จากกรณีชาวบ้านตั้งข้อสังเกตถึงถังเหล็กบรรจุน้ำบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ หรือ ทสจ.กาฬสินธุ์ ที่นำแผ่นเหล็กมาล้อมต่อเรียงกันขึ้นไปตั้งไว้พื้นดิน และใช้พลาสติกรองรับน้ำด้านใน ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าถังจะรับน้ำหนักไม่ไหว และเสี่ยงล้มทับได้รับอันตราย และอาจจะใช้ประโยชน์ไม่ถึงหน้าแล้งและไม่คุ้มเงินงบประมาณ 5 แสนบาท จึงอยากให้หน่วยงานทั้ง สตจ.กาฬสินธุ์ และ ป.ป.ช.กาฬสินธุ์ เข้ามาตรวจสอบ นั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดมีรายงาน ว่าที่ร้อยตรีสมบูรณ์ หัสดม ผอ.ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้ นายณฤทธ์ กำจร เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบการงานก่อสร้างบ่อบาดาลพลังงานโซลาร์เซลล์ ที่บ้านคำเม็ก หมู่ 7 ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 19 โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกระจายขุดเจาะในพื้นที่ 11 อำเภอ งบประมาณไม่เกิน 5 แสนบาท ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ หลังชาวบ้านเรียกร้องให้ตรวจสอบ เนื่องจากหวั่นวิตกกังวลถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะถังเหล็กบรรจุน้ำขนาดกว่า 2 หมื่นลิตร น้ำหนักกว่า 20 ตัน ที่นำแผ่นเหล็กมาล้อมต่อเรียงกันขึ้นไป ตั้งไว้พื้นดิน และใช้พลาสติกรองน้ำด้านใน เกรงว่าจะรับน้ำหนักไม่ไหวเสี่ยงล้มทับได้รับอันตราย โดยมีนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายประดิษฐ สุดชาดา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม ทสจ.กาฬสินธุ์ ประธานกรรมการตรวจรับ ช่างคุมงาน และตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วม

นายณฤทธ์ กำจร เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การตรวจสอบครั้งนี้ เบื้องต้นเป็นการตรวจสอบดูว่า การก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนหรือไม่ ซึ่งหลังตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างตามแบบแปลน มีวัสดุอุปกรณ์ครบตามทีโออาร์ที่กำหนดไว้ในโครงการฯ ซึ่งในส่วนของถังเหล็กบรรจุน้ำ ที่ชาวบ้านหวั่นเกรงถึงความปลอดภัยว่าจะล้มทับ และมีการนำเอาพลาสติกด้านในเกรงว่าจะไม่สามารถรองรับน้ำได้นั้น จากการตรวจสอบพบเป็นถังเหล็กขนาดความสูง 6 เมตร ขนาดบรรจุน้ำ 20 ลบ.ม. ลักษณะเป็นแผ่นเหล็กครึ่งวงกลมแล้วนำมาประกอบเข้ากัน ภายในบุด้วยพสลาติกรองนำรับน้ำ เบื้องต้นพบก่อสร้างตามแบบในรายการเช่นกัน

นายณฤทธ์ กล่าวอีกว่า แม้การตรวจสอบจะพบก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนในรายละเอียดที่ระบุไว้ในโครงการ แต่ก็จะนำเรื่องรายงานไปยัง ผอ.ป.ป.ช.กาฬสินธุ์ และผู้บังคับบัญชา พร้อมกับให้ทางวิศวกรและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจสอบถึงคุณภาพของถังเหล็ก พลาสติก รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์แต่ละชิ้นว่าผ่านการรับรองและมีมาตรฐานเหมือนกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ่อบาดลโดยทั่วไปหรือไม่

ด้านนางพนิดา ธนาปฏิ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หนึ่งในสมาชิกเกษตรกรที่ใช้ประโยชน์บ่อบาดาล กล่าวว่า หลังทางสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ ก่อสร้างบ่อบาดาลแห่งนี้แล้วเสร็จ ตนและสมาชิกก็กังวลถึงความปลอดภัย และคุณภาพ โดยเฉพาะถังน้ำเหล็กที่ตั้งพื้น แต่ยึดเหล็กฉากเล็ก เกรงว่าจะรับน้ำหนักไม่ไหว ใช้ไปนานๆ จะทำให้ถังล้มลงมาได้ นอกจากนี้บริเวณด้านบนของถังไม่มีสายล่อฟ้า ในเวลาฝนตกกลัวว่าจะถูกฟ้าผ่า จึงอยากให้มาแก้ไขด้วย ซึ่งหากได้รับการแก้ไขในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี และชาวบ้านจะได้รับประโยชน์ต่อไป

ขณะที่นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าวทางสำนักงานได้ของบประมาณไปยังส่วนกลาง ทั้งนี้ยืนยันว่าการดำเนินการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลน รายละเอียดก่อสร้าง และมาตรฐานทางวิศวกรรม มีการรับรองจากบริษัทผู้ผลิต มีวัสดุอุปกรณ์ตามทีโออาร์ที่กำหนดไว้ และมีมาตรฐาน

นายอัครพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวถังน้ำเหล็กขนาด 2 หมื่นลิตร หรือ 20 ลบ.ม. ซึ่งชาวบ้านมีความกังวลและเกรงได้รับอันตรายล้มทับนั้น ขอชี้แจงว่าถังน้ำเหล็กดังกล่าว ตัวถังเป็นแผ่นเหล็กกำลังสูง เคลือบป้องกันการผุกร่อน ความหนา 1.2 มม. ความสูง 6 เมตร บรรจุน้ำได้ 2 หมื่นลิตร ภายในบุด้วยพลาสติกพีวีซี Liner ชนิดเสริมเส้นใย โพลีเอสเตอร์ ขนาด 0.70 มม. ซึ่งเป็นวัสดุป้องกันการรั่วซึมและช่วยรักษาอุณหภูมิของน้ำให้เป็นปกติ เพื่อใช้ในการรดน้ำพืชผักได้ทุกช่วงเวลา และยืนยันว่าประชาชนและเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลแน่นอน อย่างไรก็ตามในส่วนที่เกษตรกรกังวลเรื่องฐานยึดถังเหล็ก และสายล่อฟ้านั้น ทางสำนักงานจะประสานกับบริษัทรับเหมาเข้ามาต่อเติมปรับปรุงเสริมความแข็งแรงให้มากขึ้นตามความต้องการของชาวบ้าน.