เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว สวนคุณลี จ.พิจิตร ได้นำต้นพันธุ์มะม่วง “งาช้างแดง” จากประเทศไต้หวัน เข้ามาปลูกในประเทศไทยจนออกดอกติดผล ซึ่งปัจจุบันได้มีการเผยแพร่ปลูกมะม่วงไต้หวันพันธุ์ “งาช้างแดง” กันอย่างแพร่หลาย ต้องยอมรับว่า เมื่อผลสุก รสชาติหวานหอมมาก ไม่มีกลิ่นเหม็นขี้ไต้ ที่สำคัญปริมาณเนื้อมากกว่า 90% และเมล็ดลีบเล็กมาก

มะม่วงพันธุ์งาช้างแดง ผลใหญ่และยาวมาก มีความยาวผล 20-30 ซม. (เทียบขนาดได้พอๆ กับขวดน้ำดื่ม ขนาดบรรจุ 1.5 ลิตรเลยทีเดียว) เนื้อสุกมีรสชาติหวานหอม มีสีเหลืองเข้มสวยงาม เนื้อละเอียดเนียน เนื้อหนามาก เมล็ดลีบบางเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้นเอง น้ำหนักของเมล็ดไม่ถึง 100 กรัม มีเฉพาะเนื้อมากกว่า 1 กิโลกรัม และคาดว่าจะเป็นมะม่วงอีกสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีชาวสวนมะม่วงไทยขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นในอนาคต เพราะนอกจากมะม่วงงาช้างแดงจะรสชาติดีมาก ขนาดผลใหญ่แล้ว ผิวผลเมื่อเจริญเติบโตบนต้น ถ้าได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ ผิวจะมีสีแดงสวยมาก ตอนที่ติดผลอ่อน ผลมีความยาวสัก 10 ซม.

เกษตรกรผู้ปลูกควรจะต้องแต่งกิ่ง แต่งใบ หรือรูดใบมะม่วงที่บังแสงแดดออก เมื่อผลมะม่วงงาช้างแดงโดนแดดอย่างเต็มที่ ผิวมะม่วงที่เขียวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงชัดเจนมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายขนาดของผลมะม่วง ซึ่งผิวมะม่วงที่สีแดงนั้น ถือเป็นสีมงคลของชาวจีน นิยมนำไปไหว้หรือใช้ในเทศกาลสำคัญ รวมถึงนำไปเป็นของฝาก ซึ่งที่ผ่านมา ได้ทำการปล่อยให้มะม่วงไต้หวันพันธุ์งาช้างแดงออกดอกและติดผลเองตามฤดูกาลในบ้านเราก็ออกดอกติดผลได้เป็นอย่างดี ออกดอกติดผลดกมากแต่ก็ควรไว้ผลเพียง 1 ผลต่อ 1 ช่อดอก เพื่อจะให้ผลมีขนาดใหญ่และมีคุณภาพดี

จากที่ได้ทดลองผลิตมะม่วงนอกฤดูในรูปแบบการผลิตมะม่วงของบ้านเรานั้น คือ ได้ทำการราดสารแพกโคลบิวทราซอล เพื่อผลิตเป็นมะม่วงนอกฤดูนั้น พบว่ามะม่วงงาช้างแดงสามารถตอบสนองการใช้สารราดแพกโคลบิวทราซอลได้เป็นอย่างดี โดยผลผลิตที่จำหน่ายออกจากสวนตอนนี้ กก.ละ 100-200 บาทเลยทีเดียว มะม่วงไต้หวันพันธุ์ “งาช้างแดง” จัดว่าเป็นมะม่วงทางเลือกที่น่าสนใจสายพันธุ์หนึ่ง ที่ได้ทั้งความแปลกของขนาดผล สีผิวแดงที่สวยงาม และที่สำคัญรสชาติหวานทานอร่อย สามารถทานสุกหรือนำไปทานคู่กับข้าวเหนียวม่วงได้เป็นอย่างดี

การปลูกและดูแลรักษานั้น เหมือนกับมะม่วงทั่วไปในบ้านเรา คือ สามารถใช้ระยะปลูกได้ตั้งแต่ 4×4 ม. เนื่องจากเป็นมะม่วงที่มีทรงพุ่มที่ไม่ใหญ่โตมากนัก ประกอบกับสามารถควบคุมทรงพุ่มได้ตามที่ต้องการจากการตัดแต่งกิ่งเมื่อเก็บผลผลิตเสร็จ