หลายคนผ่านการเดินทางอันเหน็ดเหนื่อยจากวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ การขับรถในระยะทางไกลที่ว่างเว้นไปในช่วงการระบาดของของโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง และเราได้เห็นตัวเลขอุบัติเหตุของผู้เสียชีวิตบนท้องถนนจำนวนมากกลับมาในช่วงวันหยุดยาว

ถอดบทเรียนของอุบัติเหตุสำคัญนอกจากเมาแล้ว และขับรถเร็ว สาเหตุของการพักผ่อนไม่เพียงพอจนเกิดอาการหลับในระหว่างขับรถเป็นอีกสาเหตุสำคัญ เวทีคุยเรื่องถนน ผ่านระบบ ZOOM จัดโดย แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในหัวข้อ “ถนนนี้กลับบ้าน” โดย นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ในฐานะประธานทุนง่วงอย่าขับ มูลนิธิรามาธิบดี ได้อธิบายว่าปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การหลับในว่า คือ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ  

โดยปกติคนเราต้องการนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (ชม.) แต่หากนอนเพียงแค่ 4-5 ชม. ร่างกายจะเรียกคืน ด้วยการสั่งให้หลับชดเชย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ง่วงที่สุด ตามนาฬิกาชีวิตของคนเรา คือช่วง 14.00-16.00 น. และช่วง 00.01-07.00 น. สองช่วงนี้โอกาสหลับใน จะมากกว่าช่วงเวลาอื่น เรียกว่านาฬิกาชีวิตบังคับให้ง่วง หากกำลังขับรถทางไกลจะยิ่งง่วงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงทางตรงที่ร่างกายไม่ได้ขยับเขยื้อน

สำหรับอาการบ่งชี้หรือสัญญาณเตือนว่าอีกไม่นานอาจหลับในได้นั้น สังเกตได้ไม่ยาก คือ อาการหาวแล้วหาวอีก พยายามลืมตาแต่ลืมไม่ขึ้น บังคับรถให้อยู่ในเลนลำบาก จำเหตุการณ์ก่อนหน้า หรือขับผ่านจุดต่างๆ โดยไม่รู้ตัว หากมีอาการเหล่านี้ การเปิดหน้าตาหรือเปิดวิทยุ ไม่สามารถช่วยให้ตื่นตัวหรือหายจากความเสี่ยงหลับในได้ ผู้ขับขี่ควรหาจุดแวะจอดพักทันที โดยระหว่างนั้นสามารถคุยกับคนที่นั่งมาด้วย หรือเคี้ยวหมากฝรั่งขยับปากจะช่วยให้สมองตื่น 

มื่อถึงจุดจอดพักหรือปั๊มน้ำมัน มีเคล็ดลับง่ายๆ คือให้กินกาแฟก่อนงีบหลับ โดยใช้เวลางีบ 10-15 เท่านั้น เป็นช่วงที่กาแฟจะออกฤทธิ์พอดี เมื่อตื่นขึ้นมาร่างกายจะสดชื่น สามารถขับต่อไปได้นานอีกหลาย ชม. อย่างไรก็ตาม การงีบหลับไม่ควรนานเกินไป เพราะยิ่งหลับนานเมื่อตื่นร่างกายจะงงงวย เมื่อขับต่อจะยิ่งก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งผู้ร่วมทางหากเห็นท่าไม่ดี รถคันข้างๆ หรือขับสวนมาแปลกๆ เป๋ไปเป๋มา แนะนำให้กดแตรเตือนจังหวะสั้นๆ 2-3 ครั้ง เสียงแตรจะทำให้ตื่น เพราะการหลับในเป็นการหลับแบบตื่นๆ อย่าเปิดไฟกะพริบเด็ดขาด จะกลายเป็นตัวเรียกให้รถพุ่งมาหาเรา

“เส้นทางตรงยาวหลายกิโลเมตร (กม.) คนขับจะนั่งเฉยๆ ทำให้ง่วงได้มากกว่าปกติ เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่ขับทางตรงอยู่ดี รถก็เป๋หรือหลุดออกจากเลน พุ่งชนต้นไม้ วัตถุอันตรายข้างทาง เสาไฟฟ้า หรือท้ายรถบรรทุก ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุเดี่ยวไม่มีคู่กรณี และไม่มีรอยเบรก ส่วนการเดินทางในช่วงเทศกาล ที่มักมีรถติดขัดเป็นเวลานาน จุดที่รถติดเคลื่อนตัวช้าๆ ก็ยิ่งทำให้น่าเบื่อ และง่วงตาจะหลับได้เช่นกัน วิธีแก้ง่ายๆ คือหาหมากฝรั่งเคี้ยวหรือร้องเพลง จะช่วยให้ตื่น และขับผ่านจุดรถติดไปได้อย่างปลอดภัย” นพ.มนูญ แนะนำ 

ข้อมูลย้อนหลังในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ของ กรมทางหลวง (ทล.) พบว่าการหลับในนั้นเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเพียง 4% ในภาพรวม แต่ในความเห็นของคุณหมอ ผู้ทำงานด้านการป้องกันและรณรงค์ ลดอุบัติเหตุทางถนนจากการหลับใน มองว่าตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง!

นพ.มนูญ ระบุว่า รายงานตัวเลขอุบัติเหตุทางถนนอันมีสาเหตุเกิดจากการหลับในในบ้านเรา น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงค่อนข้างมาก โดยช่วง 20 ปีก่อน ประเทศไทยรายงานอยู่ที่ประมาณ 0.8% ของอุบัติเหตุทั้งหมด ถัดมาช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขยิบขึ้นมาเป็น 3-4% ล่าสุด กรมทางหลวง อัพเดทตัวเลขประมาณ 7-8% แต่ก็ถือว่ายังต่ำมากอยู่ดี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนตัวคาดว่าสูงถึงปีละ 30% แต่ถูกยัดรวมไปกับสาเหตุอื่น เช่น ขับเร็ว เมาแล้วขับ ขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ที่ให้ความสำคัญกับการหลับในอย่างมาก เช่น สหรัฐ รายงานตัวเลขปีละ 21% และยุโรป 20-25%

“อันตรายจากการหลับในขณะขับขี่ สามารถคร่าชีวิตคนเราได้เพียงเสี้ยววินาที เพราะเราไม่สามารถบังคับสมองได้ว่าอย่าหลับนะ และสมองก็ไม่สนใจด้วยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ การหลับป๊อกไปเพียง 4 วินาที ที่ความเร็ว 90 กม./ชม. รถจะเคลื่อนไป 100 เมตร โดยไร้การควบคุมและพุ่งชนเต็มที่ แรงปะทะเทียบเท่าตกตึก 10 ชั้น ทำให้ผู้ประสบเหตุเสียชีวิต 100% ฉะนั้น การเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะขากลับที่ผ่านการพบปะ เลี้ยงฉลองสังสรรค์ ทำให้พักผ่อนน้อยและไม่เพียงพอ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการหลับในมากขึ้น” นพ.มนูญ กล่าว

ประธานทุนง่วงอย่าขับ มูลนิธิรามาธิบดี ย้ำว่าการ “หลับใน” ขณะขับขี่ เกิดขึ้นได้กับทุกคน และร่างกายไม่สามารถขัดคำสั่งสมองได้ จากการสำรวจผู้ขับขี่กลุ่มต่างๆ พบว่า ล้วนแต่เคยหลับในระหว่างขับขี่ทั้งสิ้น ดังนี้ 1.กลุ่มขับรถบรรทุกน้ำมัน 53% 2.กลุ่มมอเตอร์ไซค์ 38% 3.กลุ่มคนขับรถเก๋ง 36% 4.พนักงานขับรถ บขส. 28%

สำหรับข้อเสนอการผลักดันเชิงนโยบายนั้น คุณหมอ ชี้ว่าต้องเริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องมีหลักสูตร ให้ความรู้ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญ เพราะ “หลับในฆ่าคุณได้” สอนให้รู้จักอาการและวิธีการป้องกัน ต่อมาเมื่อสอบใบขับขี่ก็ต้องเน้นย้ำในเรื่องนี้ด้วย และทางกฎหมายควรกำหนดระยะเวลา การขับติดต่อกันนานๆ ทุก 2 ชม. ควรให้หยุดพัก 15 นาที ในต่างประเทศจะทำจุดพักรถบรรทุกทุก 50-100 กม. แต่ในบ้านเราปัจจุบันทั่วประเทศมีเพียง 13 แห่งเท่านั้น

30 กว่าปีที่แล้ว สมัยเรียนอยู่ที่อเมริกา มีเคสคนขับรถหลับในชนเด็กเสียชีวิต ตอนแรกศาลตัดสินว่าคนขับไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องที่ร่างกายควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่แม่ของเด็กคนนี้ออกมาต่อสู้ จนในที่สุดศาลตัดสินว่าผู้ขับขี่คนนี้มีความผิด เพราะการหลับในเป็นต้นตอนำไปสู่อุบัติเหตุ และกำหนดเป็นความผิดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับบ้านเราด้วย” นพ.มนูญยกตัวอย่าง

สุดท้ายคุณหมอย้ำว่า วิธีป้องกันการหลับในที่ดีที่สุด คือต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งไม่ใช่การนอนครบ 8 ชม. ก่อนวันเดินทางเท่านั้น ควรนอนสะสมให้พอทุกวัน

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง