@@@@ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2565 นาย Andrew Park กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ได้มาเป็นประธานฝ่ายฆราวาสงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2565 ที่วัดไทยพุทธาราม นครบริสเบน ซึ่งเป็นวัดไทยที่ใหญ่ที่สุดในรัฐควีนส์แลนด์ เป็นศูนย์รวมทางพุทธศาสนาของคนไทยในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2538 มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีที่ดีงามของไทยในนครบริสเบนและเมืองใกล้เคียง และมีคนไทยและคนต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน ภายในงาน มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การสรงน้ำพระพุทธรูป การรดน้ำพระสงฆ์ การแสดงนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทย การประกวดนางงาม นอกจากนี้ มีการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไทย ของที่ระลึก อาหารและขนมไทยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ตลอดจนบริษัทของคนไทย เช่น บริษัทอสังหาริมทรัพย์การท่องเที่ยว/วีซ่า และอื่นๆอีกมาก งานประเพณีสงกรานต์หรืองานปีใหม่ของไทยถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ชุมชนไทยในนครบริสเบนและเมืองใกล้เคียง เช่น Logan, Gold Coast, Sunshine Coast ได้พบปะทำความรู้จักกัน สร้างเครือข่ายทางชุมชนและธุรกิจ เผยแพร่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวไทย และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทยให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมออสเตรเลียได้อย่างภาคภูมิใจและมีศักดิ์ศรี ขออนุโมทนาขอบคุณผู้สนับสนุนทุกท่าน ที่ช่วยให้การดำเนินงานจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอให้เจริญในหน้าที่การงานและเจริญในชีวิตยิ่งๆขึ้นไปเทอญฯ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2565 วัดไทยพุทธาราม นครบริสเบน ได้จัดงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2565 ที่วัดไทยพุทธาราม ซึ่งเป็นวัดไทยที่ใหญ่ที่สุดในรัฐควีนส์แลนด์ เป็นศูนย์รวมทางพุทธศาสนาของคนไทยในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2538

@@@@ เมื่อวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ.2565 วัดไทยพุทธาราม ได้จัดงานเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา นำแนวคิดของมหาชาติเวสสันดรชาดกมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเพื่อสืบทอดประเพณีการเทศน์มหาชาติที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล อันเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่นคงต่อไป มีการเทศน์วันเดียวทั้ง 13 กัณฑ์ 1,000 พระคาถา โดยพระครูวิเศษสังฆกิจ เจ้าอาวาสวัดช้าง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง และพระใบฎีกากิตติภูมิ กนฺตสีโล พระธรรมทูตวัดไทยพุทธาราม เป็นพระธรรมกถึก เทศน์ 2 ธรรมาสน์ ขออนุโมทนาบุญกับคณะเจ้าภาพทุกท่านที่ได้ทำบุญในแต่ละกัณฑ์ ทำให้ประสบผลสำเร็จในการดำเนินชีวิตทุกท่านทุกคนเทอญฯ

วัดไทยพุทธาราม ได้จัดงานเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา นำแนวคิดของมหาชาติเวสสันดรชาดกมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเพื่อสืบทอดประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

@@@@ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต  ณ กรุงแคนเบอร์ราต้อนรับและบรรยายสรุปให้แก่นักศึกษาชาวออสเตรเลียที่ได้รับทุนจากโครงการ New Colombo Plan ประจำปี 2564 และ 2565 ของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลียเพื่อไปศึกษาและฝึกงานในประเทศไทยจำนวน 8 คน โดยมีนักศึกษาที่เคยได้รับทุนเมื่อปี 2559 และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียเข้าร่วมด้วย ในการบรรยายสรุป เอกอัครราชทูตฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญในการที่นักศึกษาได้รับโอกาสให้ไปเรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์และสร้างเครือข่ายในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกระชับความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ระหว่างไทยกับออสเตรเลียโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทยและเทศกาลสงกรานต์ เอกอัครราชทูตฯ ได้ให้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประเพณีวันสงกรานต์ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยด้วย ……………. โครงการ New Colombo Plan เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยรัฐบาลออสเตรเลีย ดำเนินการโดยกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลียซึ่งพิจารณาจัดสรรทุนให้แก่นักศึกษาออสเตรเลียที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเครือรัฐออสเตรเลียให้ไปศึกษาและ/หรือฝึกงานในประเทศต่างๆ  โดยมีจุดมุ่งหมายหลักให้นักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้เรียนรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายกับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศที่ไปศึกษาและฝึกอบรม เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นตัวแทนประเทศออสเตรเลียในการขวนขวายหาความรู้และประสบการณ์จากประสบการณ์ที่หลากหลายเพื่อเป็นการขยายโอกาสการทำงานและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียกับนานาประเทศในอินโดแปซิฟิก

เอกอัครราชทูต  ณ กรุงแคนเบอร์ราต้อนรับและบรรยายสรุปให้แก่นักศึกษาชาวออสเตรเลียที่ได้รับทุนจากโครงการ New Colombo Plan ของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลียเพื่อไปศึกษาและฝึกงานในประเทศไทยจำนวน 8 คน

@@@@ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้แทนได้เข้าพบหารือและรับประทานอาหารกลางวันตามคำเชิญของนาย Andrew Wallace ประธานสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลียที่รัฐสภาออสเตรเลีย โดยได้หารือประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียและความสัมพันธ์ทวิภาคีด้วย

เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้แทนได้เข้าพบหารือและรับประทานอาหารกลางวันตามคำเชิญของนาย Andrew Wallace ประธานสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลียที่รัฐสภาออสเตรเลีย

@@@@ จากการที่ได้พยายามสร้างสรรค์ผลงานทางดนตรีไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยการส่งผลงานทางดนตรีไทย เข้าร่วมการประกวดดนตรีโลกออนไลน์หลายรายการ จนในที่สุด ครูปลา พีรัญยา วิสิฐจันทรกูล ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีระดับนานาชาติ The International Music Competition “Grand Prize Virtuoso” สาขา World Music Instrument 2 รายการ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งรายการนี้ เป็นรายการที่เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมแข่งขันจาก 71 ประเทศท่ัวโลก ได้แก่ Albania, Anguilla, Argentina, Armenia, Australia, Austria, Belarus, Belgium, Bosnia and Herzegovina, Brazil, Bulgaria, Canada, Chile, China, Cyprus, Colombia, Costa Rica, Croatia, Cuba, Czech Republic, Denmark, Dominican Republic, Finland, France, Georgia, Germany, Greece, Hong Kong, Hungary, India, Indonesia, Ireland, Israel, Italy, Japan, Kazakhstan, Kyrgyzstan, Latvia, Lebanon, Luxembourg, Macau, Macedonia, Malaysia, Malta, Mexico, Mongolia, Netherlands, New Zealand, Norway, Philippines, Poland, Portugal, Romania, Russia, Serbia, Singapore, Slovakia, Slovenia, South Africa, South Korea, Spain, Sweden, Switzerland, Taiwan, Thailand, Turkey, Ukraine, Uzbekistan, United Kingdom, United States and Vietnam

กองประกวดจึงได้เชิญให้ไปทำการแสดงขิม และซออู้ ณ Gläserner Saal, Musikverein (Vienna, Austria) ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักดนตรีที่มีชื่อเสียงทั่วโลกได้มาทำการแสดงที่นี่ และเป็นความใฝ่ฝันของนักดนตรีหลายท่านในการมาเยือน Musikverein สักครั้งในชีวิต โดย ครูปลา พีรัญยา ได้ทำการแสดง และรับรางวัลในวันที่ 14 เมษายน 2565 หลังจากนั้นจึงเดินทางไปทำการแสดงขิม และซออู้อีกครั้ง ณ The Elgar Room, Royal Albert Hall (London, UK) ในวันที่ 18 เมษายน 2565 เดลินิวส์สอบถามเธอผ่านทางไลน์ว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง เธอเปิดเผยว่า “มีความรู้สึกภาคภูมิใจมาก ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เป็นตัวแทนประเทศ ไทยในการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีงามของดนตรีไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับเวทีโลก โดยได้แสดงเปิดงานเป็นรายการแรก ซึ่งเพลงที่ใช้แสดงนั้นได้เรียบเรียงทางเพลงให้มีความไพเราะร่วมสมัย และสามารถเข้าถึงผู้ฟังได้ทุกเชื้อชาติ การประกวดดนตรีไทยระดับนานาชาติครั้งนี้ยังสร้างแรงบันดาลใจ และมีส่วนช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจดนตรีไทย และตระหนักถึงคุณค่าและความงามของดนตรีไทยซึ่งเป็นมรดกของชาติเรานั้นว่ามีศักยภาพ และความเป็นเลิศไม่น้อยไปกว่าเครื่องดนตรีสากลชนิดอื่นเลย ซึ่งปลามีความตั้งใจที่จะพัฒนา ศักยภาพทางดนตรีไทยของนักเรียนให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในอนาคตให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเมื่อเดินทางกลับถึงเมือง Brisbane, Australia คะ

พีรัญยา วิสิฐจันทรกูล ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีระดับนานาชาติ The International Music Competition “Grand Prize Virtuoso” สาขา World Music Instrument 2 รายการ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

@@@@ เดลินิวส์ขอนำเสนอเรื่องนักสู้ที่ออสเตรเลียอีกคน คนบางคนก็ไม่ได้วางแผนชีวิตมาก่อน ว่าควรจะทำอะไรดีหลังเรียนจบเหมือนกับลองโน่น ลองนี่ไปก่อนว่าถูกใจหรือเปล่า บางคนยังไม่เคยคิดว่าจะได้มาใช้ชีวิตต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ เหมือนกับหนุ่มคนนี้  โอ๊ต ตรินัยน์ เกียรติวงศ์ หลังจากเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รู้สึกว่ายังหาตัวเองไม่ค่อยเจอเลยตัดสินใจมาเที่ยวที่ออสเตรเลียมาเยี่ยมน้องที่เรียนอยู่มหาลัยที่นี่ ตอนแรก คิดว่าไปอยู่แค่สามเดือน อยู่ไปอยู่มานานถึง 17 ปี ตั้งรกรากปักหลักปักฐานมีครอบครัวมั่นคงไปเลย

ตรินัยน์ เล่าให้เดลินิวส์ฟังว่า “โอ๊คเป็นคนกรุงเทพ ย้ายมาอยู่ที่ ออสเตรเลียตอนปี 2005 นานพอสมควรเลยครับ ตอนนี้อายุ 41 ปี จบหมาดๆเลย คณะบริหารการจัดการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กะมาเที่ยวอยู่แค่ 3 เดือน หมดวีซ่าก็กลับไทย แต่กลับว่ารู้สึกชอบชีวิตที่ออสเตรเลียมากกว่าที่ไทย รู้สึกถึงความเท่าเทียมกันของคนที่นี่ ไม่ค่อยมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากนัก อยากอยู่เลยตัดสินใจลงเรียนต่อเพื่อพยายามจะยื่นเรื่องขอเป็นพลเมืองที่นี่ ซึ่งตอนนั้น อิมเกรย์ชั่นได้ให้โอกาสคนที่มีความรู้ความสามารถทักษะอาชีพได้มีโอกาสสมัครเป็นพลเมืองที่อยู่อาศัยถาวร ผมจึงคิดได้ว่าควรจะเริ่มเรียน สาขาที่อีเมย์เกชั่นต้องการ  ผมจึงเลือกเรียนสาขาการทำอาหารเป็นเชฟเนื่องจากทำงานอยู่ที่ร้านอาหารด้วยอยู่แล้ว และอยากหาความรู้เพิ่ม เพื่อที่จะได้นำไปใช้ประกอบอาชีพ และพัฒนาความสามารถของตนเพื่อความก้าวหน้าและชีวิตที่ดีขึ้น เพราะที่ออสเตรเลีย ความสามารถและใบประกาศนียบัตรมีความสำคัญในการสมัครงานงานที่นี่ หลังจากเรียนจบเชฟก็ไปสมัครร้านที่ได้ hat มันเป็นรางวัลของเชฟ Chef award 1-3 hat วิธีสังเกตในตอนโน้น อยู่แถว Surry Hill ชื่อ Longrain เป็นร้านขายอาหารไทยแต่มีคนไทยน้อยมาก รวมผมด้วยแค่สามคน ผมไปสมัครงานนี้เพราะได้คำแนะนำจากพี่ชายคนหนึ่งที่เคยให้โอกาสผมได้ทำงานร้านอาหารร้านแรกที่มาถึง Sydney และช่วยสอนงานและให้คำปรึกษามาตลอด ขออนุญาตเอ่ยชื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณนะครับ คุณนิทาน ธรรมสาร หรือที่น้องๆเรียกกันว่าพี่เบิ้ม ที่ผมเลือกที่จะทำงานที่นี่เพราะส่วนหนึ่งต้องการให้ทางร้านสปอนเซอร์เรื่องวีซ่าให้ ช่วงที่เข้าไปทำงานนั้นตั้งใจทำงานและทำงานหนักมากเพราะต้องการให้หัวหน้าเซฟประทับใจ ซึ่งบางวันต้องเข้างานตั้งแต่ 8 โมงเช้าเลิกเที่ยงคืน รู้สึกเหนื่อยมากแต่ไม่เคยท้อเลยเพราะร้านนี้เคยมีเชฟดังดังหลายคนผ่านงานมาก่อน เราอยากเป็นเหมือนพวกเขาบ้างเลยตั้งไจทำงาน งานที่ร้านจะค่อนข้างละเอียดใส่ใจในเรื่องคุณภาพ เลยต้องใช้เวลาในการเตรียมของค่อนข้างนานเพื่อที่จะเซอร์วิสลูกค้าให้ได้ของที่ดีที่สุด หลังจากทำงานมาได้สามเดือนหัวหน้าเชฟ ก็เสนองานประจำให้พร้อมออฟเฟอร์เรื่องวีซ่า แต่ต้องทำงานอยู่กับเขาอย่างต่ำสองปีถึงสี่ปี ซึ่งก็ยอมรับข้อเสนอของเขาไป หลังจากทำงานได้ สองปีก็ได้เลื่อนเป็นรองหัวหน้าเชฟ ชีวิตการทำงานกำลังเป็นไปได้ด้วยดี แต่มีปัญหาเรื่องวีซ่า เลยต้องมองหาทางเลือกอื่น”

เนื่องจากที่ซิดนีย์คนสมัครเป็นพลเมืองโดยใช้ทักษะอาชีพเชฟค่อนข้างเยอะ เวลารอเรื่องนานและยากขึ้น ที่สำคัญต้องการคะแนนเพิ่ม ต้องย้ายไปทำงานเขต Regional ตรินัยน์ เล่าต่อว่า “ตอนนั้นผมเลยมีความคิดที่จะย้ายเมืองไปอาศัยที่เมืองอื่นซึ่งต้องการอาชีพเชฟเหมือนกัน ตอนแรกก็รู้สึกกลัวเพราะว่าอยู่ซิดนีย์มาค่อนข้างนาน ทุกอย่างสะดวกสบาย แต่ก็เริ่มหาข้อมูลและศึกษา พบว่าจริงๆแล้วมีรัฐอื่น เมืองอื่นๆที่สะดวกสบายไม่แพ้ซิดนีย์เลย หลังจากนั้นจึงได้ตัดสินใจสมัครงานมาที่เมืองแอดิเลด ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย หลังจากได้งาน เป็นหัวหน้าเชฟ head chef ในร้านอาหารใหม่ในคาสิโน Skycity Casino แล้วก็ตัดสินใจย้ายและพาครอบครัวมาที่นี่ เพื่อที่จะยื่นวีซ่าขอเป็นพลเมืองที่นี่ถาวรต่อ ตอนอยู่ที่เมืองนี้ช่วงแรกก็ปรับตัวบ้างนิดหน่อยแต่ก็รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้วุ่นวายรีบร้อนเหมือนตอนอยู่ซิดนีย์ หลังจากอยู่ที่นี่ได้สองปีก็ได้เป็นพลเมืองของออสเตรเลียสมใจหลังจากที่รอคอยมาเกือบ 10 ปี”

ถามเขาว่ามีอะไรอยากฝากถึงน้องๆเผื่อกำลังมองหาลู่ทาง “อยากใช้ข้อความนี้ส่งผ่านจังครับ ตอนนั้นเราอยู่ในซิดนีย์ ก็ติดอยู่ตรงนั้น ออสเตรเลียไม่ใช่ซิดนีย์ ยังมีเมืองอื่น รัฐอื่นอีกมากมายอีกมากมาย อย่าจำกัดตัวเองอยู่แค่นั้น ประเทศออสเตรเลียกว้างมาก โอกาสรอเรายังมีอีกเยอะ ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ก้าวผ่านความกลัวและคอมฟอร์ทโซน ในการเริ่มต้นอะไรใหม่ย้ายเมืองหรืองานเพื่อให้ตัวเองมีโอกาสที่ดีขึ้น อยากฝากบอกน้องๆหรือคนที่ยังติดอยู่กับความคุ้นเคยความสบายและรู้สึกปลอดภัยจนไม่กล้าที่จะเริ่มหรือเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ใหม่ให้กับตนเองให้ลองศึกษาหาข้อมูลดูบางทีอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิมก็ได้ ขอแค่อย่าท้อและตั้งใจพยายามทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ทั้งนั้นแหละครับ”

ตรินัยน์ เกียรติวงศ์ เป็นเชฟร้านอาหารดังในซิดนีย์หลายร้าน ไม่ได้ PR สักที หลังจากคิดใหม่ย้ายไปอยู่แอดิเลด ทำงานเป็น head chef ในร้านอาหารใหม่ในคาสิโน Skycity Casino ได้เป็นพลเมืองของออสเตรเลียสมใจหลังจากที่รอคอยมาเกือบ 10 ปี

ไตรภพ ซิดนีย์
[email protected]