เมื่อวันที่ 22 พ.ค. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา​ วิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนาวิชาการ​ เรื่อง “ความหวังทุเรียนไทย ผ่านการวิจัยและนวัตกรรม” โดย ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  และนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รอง ผวจ.จันทบุรี ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)​ เป็นประธานเปิดงาน และเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัย พร้อมด้วย รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย เกษตรจังหวัดจันทบุรี​ นายกสมาคมทุเรียนไทย นายกสมาคมผู้ส่งออกทุเรียนไทย เครือข่ายเกษตรกร และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานเสวนาฯ ณ โรงแรมมณีจันทร์รีสอร์ท อ.เมือง จ.จันทบุรี

โดยการจัดเสวนาวิชาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)” ซึ่งมี รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ จากสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย


ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช.มีภารกิจหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่นักวิจัย หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสหสาขาวิชาการ โดยมุ่งเน้นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมชุมชน และเชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศ การพัฒนาด้านการเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักของ จ.จันทบุรี และของประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาภาวการณ์แข่งขันที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงการควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพ ดังนั้น แนวทางที่จะพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน จึงต้องพัฒนาทั้งระบบด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ จังหวัด เกษตรกร ภาคเอกชน ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เน้นการผลิตที่สอดคล้องกับตลาดโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต สร้างความมั่นคงของตลาดในประเทศและขยายตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดคุณภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการวิจัย พัฒนา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการสมัยใหม่ ในการบริหารจัดการสวนทุเรียน การจัดการผลผลิต การเพิ่มคุณภาพการส่งออก เพื่อเป็นตัวหนุนเสริมให้การทำการเกษตรมีคุณภาพสูง รวมถึงการจัดการองค์ความรู้ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรสามารถเข้าถึงนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ในการบริหารจัดการให้ได้ผลผลิต​ที่มีคุณภาพ นับเป็นช่องทางในการผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

ทางด้าน รศ.ดร.วรภัทร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการจัดสรรทุนการวิจัยโครงการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อการส่งออก) ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนางานวิจัยต่อยอดเป็น knowledge platform ที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ในการเพิ่มคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงานด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เชิงบูรณาการ รองรับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มุ่งเน้นทำให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ และแก้ไขปัญหาการผลิต เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลบนมาตรฐาน GAP ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี smart farmer เข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบปฏิบัติทางการเกษตร Good agricultural Practice: GAP ที่ให้เกษตรกรสามารถกรอกข้อมูลผ่านการพูดผ่าน application ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ application ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการประเมินสถานะของแปลงปลูกพืชในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินการใช้สารเคมีเกษตร ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และการปรับฮอร์โมนให้เหมาะสมกับพืชที่ผลิต พร้อมทั้งระบบตรวจติดตามสภาพแปลงปลูกพืชแบบ real-time และนวัตกรรม Basin fertigation model เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ทุเรียนมีคุณภาพสูง (premium grade) ระบบ GIS-smart farming-iOT นวัตกรรมการจัดการโรครากเน่าโคนเน่า (Phytophthora sp) ทดสอบโรคหลังการเก็บเกี่ยว และนวัตกรรมการส่งออกทุเรียน​ผลสด​ ภายใต้อุณหภูมิต่ำด้วยนวัตกรรมภาชนะเก็บกลิ่นทุเรียนแกะเนื้อสดเพื่อการส่งออก ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั่วทุกภูมิภาค และผู้ประกอบการส่งออกของไทยในระดับประเทศ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อยอดสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ​และการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการวิจัย โดยนักวิจัยร่วมเสวนากับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่​ ที่ได้นำนวัตกรรมไปทดลองใช้งาน รวมทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนา ณ สถานที่จัดงาน และ online ผ่านระบบ zoom meeting ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและการส่งออกแบบครบวงจรเป็นการส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนา​เศรษฐกิจของประเทศอย่าง​ยั่งยืน​ต่อไป