเซียนอาจไม่เหมาะนัก และหากเกิดขึ้นจริงอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากศักยภาพทางทหารของประเทศสมาชิกซึ่งยังคงแตกต่างกันมาก ตลอดจนความแตกต่างขั้นพื้นฐานระหว่างสมาชิกแต่ละประเทศด้วย จึงยังคงเป็นไปไม่ได้มากนัก ที่สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะสามารถจัดตั้งกลไกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบริหารจัดการ และรักษาสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเข้าแย่งชิงพื้นที่สร้างอิทธิพลกันที่นี่

อย่างไรก็ดี กลไกที่อาเซียนอาจร่วมกันได้ น่าจะรวมถึงการสร้างกติกาการทูตแบบพหุภาคี ที่ต้องปราศจาก “การเลือกข้าง” โดยควรให้แตกต่างจากสิ่งที่กลุ่มความร่วมมือไตรภาคี “ออคัส” และกรอบความร่วมมือจตุภาคี “ควอด” กำลังดำเนินการ

กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ เลือกพึ่งพาอาศัยและร่วมมือกับสองประเทศยักษ์ใหญ่คนละด้านอย่างชัดเจน นั่นคือ ความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐ และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับจีน ในอนาคตหากสามารถเพิ่มการถ่วงดุลและคาจอำนาจได้อย่างเหมาะสม การรวมกลุ่มทางทหารแบบนาโตถือว่า “ไม่มีความจำเป็น”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS, GETTY IMAGES