“โรคซึมเศร้า” อีกหนึ่งโรคที่เริ่มคุ้นหูในสังคมไทย ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเงียบ หากคนใกล้ชิดไม่หมั่นสังเกต จนอาจจะพรากคนที่คุณรักไปได้.. แต่อันที่จริงแล้วยังคงมีความเชื่อและความเข้าใจแบบผิดๆเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” อยู่มิใช่น้อย วันนี้เราจึงหาคำตอบมาฝากกัน..

โรคซึมเศร้าคืออะไร
สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วคำว่าโรคซึมเศร้าฟังดูไม่คุ้นหู ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้าเรามักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งตามจริงแล้ว ที่เราพบกันในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกธะรรมดาๆ ที่มีกันในชีวิตประจำวัน มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตามในบางครั้ง ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่างๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็อาจจะเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว

คำว่า “โรค” บ่งว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลา ต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้านี้ก็อาจหายได้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่างๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย คนที่เป็นแม่บ้านก็ทำงานบ้านน้อยลงหรือมีงานบ้านคั่งค้าง คนที่ทำงานนอกบ้านก็อาจขาดงานบ่อยๆ จนถูกเพ่งเล็ง เรียกว่าตัวโรคทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันต่างๆ บกพร่องลง หากจะเปรียบกับโรคทางร่างกายก็คงคล้ายๆ กัน เช่น ในโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นก็จะมีอาการต่างๆ ร่วมกับการทำอะไรต่างๆ ได้น้อยหรือไม่ดีเท่าเดิม

“การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา แต่ที่เขาเป็นนั้นเป็นเพราะตัวโรค กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง เขาก็จะกลับมาเป็นผู้ที่จิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่างๆ ดังเดิม”

การเปลี่ยนแปลงในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด บุคลิกเดิมของเจ้าตัวเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงได เป็นต้น และผู้ที่เป็นอาจไม่มีอาการตามนี้ไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาการหลักๆ จะมีคล้ายๆ กัน เช่น รู้สึกเบื่อเศร้า ท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า นอนหลับไม่ดี เป็นต้น

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
1.อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ที่พบบ่อยคือจะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะบอกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เดิมตนเคยทำแล้วเพลินใจหรือสบายใจ เช่น ฟังเพลง พบปะเพื่อนฝูง เข้าวัด ก็ไม่อยากทำหรือทำแล้วก็ไม่ทำให้สบายใจขึ้น บ้างก็รู้สึกเบื่อไปหมดตั้งแต่ตื่นเช้ามา บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ไม่ใจเย็นเหมือนก่อน

2.ความคิดเปลี่ยนไป มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองไป จะตัดสินใจอะไรก็ลังเลไปหมด รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ทั้งๆ ที่ญาติหรือเพื่อนๆ ก็ยืนยันว่ายินดีช่วยเหลือ เขาไม่เป็นภาระอะไรแต่ก็ยังคงคิดเช่นนั้นอยู่ ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความคับข้องใจ ทรมานจิตใจ เหล่านี้อาจทำให้เจ้าตัวคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็อาจคิดเพียงแค่อยากไปให้พ้นๆ จากสภาพตอนนี้ ต่อมาเริ่มคิดอยากตายแต่ก็ไม่ได้คิดถึงแผนการณ์อะไรที่แน่นอน เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองขึ้นได้จากอารมณ์ชั่ววูบ

3.สมาธิความจำแย่ลง จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าเขาสั่งว่าอะไร จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากสมาธิไม่มี ดูโทรทัศน์นานๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ได้ไม่ถึงหน้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ

4.มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วม ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ก็จะทำให้คนอื่นดูว่าเป็นคนขี้เกียจ ปัญหาด้านการนอนก็พบบ่อยเช่นกัน มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆ ตื่นๆ บางคนตื่นแต่เช้ามืดแล้วนอนต่อไม่ได้ ส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก ท้องอืด แน่นท้อง ปากคอแห้ง บางคนอาจมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว

5.ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ดังกล่าวบ้างแล้วข้างต้น ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะดูซึมลง ไม่ร่าเริงแจ่มใสเหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม แม่บ้านอาจทนที่ลูกๆ ซนไม่ได้ หรือมีปากเสียงระหว่างคู่ครองบ่อยๆ

6.การงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง ถ้าเป็นแม่บ้านงานบ้านก็ไม่ได้ทำ หรือทำลวกๆ เพียงให้ผ่านๆ ไป คนที่ทำงานสำนักงานก็จะทำงานที่ละเอียดไม่ได้เพราะสมาธิไม่มี ในช่วงแรกๆ ผู้ที่เป็นอาจจะพอฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่พอเป็นมากๆ ขึ้นก็จะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน

7.อาการโรคจิต จะพบในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้หรือเปล่า
อาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และบางคนอาจเป็นถึงระดับของโรคซึมเศร้า อาการที่พบร่วมอาจเริ่มตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่าย ไปจนพบอาการต่างๆ มากมาย ดังได้กล่าวในบทต้นๆ

แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เป็นแบบสอบถามทีใช้เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ตอบมีมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ แบบสอบถามนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้ายังต้องมีอาการที่เข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัยด้านล่าง

ข้อดีอย่างหนึ่งของแบบสอบถามนี้คือสามารถใช้ช่วยในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการได้ ว่าแต่ละขณะเป็นอย่างไร อาการดีขึ้นหรือเลวลง การรักษาได้ผลหรือไม่ ผู้ป่วยอาจทำและจดบันทึกไว้ทุก 1-2 สัปดาห์ โดยถ้าการรักษาได้ผลดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยมีค่าคะแนนลดลงตามลำดับ
แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า>>คลิก<<

เช็กความเสี่ยงอาการเหล่านี้ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
-นอนมากเกินไปหรือนอนไม่หลับ ตื่นเช้าผิดปกติ หงุดหงิดกังวล
-น้ำหนักลดหรือเพิ่ม กว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวปกติ
-หงุดหงิด โมโหง่าย ขี้รำคาญ หรือทำอะไรช้าลง
-อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีพลังในการทำงาน ดูเหมือนคนเกียจคร้าน
-ขาดความมั่นใจในตนเอง
-คิดถึงแต่เรื่องตาย หรือมีความคิดทำร้ายตนเองแวบขึ้นมาอยู่บ่อย ๆ
-ขาดสมาธิในการคิดจนตัดสินใจหรือจำอะไรไม่ได้ มักบ่นว่ามีปัญหาเรื่องความจำ
-สูญเสียความรู้สึกทางเพศ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีปัญหานี้มาก่อน

สาเหตุของซึมเศร้า
ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้น เชื่อกันว่าสัมพันธ์กับหลายๆ ปัจจัย ทั้งจากด้านกรรมพันธุ์ การพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก พัฒนาการของจิตใจ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัว เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้า
-กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง
-สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้ซึมเศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้
-ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

“โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้มีสาเหตุจากแต่เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น” เหมือนกับการป่วยเป็นไข้หวัด ก็มักเป็นจากร่างกายอ่อนแอ จากพักผ่อนน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย ขาดสารอาหาร ถูกฝน อากาศเย็น ร่วมกับการได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ถ้าเราแข็งแรงดี แม้จะได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เป็นอะไร ในทำนองเดียวกัน ถ้าร่างกายเราอ่อนแอ แต่ไม่ได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เกิดอาการ การเริ่มเกิดอาการของโรคซึมเศร้านั้นมักมีปัจจัยกระตุ้น มากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งอาจไม่มีก็ได้ซึ่งพบได้น้อย อย่างไรก็ตาม การมีสาเหตุที่เห็นชัดว่าเป็นมาจากความกดดันด้านจิตใจนี้ มิได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเราไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน การพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติหรือไม่ เราดูจากการมีอาการต่าง ๆ และความรุนแรงของอาการเป็นหลัก ผู้ที่มีอาการเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้านั้น บ่งถึงภาวะของความผิดปกติที่จำต้องได้รับการช่วยเหลือ

โรคซึมเศร้ามีกี่แบบ
-โรคซึมเศร้าทั่วไป แสดงอาการเบื่อ ท้อแท้ และเศร้าสลดอย่างมากนานเกิน 2 สัปดาห์
สาเหตุ : มีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง การสูญเสีย หรือผิดหวัง ความเครียดสะสมยาวนาน อาจมีอาการทางจิต เช่น หวาดระแวง และหูแว่ว การเปลี่ยนแปลงตามวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ มักมีอาการขี้บ่นจุกจิก

-โรคซึมเศร้าเรื้อรัง รุนแรงน้อยกว่ากรณีแรก แต่เป็นต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2 ปี และมักนานกว่า 5 ปี
สาเหตุ : ทุกข์ใจมายาวนาน แม้จัดการได้ระดับหนึ่ง แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่มีความสุขมาเป็นเวลาหลายปี ลงเอยด้วยการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแบบชัดเจน

-โรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ดิสออร์เดอร์ มีอารมณ์เซ็ง ซึมเศร้า สลับกับร่าเริงผิดปกติ (Mania) ใน 1 ปีอาจมีอาการนี้หลายครั้ง มีผลต่อการตัดสินใจ เช่น ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือตัดสินใจผิด ๆ และอาจคิดฆ่าตัวตาย

โรคซึมเศร้าเกิดกับคนกลุ่มใดได้บ้าง
-โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้ชาย ว่ากันว่าจำนวนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เป็นผู้ชายจะพบได้น้อยกว่าผู้หญิง แต่น่าแปลกที่อัตราการฆ่าตัวตายในผู้ชายมีมากกว่า ซึ่งเมื่อเพศชายป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจก็มีสูงมาก ส่วนใหญ่มักใช้ยาเสพติดและเครื่องที่มีแอลกอฮอล์เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาภาวะซึมเศร้านั้น บางรายก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้หนัก ถึงแม้จะหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย แต่ก็ไม่เคยท้อแท้ หรือสิ้นหวังเลยแม้แต่น้อย จึงเป็นการยากที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ได้ ทั้งที่รู้กันอยู่แล้วว่าผู้ป่วยมักจะปฏิเสธการรักษาอยู่เสมอ

-โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้หญิง จากตรวจพบก็ทำให้รู้ว่าในผู้หญิงนั้นเป็นโรคซึมเศร้าในจำนวนที่มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน อาทิ มีประจำเดือน, การตั้งครรภ์, ภาวะหลังคลอด หรือการเข้าสู่วัยทอง อีกทั้งในชีวิตของพวกเขายังจะต้องรับผิดชอบในหลายๆ อย่าง ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ทำให้เกิดความเครียด ในการรักษาก็ทำได้แค่ให้เข้ากำลังใจและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้มากที่สุด

-โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในเด็ก ไม่ใช่แค่วัยผู้ใหญ่เท่านั้นที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในเด็กโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ก็มีเช่นกัน อาการที่สังเกตเห็นได้ในเด็กเล็ก อาทิ ไม่ไปโรงเรียน, แกล้งทำเป็นป่วย, ติดพ่อแม่ หรือเป็นกังวลกลัวว่าพ่อแม่จะเสียชีวิต ส่วนในเด็กโตก็จะมีอาการเงียบ ไม่ยอมพูดยอมจา, มักมีปัญหาที่โรงเรียน, มองโลกในแง่ร้าย ซึ่งการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในเด็กนี้ก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน เนื่องจากอารมณ์ของเด็กมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ฉะนั้น พ่อแม่ที่อยู่ใกล้ชิดต้องคอยเป็นผู้สังเกตว่าพฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าเกิดมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเป็นไปตามอาการของโรคซึมเศ้รา ก็ควรจะเดินทางไปพบกุมารแพทย์เพื่อคำปรึกษาและส่งตัวเด็กเข้ารับพิจารณาการรักษา

-โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ แล้วการเข้าสู่วัยทองนั้นมักทำให้อารมณ์ผกผันไม่เป็นปกติ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนวัยนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ใช่เสียทั้งหมด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการออกทางกายซะมาก โดยตัวยาที่ใช้ก็จะมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน หากส่งตัวเข้ารับการวินิจฉัยและรักษา ก็จะทำให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยในวัยนี้มีความสุขอย่างแน่นอน

Asian woman sitting sad by her bed

การรักษา
โรคซึมเศร้านี้หากได้รับการรักษาผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก อาการซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยๆ หรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ จะกลับมาดีขึ้นจนผู้ที่เป็นบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำใมจึงรู้สึกเศร้าไปได้ถึงขนาดนั้น ข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคจิตที่สำคัญประการหนึ่งคือ “ในโรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ขณะที่ในโรคจิตนั้นแม้จะรักษาได้ผลดีผู้ที่เป็นก็มักจะยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง” ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น ยิ่งป่วยมานานก็ยิ่งจะรักษายาก

การรักษาที่สำคัญในโรคนี้คือการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่างๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้ซึมเศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น

“ยาแก้ซึมเศร้ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคนี้” แม้ผู้ที่ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าความทุกข์ใจหรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วแสดงว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่างกายของคนเราจนทำให้เกิดมีอาการต่างๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ร่วมอีกหลายๆ อาการ ไม่ใช่มีแต่เพียงอารมณ์เศร้าอย่างเดียว ซึ่งยาจะมีส่วนช่วยในการบำบัดอาการต่างๆ เหล่านี้ อีกทั้งยังสามารถทำให้อารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวลใจทุเลาลงได้ด้วย

ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า
1.อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปอาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด แต่ยาก็ยังมีส่วนช่วยในระยะแรกๆ โดยทำให้ผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้น เจริญอาหารขึ้น เริ่มรู้สึกมีเรี่ยวแรงจะทำอะไรมากขึ้น ความรู้สึกกลัดกลุ้มหรือกระสับกระส่ายจะเริ่มลดลง

2.ยาทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ หรือยาระบาย ก็ตาม แม้ว่าโอกาสที่เกิดอาการข้างเคียงจะมากน้อย และมีความรุนแรงต่างกันไป การใช้ยาจึงควรใช้ในขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น หากมีความจำเป็นที่ทำให้กินยาตามสั่งไม่ได้ และควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากเกิดอาการใดๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงหรือไม่

3.ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้ากินยามากตามที่แพทย์สั่ง แพทย์สั่งกิน 4 เม็ดก็กินแค่ 2 เม็ด หรือกินบ้างหยุดกินบ้าง เพราะกลัวว่าจะติดยา หรือกลัวว่ายาจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย แต่ตามจริงแล้วยาแก้ซึมเศร้าไม่มีการติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบาย นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่หายจากอาการของโรค การกินๆ หยุดๆ หรือกินไม่ครบขนาดกลับจะยิ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี และรักษายากมากขึ้น

4.ยาแก้ซึมเศร้ามีอยู่เป็นสิบขนาน จากการศึกษาไม่พบว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหนอย่างชัดเจน เรียกว่าผู้ป่วยคนไหนจะถูกกับยาตัวไหนเป็นเรื่องเฉพาะตัว หรือ ลางเนื้อชอบลางยา ซึ่งโดยรวมแล้วก็มักจะรักษาได้ผลทุกตัว การใช้ยาขึ้นอยู่กับว่าแพทย์มีความชำนาญ คุ้นเคยกับการใช้ยาขนานไหน และผู้ป่วยมีโรคทางกายหรือกำลังกินยาอื่นๆ ที่ทำให้ใช้ยาบางตัวไม่ได้หรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้าตัวแรกที่ให้ หากอาการยังไม่ดีในระยะแรกๆ อาจเป็นเพราะยังปรับยาไม่ได้ขนาด หรือยังไม่ได้ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่เสียมากกว่า ถ้าแพทย์รักษาไประยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าให้ยาในขนาดที่พอเพียงแล้วผู้ป่วยยังอาการดีขึ้นไม่มาก ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นต่อไป

แพทย์รักษาอย่างไร
หลังจากแพทย์ประเมินอาการจนค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุมาจากโรคทางร่างกายอื่นๆ ก็จะเริ่มให้การรักษาโดยให้ยาขนาดต่ำก่อน นัดติดตามการรักษาอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียงอะไรก็จะค่อยๆ ปรับยาขึ้นไปทุกๆ 1-2 สัปดาห์จนได้ขนาดในการรักษา

แพทย์จะรับไว้ในโรงพยาบาลเมื่อ
-ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ไม่กินอาหารเลย อยู่นิ่งๆ ตลอดวัน คิดอยากตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย
-แพทย์ต้องการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
-แพทย์เห็นว่าการรักษาด้วยยาต้องดูแลใกล้ชิด เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคทางกาย ผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น

ระยะเวลาในการรักษา
หลังจากที่รักษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์จะให้ยาในขนาดใกล้เคียงกับขนาดเดิมต่อไปอีกนาน 4-6 เดือน เนื่องจากพบว่าในช่วงนี้ผู้ป่วยที่หยุดยาไปกลับเกิดอาการกำเริบขึ้นมาอีกสูง เมื่อให้ยาไปจนครบ 6 เดือนโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการเลยในระหว่างนี้ แพทย์จึงจะค่อยๆ ลดยาลงโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจนหยุดยาในที่สุด

“แม้ว่าจะหายจากการป่วยในครั้งนี้แล้ว ยังพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสเกิดกลับมาป่วยซ้ำอีก” โดยพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ป่วยครั้งแรกมีโอกาสที่จะเกิดป่วยซ้ำอีกได้ บางคนหายปี 2-3 ปีแล้วกลับเป็นใหม่ ในขณะที่บางคนหายไปเป็น 5-7 ปีก็มี ซึ่งบอกยากว่าใครจะกลับมาเป็นอีกและจะเป็นเมื่อไร หลักการโดยทั่วๆ ไปคือ ถ้าเป็นครั้งที่สอง โอกาสเกิดเป็นครั้งที่สามก็สูงขึ้นและถ้าเป็นครั้งที่สาม โอกาสเป็นครั้งที่สี่ก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก และการกำเริบในครั้งต่อๆ ไปจะกระชั้นเข้า ดังนั้นถ้าป่วย 3 ครั้งแล้วจำเป็นต้องกินยากันไม่ให้กลับเป็นซ้ำไปนานเป็นปีๆ แต่ถ้าเป็น 2 ครั้งและมีลักษณะต่างๆ ที่แพทย์เห็นว่ามีความเสี่ยงก็อาจให้ยาป้องกันเช่นกัน

ข้อบ่งชี้ในการป้องกันระยะยาว
-มีอาการมาแล้ว 3 ครั้ง
-มีอาการมาแล้ว 2 ครั้ง ร่วมกับมีภาวะต่อไปนี
-ญาติใกล้ชิดสายเลือดเดียวกันมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้ซ้ำๆ หลายครั้ง หรือป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว
-มีประวัติกลับมาป่วยซ้ำอีกภายใน 1 ปี หลังจากหยุดการรักษา
-เริ่มมีอาการครั้งแรกขณะอายุยังน้อย (ต่ำกว่า 20 ปี)
-มีอาการที่เป็นเร็ว รุนแรง หรืออันตรายมา 2 ครั้ง ภายในช่วงเวลา 3 ปี
ผู้ป่วยที่กินยาป้องกันมักจะกินไปนานประมาณ 3-5 ปี ผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันมิได้หมายความว่าจะไม่เกิดอาการอีกเลย พบว่าผู้ป่วยส่วนน้อยอาจเกิดอาการเหมือนเดิมอีก ผู้ป่วยบางคนเกิดอาการอีกแต่เป็นน้อยและเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เมื่อเพิ่มยาขึ้นอาการก็หายไป ในขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการอีก

“การที่การกินยาป้องกันระยะยาวมีความสำคัญเพราะจากการศึกษาในระยะหลังๆ นี้ทราบค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าหากผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้นบ่อยๆ การรักษาจะยุ่งยากมาขึ้นในระยะหลังๆ และอาการอาจเป็นถี่มากขึ้น”

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ ต้องรับความกดดันต่างๆ แต่ผู้เดียว รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไรๆ อีกแล้ว

แต่ขอให้ความมั่นใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดไป โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่างๆ ในมุมมองอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมมากขึ้น

ข้อแนะนำขณะที่คุณกำลังซึมเศร้าอยู่
-การออกกำลังกาย การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยทางร่างกายแล้ว จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้ การออกกำลังกายที่ดีจะเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น การกินอาหารดีขึ้น การขับถ่ายดีขึ้น ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว

-อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง

-เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆ โดยมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ เช่น ไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปเที่ยวชายทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว หลักการเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่จะขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละช่วง คนที่มีความโศกเศร้ามักจะรู้สึกหมดหวัง คิดว่าความรู้สึกนี้จะคงอยู่กับตนเองตลอดเวลา ในความเป็นจริงแล้วจะมีอยู่บางช่วงที่อารมณ์เศร้านี้เบาบางลง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ให้เราเริ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น

-อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เช่นการหย่า การลาออกจากงาน ณ ขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ อาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หากจำเป็นหรือเห็นว่าปัญหานั้นๆ เป็นสิ่งที่กดดันเราทำให้อะไรๆ แย่ลวงจริงๆ ก็ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายๆ คนให้ช่วยคิด

-การมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร การแก้ปัญหาให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลังแล้วลงมือทำไปตามลำดับโดยทิ้งปัญหาย่อยอื่นๆ ไว้ก่อน วิธีนี้จะพอช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่

คำแนะนำสำหรับญาติ
ญาติมักจะรู้สึกห่วงผู้ที่เป็น ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนา ทำให้บางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคน “ไม่สู้” ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงต้องเศร้าเสียใจขนาดนี้ ท่าทีเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกว่าตัวเองยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น ทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์

แต่ทั้งนี้ ภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลัง “เจ็บป่วย” ความกดดันภายนอกที่รุมเร้าร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างในตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง เกิดมีอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจนอกเหนือไปจากความเศร้าโศก ณ ขณะนั้น นอกจากอารมณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังพบมีอาการทางร่างกายต่างๆ นาๆ รวมด้วย ความคิดเห็น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ ก็กลับจะยิ่งไปส่งเสริมให้จิตใจเศร้าหมอง กลัดกลุ้มมากขึ้นไปอีก เขาห้ามให้ตัวเองไม่เศร้าไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ของความเจ็บป่วย “เมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น จิตใจแจ่มใสขึ้น การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไป อาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไป”

“หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็น โรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เรามักจะให้อภัยคนที่กำลังไม่สบาย มีข้อยกเว้นให้บางอย่าง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วย”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, @กรมสุขภาพจิต, @โรงพยาบาลกรุงเทพ