จากกรณีเหตุการณ์ น้ำท่วมตัวเมืองอุดรฯ มีเหตุทำให้ไฟฟ้ารั่วไหล ช็อตนักเรียนชาย อายุ 13 ปี โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล นอนนิ่งอยู่ตรงโคนเสาไฟฟ้า กระทั่งนักเรียนชายที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาฯ มาเห็นเหตุการณ์เข้า จึงได้เข้าช่วยน้องที่ถูกไฟดูดออกมา ตามกระแสข่าวที่รายงานไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น

ล่าสุดเฟซบุ๊ก @การันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ-สพฉ.1669 ได้โพสต์วิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องอยู่ในเหตุการณ์ไฟฟ้ารั่วขณะน้ำท่วมอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งได้นำวิธีการเอาตัวรอดจาก รายการไม่ตายหรอกเธอ มาแชร์ต่อเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยระบุข้อความว่า ‘วันนี้เห็นข่าวที่นักเรียนเดินลุยน้ำแล้วถูกไฟดูด โชคดีที่มีคนมาช่วยและปลอดภัยทั้งคนถูกไฟดูดและคนช่วย ก็เลยนึกขึ้นได้ว่า ผม คุณโจ๊ก Auttawut Joke Iscream Inthong และน้องลิตา Lita Inchalita เคยทำรายการ ไม่ตายหรอกเธอ แล้วไปสัมภาษณ์อาจารย์คณะวิศวกรรมไฟฟ้า เทคโนโลยีลาดกระบัง ก็ขอเอาความรู้ที่อาจารย์แนะนำมาสรุปให้ฟัง ดังนี้

  1. เมื่อไฟฟ้ารั่วลงน้ำ จะมีรัศมีของมัน แผ่ออกไปจากจุดที่รั่ว เมื่อเราเดินลุยน้ำแล้วเข้าไปใกล้จุดที่ไฟฟ้ารั่ว จะเริ่มรู้สึกคันยิบๆ ยิ่งเข้าใกล้เท่าไหร่ ก็จะรู้สึกเจ็บมากขึ้น ฉะนั้นแล้วการเดินลุยน้ำ ให้เดินช้าๆ ถ้าไปตรงไหนแล้วรู้สึกชาหรือคันยิบๆ ให้เดินถอยออกมา ทางเดิม
  2. หากมีวัตถุที่เป็นโลหะอยู่ใกล้จุดที่ไฟรั่ว จะยิ่งทำให้การเหนี่ยวนำของไฟฟ้าแรงขึ้น รัศมีของไฟรั่วจากกว้างขึ้น โลหะหลายชนิดที่แช่อยู่ในน้ำแล้วมีกระแสไฟฟ้า มักจะเห็นฟองอากาศผุดขึ้นมา อย่าเข้าไปใกล้เด็ดขาด
  3. การทดลองจับวัตถุต่างๆ ในน้ำให้ใช้หลังมือสัมผัส เพราะเมื่อถูกไฟดูดแขนจะกระตุกกลับเข้าหาตัว
  4. การเดินระบบไฟฟ้าในบ้านที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ควรติดตั้งระบบ Earth Leak Breaker (อันเดียวกับที่ติดตั้งในเครื่องทำน้ำอุ่น) เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าทันทีที่มีไฟรั่ว
  5. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เคยถูกน้ำท่วมและมีไฟรั่ว ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่เนื่องจากระหว่างที่ไฟรั่วอาจทำให้สายไฟต่างๆ เสื่อมสภาพ เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ในภายหลัง
  6. ควรใส่รองเท้าบู๊ตยาง เมื่อต้องเดินลุยน้ำ
  7. การช่วยผู้ถูกไฟดูดในน้ำท่วม ควรดูความปลอดภัยของผู้ช่วยเหลือเป็นหลัก หลังจากช่วยออกมาแล้ว ให้รีบพาขึ้นสู่ที่แห้ง โทร.1669 หากพบว่าหมดสติไม่หายใจ ให้รีบทำ CPR

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก การันต์ ศรีวัฒนบูรพา