เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 ส.ค. ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อขาวรายงานว่ามีการประชุม คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 (กรรมการไตรภาคี) ครั้งที่ 8/2565 เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 ร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานประชุม ภายหลังประเทศไทยว่างเว้นไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19

นายบุญชอบ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องประชุม ว่า ที่ประชุมวันนี้เตรียมพิจารณารายละเอียดการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะข้อเสนอฝ่ายลูกจ้าง 492 บาทนั้น ฝ่ายนายจ้างไม่สามารถรับได้ ดังนั้นต้องหารือกันก่อน โดยพยายามจะสรุปภายในวันนี้ (26 ส.ค.) เบื้องต้นมี 3 จังหวัดที่ไม่ได้มีการเสนอขอปรับค่าจ้างเข้ามา คือ จังหวัดอุดรธานี มุกดาหาร และน่าน

“คณะกรรมการแต่ละฝ่ายทุกคนมีหลักการในฝ่ายของตัวเอง มองผลประโยชน์ตัวเอง แต่วันนี้เราก็ถกเถียงกัน ภาพรวมสุดท้ายคือผลประโยชน์รวมของประเทศ” นายบุญชอบ กล่าวและว่า สำหรับมาตรการรองรับกรณีมีการปรับขึ้นค่าจ้างนั้น ฝ่ายเลขาฯ ต้องเตรียมไว้ ทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงาน และบางส่วนที่ต้องขอจากทางรัฐบาล อาทิ มาตรการทางภาษี มาตรการควบคุมราคาสินค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ค่าเฉลี่ยที่จะปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ที่ร้อยละ 5-7 ของฐานค่าจ้างเดิม โดยเมื่อคำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุดฐานเดิม 313 บาท หากปรับขึ้นร้อยละ 5 จะเท่ากับปรับขึ้น 15.56 บาท กรณีปรับขึ้นร้อยละ 7 จะเท่ากับปรับขึ้น 21.91 บาท ส่วนกรณีคำนวณจากค่าจ้างสูงสุดฐานเดิม 336 บาท หากปรับขึ้นร้อยละ 5 จะเท่ากับปรับขึ้น 16.80 บาท กรณีปรับขึ้นร้อยละ 7 จะเท่ากับปรับขึ้น 23.52 บาท.