เป็นการครีเอทผลงานได้ “ปังเกินต้าน” จริงๆ สำหรับผลงาน “ฟองน้ำทำความสะอาดจากผักตบชวา” ของ 4 สาวทีม “TrillionX” จาก โรงเรียนมาร์แตเดอีวิทยาลัย ที่ “ขาสั้น คอซอง” ภูมิใจนำเสนอในวันนี้ ซึ่งทีม “TrillionX” มีสมาชิกประกอบด้วย “จีจี้” อภิชญา วงศ์เจริญวาณิชย์, “บัว” บัวบูชา ตัญฑโญภิญ, “โจดี้” สิรินัดดา เอกชัย และ “ธัญย่า” ธนัชญา พานิชชีวะ


โดยทั้ง 4 สาว ได้ร่วมกันนำเสนอนวัตกรรม “ฟองน้ำทำความสะอาดจากผักตบชวา” ที่นำเส้นใยของผักตบชวามาทำเป็นฟองน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและพัฒนาสิ่งแวดล้อมของคูคลอง คว้า รางวัลชนะเลิศ ประเภทโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและนวัตกรรมทางสังคม จากการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ มาเลเซีย จัดโดย อินโดรามา เวนเจอร์ส ร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการ SDG Lab แห่งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)

“บัว” บัวบูชา ตัญฑโญภิญ

“บัว” เล่าว่า เริ่มแรกมาจากช่วงปิดเทอม กลุ่มเราต้องการหาประสบการณ์การแข่งขันจึงหาโครงการประกวดดู แล้วมาเจอการแข่งขันของโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีโจทย์ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นรอบด้านของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่น่าตื่นเต้นมากสุดคือการมีผู้เข้าแข่งขันมาจาก 6 ประเทศ มาเข้าร่วมเวิร์กช็อปที่ทำให้เราได้เห็นไอเดียของเพื่อนๆ จากประเทศอื่นๆ ด้วย ทำให้มีแรงบันดาลใจหลายอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีเมนเทอร์มาช่วยให้คำแนะนำในการต่อยอดแนวคิดของเราให้สามารถแก้ปัญหาได้จริงอีกด้วย

“ธัญย่า” ธนัชญา พานิชชีวะ

“ธัญย่า” เสริมว่า แนวคิดนวัตตกรรม “ฟองน้ำทำความสะอาดจากผักบชวา” เกิดจากที่เราไปศึกษาข้อมูลมา แต่ละครัวเรือนมีการเปลี่ยนฟองน้ำล้างจานที่ใช้ในบ้านเดือนละ 2 ครั้ง และประเทศไทยมีครัวเรือนประมาณ 19 พันล้านครัวเรือน หมายความว่า มีการใช้ฟองน้ำพลาสติกประมาณ 4 พันล้านชิ้นในแต่ละเดือน ซึ่งจะกลายมาเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เลยตั้งคำถามว่า ถ้าเราเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำเป็นอย่างอื่นมาทดแทนล่ะ ก็เลยศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อมด้วย ก็พบว่า ประเทศเรามีปัญหาผักตบชวาที่อยู่ตามแม่น้ำลำคลอง ที่อาจสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ เพราะขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ทำให้น้ำเน่าเสีย แหล่งน้ำตื้นเขิน และยังไปกีดขวางการไหลของน้ำ จนเกิดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ รวมถึงสัตว์น้ำอีกด้วย จึงเป็นที่มาของการมิกซ์แอนด์แมตช์ และเป็นไอเดียการพัฒนา ‘ฟองน้ำจากเส้นใยของผักตบชวา’ ที่สามารถช่วยลดขยะฟองน้ำ และขยะผักตบชวา อีกทั้งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

“จีจี้” อภิชญา วงศ์เจริญวาณิชย์

“จีจี้” อธิบายถึงหลักการพัฒนา “ฟองน้ำจากผักตบชวา” ว่า เริ่มจากการเก็บรวบรวมผักตบชวาจากแม่น้ำคูคลองในท้องถิ่น จากนั้นนำไปล้างทำความสะอาด และคัดแยกเส้นใยจากรากผักตบชวา และลำต้น เลือกใช้ส่วนที่เป็นเส้นใยมาทำการผลิตฟองน้ำ โดยกดทับเส้นใยให้แน่น และนำไปตากแห้งด้วยตู้อบแสงอาทิตย์ จากนั้นนำเส้นใยผักตบชวาที่ตากแห้งแล้วมาวางซ้อนกันตามลายขวางจนได้ขนาดที่ต้องการ แล้วกดทับเส้นใยฟองน้ำด้วยเครื่องกด จนกลายเป็นก้อนฟองน้ำ ขณะเดียวกัน เส้นใยอีกส่วนหนึ่งที่มาจากก้าน สามารถนำไปทำเป็นเส้นด้ายซึ่งจะมีความทนทานและสามารถย่อยสลายได้ นำด้ายที่ทำมาจากผักตบชวามาเย็บเก็บขอบฟองน้ำเพื่อให้ฟองน้ำแข็งแรง และบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำไปจำหน่ายได้ในครัวเรือน ร้านค้า และร้านอาหาร ได้ด้วย

“โจดี้” สิรินัดดา เอกชัย

ปิดท้ายด้วย “โจดี้” บอกว่า อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน ยกตัวอย่างเช่น ฟองน้ำพลาสติก แค่ในเมืองไทยปีหนึ่งก็มีคนใช้ประมาณ 20 พันล้านคน ที่ใช้ต่อปีถือว่าเยอะมากแล้ว ถ้าเราทุกบ้านร่วมมือการลดการใช้ฟองน้ำพลาสติก ก็จะช่วยลดปริมาณขยะในประเทศได้มาก การกระทำเล็กๆ มันก็สามารถยิ่งใหญ่ได้ สิ่งที่เราบอกว่ามันไกลตัว จริงๆ แล้วคือมันใกล้ตัวมากๆ มองออกนอกหน้าต่างก็เห็นแล้วว่า นี่คือสิ่งแวดล้อม คือถ้าเราอยากให้โลกเรามีสีเขียว มีสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป เราควรจะเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ อยากให้ทุกคนเชื่อในตัวเองว่า เราเป็นจุดเปลี่ยนแปลงได้

ทีมงาน “ขาสั้น คอซอง” ขอปรบมือให้รัวๆ เลย กับผลงาน “ฟองน้ำทำความสะอาดจากผักตบชวา” ไอเดียรักษ์โลกของ “บัว”, “ธัญย่า”, “จีจี้” และ “โจดี้” 4 สาวจาก “มาแตร์เดอี” อีกตัวอย่างของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป