เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า อุบัติเหตุที่เกิดจากรถไฟฟ้าหลายสายในช่วงนี้ เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมรับไม่ได้ เพราะกระทบผู้โดยสาร และประชาชนที่สัญจรตามแนวรถไฟฟ้า ตนจึงได้ปรึกษากับนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม และสั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตรวจสอบเรื่องสัญญา และบทลงโทษต่างๆ ซึ่งเบื้องต้น รฟม.จะมีการประเมินผลประกอบการผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าทุกปี โดยในปีนี้จะครบในเดือน ก.ค. 67 ดังนั้นหากผลการดำเนินงานกระทบต่อความปลอดภัย ก็สามารถปรับเป็นเงินได้ เพราะในสัญญานั้น ทางกระทรวงคมนาคม มีการอุดหนุนผู้ประกอบการปีละ 2,500 ล้านบาท สามารถปรับได้ 5% หรือ 125 ล้านบาท ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ ความปลอดภัย เพราะแค่ปรับเงินคงไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความห่วงใย และอยากให้มั่นใจว่าความปลอดภัยของประชาชนต้องมาอันดับแรก ทั้งนี้ได้สั่งการให้ผู้รับสัมปทานไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ และเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยในการก่อสร้างจะต้องอุดช่องว่างต่างๆ เพื่อไม่ให้เศษวัสดุตกลงมาสร้างความไม่ปลอดภัยให้แก่ประชาชนอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ระบบโมโนเรลที่ประเทศไทยใช้อยู่ เนื่องจากมีราคาถูก แต่ต่างประเทศไม่นิยมใช้แล้ว นายสุริยะ กล่าวว่า ต้องมาดูที่เงื่อนไขตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ เพราะคิดว่าระบบโมโนเรลถูกกว่า และเท่าที่สอบถามดูเรื่องของการใช้ระบบโมโนเรล หรือไรเรล ที่มีราคาสูงกว่า แต่มีความปลอดภัยมากกว่า และในที่สุดก็ตัดสินใจใช้โมโนเรล ดังนั้นผู้รับสัมปทานก็ต้องดูแลความปลอดภัยต่างๆ และใส่ใจ ปัญหาก็จะน้อยลง และแก้ปัญหาได้ และยืนยันว่าถ้าผู้ประกอบการใส่ใจประกอบกับเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม ช่วยกวดขันความปลอดภัยก็น่าจะดีขึ้น

นายสุริยะ ยังกล่าวถึงการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายด้วยว่า ยืนยันว่าสามารถทำได้กับรถไฟฟ้าทุกสายแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอพระราชบัญญัติตั๋วร่วม เมื่อมีพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมา จะทำให้เงินกองทุนต่างๆ สามารถนำไปดูแลรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังตรวจสอบในรายละเอียด คาดว่าจะเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผลประกอบการของรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง ที่นำร่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายไปแล้วนั้น ปัจจุบันมีประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น 20% และพบว่ามีกำไรมากกว่าตอนที่ยังไม่ลดราคา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) เป็นผู้รับสัมปทาน ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เป็นผู้รับสัมปทาน ซึ่งทั้ง 2 บริษัท เป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน).