เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ประจำปี 2565 (Global Summit of Women) ระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย นำผู้ประกอบการ OTOP ร่วมนำเสนออวดโฉมผลงานหัตถศิลป์หัตถกรรม (handicraft) ให้กับผู้นำสตรีทั่วโลกได้เลือกชมและเลือกซื้อเป็นที่ระลึก ได้แก่ 1.ร้าน “ขวัญตา” Khwanta จังหวัดหนองบัวลำภู โดย “น้องอ๋อย สุมามาลย์ เต๊จ๊ะ” ซึ่งมีที่มาจากความตั้งอกตั้งใจและความใฝ่ฝันที่มีแรงปรารถนา (Passion) ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการทอผ้าไทยซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนหนองบัวลำภูต่อจากคุณยายและคุณแม่ จากการได้สัมผัสด้วยตนเองตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เกิดความรัก ความหลงใหลและความผูกพัน นำต้นทุนที่ได้รับเหล่านั้น มาต่อยอดผ้าทอกับเทคนิคการด้นมือ ประยุกต์เข้ากับดีไซน์สมัยใหม่ได้อย่างลงตัว กลายเป็นแฟชั่นร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างความโดนใจให้กับลูกค้าทั้งตลาดชาวไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เปิดวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่น้องสตรีในจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งไม่เพียงช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้สูงอายุในชุมชน แต่ยังสามารถประกอบอาชีพภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และยังทำให้ผ้าไหมทอมือแห่งบ้านสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่รู้จักมากขึ้น 

นางวันดี กล่าวว่า และ 3.ร้าน “ธัญญมณี” โดยคุณสุภาพร นิยมกิจ ซึ่งมีจุดเด่น คือ “วัตถุดิบพลอยไทยแท้โบราณ” ที่ปัจจุบันหาซื้อในท้องตลาดทั่วไปไม่ได้แล้ว โดยเป็นพลอยไทยแท้โบราณที่เกิดจากการเก็บสะสมไว้จำนวนมาก ซึ่งร้านธัญญมณี แม้จะเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆ แต่แนวทางการตลาดของร้านจิวเวลรี่นี้ยึดคอนเซปต์ “สินค้าชิ้นเดียวในโลก” เครื่องประดับแต่ละแบบจะมีเพียง 1 ชิ้นเท่านั้น อันส่งผลทำให้ลูกค้าที่ได้ไปครองเกิดความภาคภูมิใจ และยังได้รับคัดสรรเป็นโอทอป 4 ดาว ระดับประเทศอีกด้วย

นางวันดี กล่าวว่า การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของแบรนด์ “ขวัญตา” “ไหมสมเด็จ” และ “ธัญญมณี” ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้นำสตรีทั่วโลกเยี่ยมชมและเลือกซื้อ เลือกหาตลอดทั้งวัน ตั้งแต่วันที่ 23-25 มิถุนายน2565 โดยมียอดการจำหน่ายรวมกว่า 2.1 ล้านบาท สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ประกอบการในการมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์หัตถกรรมให้เป็นที่นิยมชมชอบและออกจำหน่ายสู่ตลาดทั้งในประเทศไทยและตลาดสากลมากขึ้น

ด้านนางสุมามาลย์ เต๊จ๊ะ (คุณอ๋อย) เจ้าของแบรนด์ “ขวัญตา” กล่าวว่า ในการออกร้านงานประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกในครั้งนี้ เป็นการเปิดแบรนด์ขวัญตาสู่สายตาคนทั่วโลก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้นำสตรีทุกประเทศ ไม่มีท่านไหนที่จะไม่มาชื่นชม ทั้งชื่นชมผ้าไทย ลวดลายผ้า และการดีไซน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อคลุม ผ้าคลุมไหล่ ที่ได้รับคำชื่นชมว่ามีความแตกต่างหลากหลายอย่างลงตัว สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส โดยการร่วมออกงานในครั้งนี้ถือว่าได้ช่วยชีวิตคนในชุมชน คนในศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา จังหวัดหนองบัวลำภู รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสได้นำผ้าหนองบัวลำภู มาถ่ายทอดให้ชาวต่างประเทศที่มาได้เห็น ได้ชื่นชม และได้เลือกซื้อนำเอาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยของเรากลับไปยังประเทศของเขา และมีผู้นำสตรีหลายประเทศที่ไม่เจอสินค้าที่ถูกใจ ก็ได้มีการสั่งจองออร์เดอร์ไว้สำหรับจัดส่งในภายหลัง

ขณะที่ นางอดุลย์ มุลละชาติ (คุณอี๊ด) เจ้าของผ้าทอแบรนด์ “ผ้าไหมสมเด็จ” กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้จำหน่ายสินค้าเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในชีวิตของแบรนด์ไหมสมเด็จ ซึ่งการออกร้านจำหน่ายผ้าในครั้งนี้เป็นงานที่ทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้ โดยสิ่งหนึ่งที่ได้รับจากการออกงานในครั้งนี้มีหลายด้าน ทั้งเรื่องการพัฒนาต่อยอดจากการทอผ้าเป็นผืนอย่างเดียว ไปฝึกเรื่องการออกแบบดีไซน์ตัดเป็นชุดที่สามารถเลือกซื้อสวมใส่ได้เลย รวมถึงพบว่าชาวต่างประเทศให้ความสนใจไหมบ้าน และสีไทยโทนที่เป็นสีธรรมชาติซึ่งตอบโจทย์ตลาดมากกว่าสีเคมี

ส่วน สุภาพร นิยมกิจ เจ้าของร้าน “ธัญญมณี” กล่าวว่า การได้รับโอกาสมาร่วมออกร้านในงานการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกในครั้งนี้ เป็นการช่วยส่งเสริมด้านการตลาดอีกรูปแบบหนึ่งหลังเราต้องเผชิญกับโควิด-19 ตลอด 2 ปี ทำให้เกิดรายได้ที่จะส่งต่อไปถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้ามาให้ผู้นำสตรีทั่วโลกได้ชื่นชม และขอฝากให้กระทรวงมหาดไทยได้ส่งเสริมช่องทางการตลาดในลักษณะนี้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้กับครอบครัวและห่วงโซ่การผลิตอย่างทั่วถึงมากขึ้น

ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ประจำปี 2565 (Global Summit of Women) ซึ่งจากยอดจำหน่ายของผู้ประกอบการ OTOP ทั้ง 3 รายข้างต้นตลอด 3 วันที่มีการจัดประชุมฯ ทำให้เกิดการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง ส่งผลให้ทำให้ผู้ขายได้นำเสนอผลงานหัตถศิลป์หัตถกรรม เล่าเรื่องราวแรงบันดาลใจ วิธีคิด วิธีดีไซน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลิ่นไอที่แฝงอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่เกิดจาก “ฝีมือ” หรือที่เราเรียกว่างาน Handemade ด้วยภูมิปัญญา ด้วยความคิด ของคนไทยในชนบท ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการได้มาจำหน่ายสินค้า แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่เชื่อว่าประสบการณ์ที่ผู้ประกอบการได้รับในครั้งนี้ จะทำให้เกิดแรงปรารถนา ที่มุ่งมั่นในการพัฒนางาน พัฒนาฝีมือ รวมถึงพัฒนาทักษะด้านภาษา.