เมื่อวันที่ 8 ส.ค. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 จึงขอให้นายจ้างและสถานประกอบการ ดำเนินการยื่นรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน 4 สัญชาติ ถึงวันที่ 15 ส.ค.65 นี้ ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 7 วันเท่านั้น เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่และทำงานต่อในไทยได้อีกจนถึงวันที่ 13 ก.พ.66

โดยเมื่อนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวหรือ (Name list) ต่อกรมการจัดหางานผ่านระบบอนุญาตทำงานคนต่างด้าวทางอิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th แล้ว ต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 60 วัน หลังยื่น Name List และชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท ให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขอดังกล่าวคู่กับใบเสร็จรับเงิน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งหลังดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นจะทำงานและอยู่ได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 เช่นเดียวกัน

น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและผู้ประกอบการ จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในส่วนที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว โดยต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับสวัสดิการและประกันสังคมตามสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ทั้งป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อน ที่มีความเสี่ยงต่อโรคระบาด และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย

“ถือเป็นโอกาสดีของภาคธุรกิจไทย ในการฟื้นฟูธุรกิจ ให้มีความมั่นคงและสร้างโอกาสในการแข่งขัน สอดรับกับนโยบายเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งพี่น้องแรงงานต่างด้าว เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศต่อไป” น.ส.ทิพานัน กล่าว.