เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดตอนนี้ ก็พบผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา เข้ามารับการรักษาใน รพ. รวม 3 คน ทั้งหมดอยู่ในวัยกลางคน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมกัญชา บางคนรับประทานคุกกี้ และไม่รู้ถึงปริมาณที่เหมาะสมว่าควรบริโภคที่เท่าไหร่ ตอนนี้เริ่มมีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานมาให้ความรู้แล้ว เช่น กรมอนามัย ที่ทำกราฟิกระบุถึงสัดส่วนของการใช้กัญชาในอาหาร เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย เชื่อว่าจากนี้ จะเข้าใจปริมาณที่เหมาะมากขึ้น ในการรับประทานทานเล็กๆ น้อยๆ พอได้ แต่คนที่มีโรคหัวใจ ไม่ควรรับประทานส่วนเรื่องการรวบรวมสถิติเกี่ยวกับผลกระทบจากกัญชาหลังมีการปลดล็อก ก็ยังอยู่ระหว่างการรวบรวม

ขณะที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ.2025 ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลก อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.9-2.1 ล้านล้านบาท การทำให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดแนวทางที่เหมาะสมว่า อะไรคือประโยชน์สูงสุดต่อสังคม แม้ประเทศไทยทำกัญชาให้เป็นนพืชเศรษฐกิจสร้างมูลค่าได้ถึงหมื่นล้านบาท แต่ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย หากกำกับควบคุมไม่ดี อาจนำมาสู่ผลเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพมากกว่าผลดี นำมาสู่ค่าใช้จ่ายทางด้านรักษาพยาบาล คุณภาพแรงงานถดถอย

“การศึกษาวิจัยผลกระทบจากนโยบายกัญชาเสรียังมีไม่มาก แต่บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ได้ไม่คุ้มเสีย หากมีระบบการกำกับควบคุมการใช้ไม่ดีพอ ประเทศส่วนใหญ่จึงไม่มีนโยบายกัญชาเสรี และหากจะเปิดเสรี ก็จะจำกัดให้ใช้ในทางการแพทย์และประโยชน์ทางด้านสุขภาพเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อสันทนาการ ไม่ใช่เพื่อนำไปผสมในเครื่องดื่มหรืออาหาร ซึ่งก่อให้เกิดการเสพติดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว หลายประเทศหรือหลายสังคม ก็ไม่สนับสนุนนโยบายนี้ ด้วยเหตุผลทางศาสนาและเหตุผลทางด้านศีลธรรมจรรยา” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว.