จากกรณี คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ ป.ป.ท.เขต 4 และ ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่สอดส่องโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมืองงบ 148 ล้านบาท “สร้าง 7 ชั่วโคตรยังไม่เสร็จ” ร้องเรียนหลายครั้งแล้วก็ยังไม่สร้างต่อ แม้กรมโยธาฯ ขยายเวลาให้จนใกล้ครบสัญญาแล้ว นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง งบ 39 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน ด้านชาวบ้านแฉซ้ำตั้งแต่ร้องเรียนทั้ง 2 โครงการ ไม่เคยเห็นบริษัทรับเหมามาทำงานก่อสร้างต่อ ทำให้เกิดปัญหาสะสมเรื้อรังมานานกว่า 5 ปี ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเมืองกาฬสินธุ์พังยับกว่า 750 ล้านบาท

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สอดส่องของคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ ป.ป.ท.เขต 4 และ ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้พบอีก 8 โครงการที่มาในลักษณะเดียวกัน งบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท หรือรวมทั้งโครงการสร้างระบบท่อและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลางกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งทุกโครงการทำงานล่าช้า เกินกำหนดในสัญญาและมีการเบิกจ่ายไปบางส่วน ชาวบ้านวอนกรรมาธิการ ป.ป.ช.-ปปง.สภาผู้แทนราษฎร อภิปรายปัญหานี้ในสภา โดยชาวบ้าน ผู้ประกอบการ จุดธูปบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยกรถแบ๊กโฮและกองวัสดุออกจากหน้าร้านและไหล่ทาง ซึ่งกีดขวางจราจรและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ล่าสุดประกอบพิธีตะโกนใส่หม้อนึ่งข้าวเหนียวแบบโบราณ เพื่อเรียกผู้รับเหมากลับมาทำงาน ตามข่าวที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

คืบหน้า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ถนนชุมชนหัวโนนโกเกษตร เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักอีกเส้นหนึ่งในตัวเมืองกาฬสินธุ์ ที่อดีตเป็นถนนสวยงาม แต่กลับเป็นถนน “วิบากกรรม 7 ชั่วโคตร” มีหลุมบ่อ และแผ่นเหล็กปักไว้ริมทาง เหมือนเป็นหลุมพรางและกับดักให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเศษซากจากการก่อสร้างโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง งบ 148 ล้านบาท เนื่องจากผู้รับเหมาทำงานไม่เสร็จและขนย้ายเครื่องจักรหนีไป ปล่อยให้ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ผู้ใช้รถถนน เผชิญกับความเดือดร้อนต่อไป

นางหอมหวล อิ่มเสถียร แม่ค้าขายของชำ อายุ 54 ปี บ้านเลขที่ 2/2 ถนนหัวโนนโกเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากปัญหาการก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำที่ล่าช้ากินเวลามากว่า 5 ปี นอกจากผู้รับเหมาขาใหญ่ 500 ล้านทำงานไม่เสร็จ จะทำให้เศรษฐกิจเมืองกาฬสินธุ์พังแล้ว ยังทำให้ตนและชาวบ้านที่อยู่บริเวณจุดก่อสร้าง ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากด้วย ทั้งนี้ ยังรู้สึกสงสารแรงงานและผู้รับเหมารายย่อย ที่ถูกเบี้ยวค่าจ้างอีกด้วย เพราะที่ผ่านมานั้น ผู้รับเหมารายย่อย ซึ่งเป็นผู้รับเหมาที่มารับช่วงงานต่อจากบริษัทใหญ่ รวมทั้งแรงงานไทย แรงงานเมียนมา ที่มาเป็นคนงานบริเวณนี้ ต้องอดมื้อกินมื้อ เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้าง บางคนนอนหิว ไส้กิ่วไส้แห้ง ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำงาน ตนก็ให้ข้าวให้น้ำกิน บางคนน่าสงสารมาก เจ็บไข้หรือลูกเมียเจ็บป่วยจะไปหาหมอ ไม่มีเงิน นอนซมร้องครวญคราง ก็ให้ยืมเงิน แต่ไม่เคยได้เงินคืนเลย เพราะเงินไม่ออกตามงวดงานสักที

นางหอมหวล กล่าวอีกว่า ช่วงที่คนงานมาก่อสร้าง โดยทำการขุดถนนและวางท่อถนนหัวโนนโกเกษตร ประมาณปี 66 เหตุการณ์เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทั้งนี้เป็นการทำงานแบบไม่ต่อเนื่อง วันหนึ่งๆ ทำงานไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็พักและหายไป หลายวันจึงเห็นกลับมาอีก ไปๆ มาๆ อย่างนี้ หากทำ 20 ปีก็ไม่เสร็จ อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นเห็นคนงานทั้งคนไทยคนเมียนมากลับมาทีไรก็น่าสงสาร เพราะไม่มีเงินซื้อข้าวซื้อน้ำกิน ตนกับสามีก็หยิบยื่นให้กินฟรี ผู้รับเหมารายย่อยและคนงานบางคนก็มาขอเปิดบิล ฝากปากท้องไว้กับเรา ก็ยินดีให้เครดิต เชื่อกินได้ทั้งข้าวน้ำและเครื่องดื่ม โดยหวังว่าจะนำเงินมาจ่ายตอนเงินค่าจ้างออก แต่ถึงวันนี้เงียบหาย รวมเบ็ดเสร็จที่ให้ผู้รับเหมารายย่อยและคนงานค้างจ่ายประมาณ 63,000 บาททีเดียว

ด้านนายอัมพร อิ่มเสถียร อายุ 58 ปี สามีนางหอมหวล กล่าวว่า ตนและภรรยากู้ยืมเงินมาลงทุนค้าขาย หวังเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัว ส่งเสียลูกเรียนหนังสือ และเก็บสะสมไว้ใช้จ่ายตอนสูงอายุ และค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ค้าขายมาได้เรื่อยๆ โดยไปรับผักสดมาขาย ควบคู่กับเปิดร้านของชำ อาหารสด อาหารแห้ง เคยมีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 2,000-3,000 บาท

นายอัมพร กล่าวต่อว่า พอมีโครงการก่อสร้างระบบท่อประปามาลงหน้าร้าน ปัญหาก็เริ่มเกิดทันที เนื่องจากถนนหน้าร้านกลายเป็นบริเวณก่อสร้าง ค้าขายไม่ได้ แทบจะไม่มีลูกค้าเข้าร้านเลย ขณะที่ร้านขายสินค้าข้างเคียงหลายร้านก็อยู่ไม่ได้ เผ่นหนีไปหมด เพราะการก่อสร้างไม่มีความคืบหน้า ไม่รู้วันเวลาว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ตนกับภรรยาไม่รู้จะย้ายไปค้าขายที่ไหน ไม่มีที่ทางที่ไหนอีก จะไปเช่าที่คนอื่นก็ไม่มีเงินทุน จึงทนๆ เผชิญชะตากรรมกันเรื่อยมา เพราะค้าขายฝืดเคือง บางวันไม่มีลูกค้ามาเข้าร้านแม้แต่คนเดียว จึงไม่มีรายได้ ไม่มีเงินไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งยังต้องรำคาญกับฝุ่นละออง และคอยช่วยเหลือคนขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุหน้าร้าน ซึ่งมีทั้งเฉี่ยวชนกัน เสียหลักล้ม ยางรั่ว สารพัดอย่าง

“ตนกับภรรยาและเพื่อนบ้านในชุมชน ต่างได้รับผลกระทบและประสบกับความเดือดร้อน ทั้งด้านความเป็นอยู่ การค้าขาย การใช้ชีวิต ความสุขประจำวันที่เคยมีก็หายไปหมด พอดีมีผู้รับเหมารายย่อยและคนงานก่อสร้างมาขอเปิดบิล ทั้งข้าว อาหาร น้ำ เครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว ถือว่าเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่เข้ามาทดแทนลูกค้ากลุ่มเก่าที่เป็นคนในชุมชน ตนกับภรรยาก็ไม่ขัดข้อง แบบว่าให้ฝากปากท้องผูกปิ่นโตได้เลย เงินสะสมไว้เท่าไหร่ก็นำมาสำรองจ่าย เพื่อซื้อน้ำ ซื้อข้าว และของกินของใช้มาให้คนงานเชื่อ สุดท้ายก็เข้าเนื้อ เพราะถึงวันนี้ยังไม่มีใครมาชำระเงินเลย ยังดีที่บางคนยังมีน้ำใจบ้าง โทรฯ มาบอกว่าเงินออกเมื่อไหร่จะนำมาชำระ แต่ก็ยังไม่เห็นมาสักที ทั้งนี้ อ้างว่านายจ้างยังไม่จ่ายเงินมา” นายอัมพร กล่าว พร้อมนำสมุดบัญชีบันทึกรายการเบิกจ่ายมาแสดงให้ดูเป็นหลักฐานด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น จึงไม่ต่างกับการเล่นโดมิโน่ ทั้งความจริง ความหวัง มันพังระเนนระนาดหมด ทุกคน ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างระบบประปาป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ที่หลงเข้ามารับช่วงงาน และชาวบ้านที่อยู่ใกล้บริเวณก่อสร้าง ต่างได้รับความเดือดร้อน เสียหายไปตามๆ กัน เพราะไม่เพียงแต่เศรษฐกิจในภาพรวมพังกว่า 750 ล้านบาทแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการร้านค้า ถูกเบี้ยวค่าน้ำค่าอาหารอีกด้วย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น โดยมีต้นตอมาจากผู้รับเหมาขาใหญ่เลย ชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบ จึงเรียกร้องไปที่กระทรวงมหาดไทย ได้เร่งรีบหาผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาทำงาน เพื่อกอบกู้สถานการณ์และรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐบาล.