ขุนเขาสูงเสียดฟ้าในป่าทึบ อาจเป็นเพียงธรรมชาติที่ซุกซ่อนอยู่ห่างไกล วิถีชีวิตของคนบนยอดดอย อาจต้องอยู่อย่างล้าหลัง แร้นแค้น และยากลำบาก หากขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีพที่ทันสมัย แต่ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไขด้วยแผนการเร่งรัดพัฒนาชนบท เพื่อให้มีทุกสิ่งทัดเทียมชาวเมืองด้วยถนนหนทางเชื่อมโยง ที่ถูกเรียกขานว่า “ทางหลวง” ที่ปัจจุบันนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการคมนาคมแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามสำหรับหลายคนอีกด้วย สำหรับเรื่องราวของถนนสายชีวิตนี้ ถูกสร้างบนความคิดต่างและสำเร็จลงได้ด้วยความทุ่มเท เสียสละ และยึดมั่นในหน้าที่ของบุคลากรหลายสาขาอาชีพ เพื่อเชื่อมโยงสายใย นำความเจริญจากเมืองสู่ชนบทห่างไกล แม้เบื้องหลังจะเต็มไปด้วยเลือดเนื้อและคราบน้ำตา ทั้งจากความปีติยินดีและการสูญเสีย

วันนี้ถนนสายพระราชดำริจะถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบของภาพยนตร์ซีรีส์เฉลิมพระเกียรติชุด “เส้นทางเกียรติยศ” เพื่อรำลึกถึงและเทิดทูน “พ่อหลวง รัชกาลที่ 9” หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ พระองค์ไม่ได้ต่อสู้กับผู้ที่มีความเห็นต่าง แต่พระองค์ต่อสู้กับความอดอยากและหิวโหยของประชาชน โดยทรงเลือกแนวทางในการพัฒนาแทนการใช้กำลังอาวุธ และทรงสนับสนุนให้ กรมทางหลวง ได้เร่งรัดพัฒนาเส้นทางเข้าสู่ชนบท ด้วยการสร้างถนนหนทางเชื่อมโยงนำความเจริญก้าวหน้าเข้าหาประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นเขตล่อแหลม โดยเปลี่ยนเส้นทางแห่งความทุกข์ยากลำบาก ให้เป็นถนนแห่งความสุข และสังคมที่สงบร่มเย็น

สร้างจากเรื่องจริง ถ่ายทอดผ่านชีวิตจริงของ เสถียร ชาติพงศ์ นายช่างกรมทางหลวง โดย โกวิฐ วัฒนกุล นักแสดงรุ่นใหญ่มากความสามารถ ผู้เป็นเจ้าของโปรเจคท์ภาพยนตร์ซีรีส์เฉลิมพระเกียรติ และได้รับความไว้วางใจจาก “กองทัพบก” ให้เป็นผู้ดำเนินงานสร้าง และนั่งแท่นผู้กำกับภาพยนตร์ซีรีส์ “เส้นทางเกียรติยศ” และบทภาพยนตร์โดย หนึ่งเดียว

สำหรับ กรมทางหลวง ได้รับหน้าที่ในการรับผิดชอบสร้างถนนหนทาง เพื่อความมั่นคงกว่า 100 สายทาง รวมความยาวประมาณ 4,500 กิโลเมตร ถูกซุ่มโจมตีเพื่อขัดขวางการก่อสร้างทางด้วยรูปแบบต่างๆ ถึง 1,795 ครั้ง ทั้งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ทั้งนายช่าง พนักงานขับเครื่องจักรและยานพาหนะ รวมทั้งคนงานต้องพลีชีพไปถึง 54 ศพ บาดเจ็บ 156 คน เป็นทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครที่ให้การคุ้มกันเสียชีวิต ประมาณ 400 ศพ บาดเจ็บกว่า 1,000 คน ฝ่ายบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเสียชีวิตไปราว 450 ศพ และบาดเจ็บอีกราว 1,100 คน

หนึ่งในผู้กล้าหาญแห่งกรมทางหลวงที่รอดชีวิตจากการทุ่มเท ปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยหัวใจเสียสละ เพื่อให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายบรรลุความสำเร็จ โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากก็คือ นายเสถียร ชาติพงศ์ หรือ “ปู่เถียร” นายช่างโครงการน่านที่ 2 ผู้ควบคุมโครงการสร้างทางสาย ปัว-เชียงกลาง-ทุ่งช้าง-บ้านปอน-กิ่วจันทร์-ห้วยโก๋น ผู้ผ่านกับระเบิดและการปะทะอย่างหนักหน่วงมากว่า 5 ครั้ง เคยประสบเหตุเฮลิคอปเตอร์ถูกยิงตกและไฟคลอกจนไหม้ไปทั้งตัว แต่ก็รอดชีวิตมาได้ ขณะที่สูญเสียเพื่อนร่วมงานไปถึง 6 ศพ …ในระยะทางแค่สิบกิโลเมตร ที่บุกเบิกเข้าไปในป่าเขา พวกเขาต้องสูญเสียชีวิตผู้สร้างทางและทหารหาญไปกว่า 30 ศพ

เหนืออื่นใดกำลังใจและปณิธานอันหาญกล้า ที่พวกเขาได้รับนั้นมาจาก พระเมตตาจากมหาบารมีแห่งองค์ พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียน ปลอบขวัญ และให้กำลังใจในพื้นที่ที่อันตรายที่สุด และมิได้เสด็จฯ เพียงครั้งเดียว ยังทรงติดตามและห่วงใยประชาชนของพระองค์อยู่เสมอจนตลอดรัชกาล โดยมี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น เคียงข้างอยู่สมอ เพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร จนมีส่วนช่วยหยุดยั้งการเผยแพร่ของลัทธิตรงกันข้ามในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนอุดมการณ์  หันมาสร้างความปรองดองและร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมืองสืบมา

“ทุกวันนี้ถนนหลายเส้นทางได้นำพาเราไปสู่แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งวัฒนธรรม ภูมิประเทศที่สวยงาม ได้มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกับคนในท้องถิ่นได้อย่างสะดวกสบาย จนบางครั้งเราไม่เคยนึกเลยว่าถนนเหล่านี้ได้มาด้วยความยากลำบาก คนสร้างทางต่างทุ่มเททั้งแรงกายและแจงใจ เสียสละแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต…”  โกวิฐ เผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้

โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้ โกวิฐ อยากทำผลงานชิ้นนี้นั้น เขากล่าวว่า “เริ่มแรกผมรู้จักและสนิทกับนายช่างเสถียรมาก และเมื่อประมาณครึ่งปีที่แล้ว ผมได้อ่านข้อเขียนของคุณเอนก นาวิกมูล เรื่อง ‘บุรุษเหล็กแห่งขุนเขาน่าน’ คุณเอนกเขียนมาจากข้อมูลของคุณวิเชียร มีแก้ว บก.วารสารกรมทางหลวง ซึ่งมันลงตัวกับที่เรารู้มาเลยตลอด 30 ปี เลยคิดว่ามันน่าจะนำมาทำเป็นหนัง เพราะได้ทั้งเรื่องของตำรวจและทหารที่สละชีวิตเพื่อแผ่นดิน จึงเขียนโครงการขึ้นมา และไปนั่งคุยกับพี่เด็จ (เผด็จ ภูรีปติภาน) หรือ ‘พญาไม้’ และเขาก็บอกว่าขอเรื่องนี้ และให้นำเรื่องนี้ไปให้ ‘ตี๋’ หรือ พลเอกรังษี กิติญานทรัพย์ ซึ่งหลังจากนั้นพลเอกรังสี ก็นำเรื่องนี้เข้าพบ ผบ.ทบ.เลย ซึ่งท่านก็บอกว่าให้รีบจัดงบและยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นให้ผมทำด่วน รุ่งขึ้นท่านพลเอกรังษีขอพบผม ผมก็ไปคุย เจอหน้ากันท่านก็บอกว่าผมได้ทำโครงนี้แน่นอน จากนั้นท่านก็พาไปคุยกับกรมทางหลวง เพราะงานนี้ดูแล้วกรมทางหลวง ควรเป็นพระเอก เป็นเรื่องราวของกรมทางหลวง ทหารแค่เข้าไปช่วยคุ้มกัน แต่แค่เข้าไปช่วยคุ้มกัน ก็เสียชีวิตไปถึง 400 ศพ เจ้าหน้าที่กรมทางหลวง 450 คน ก็เลยเริ่มลงมือทำงาน แต่สิ่งที่ไม่คาดฝัน ไม่นึกว่ามันจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นแบบลงตัวไปติด ๆ กัน”

“อันดับแรก สำคัญที่สุดคือทางกองทัพบก และ ททบ. 5 สนับสนุนงบและยุทโธปกรณ์ที่จะใช้ในการถ่ายทำ และให้เวลาช่อง 5 เต็ม ๆ ในขณะที่กรมทางหลวง จะช่วยเรื่องรถไถ รถขนน้ำ รถขนดิน ที่อยู่ใยยุค 40 ปีที่แล้วด้วย เอามาเข้าฉากทั้งหมด เพื่อความสมจริง แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ หนังสือพระบรมราชานุญาต จากสำนักพระราชวัง ที่ใครก็บอกว่าเร็วที่สุดคือ 3 หรือ 6 เดือนกว่าจะได้ เชื่อมั้ยว่าเราได้ใน 2 วัน มันเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง รับรู้เลยว่าเบื้องบนส่งมาให้ทุกอย่าง…” นักแสดงรุ่นใหญ่กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่น พร้อมร้องไห้ด้วยความตื้นตัน

ทั้งยังบอกอีกว่า ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นเรื่องที่มาจากเบื้องบนจริงๆ ซึ่งผมเชื่ออย่างหมดใจ ใครไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับผมเชื่อว่านี่คือ เรื่องที่เสด็จพ่อ ร.9 ท่านต้องการให้ทำ เพราะตลอดเวลาที่เริ่มทำเรื่องนี้ เวลาที่เกิดปัญหาอะไรขึ้น พอเราแก้ไขออกไป กลับกลายเป็นเรื่องที่ดีขี้นกว่าเดิมทุกครั้ง เรื่องบางอย่างยาก แต่เรากลับผ่านไปได้ภายในไม่กี่วัน”

ซึ่งเรื่องนี้เต็มไปด้วยนักแสดงคุณภาพ นำโดย  ตั๊ก-นภัสกร มิตรธีรโรจน์ ซึ่งมีความผูกพันกับเรื่องนี้โดยตรง โดยเป็นลูกชายของวิศวกรคุมสร้างทาง ที่รับช่วงต่อกรมทางหลวง จากนครไทยถึงด่านซ้าย มารับบทนำ ถ่ายทอดชีวิตของคนต้นเรื่อง อย่าง “นายช่างเสถียร” ขณะที่ ผู้พันเบิร์ด-พ.อ.วันชนะ สวัสดี ก็รับบทเด่น เป็นทหารผู้ยอมสละชีพ ซึ่งทั้งคู่พูดตรงกันว่า “อยากทำเพื่อถวายพ่อหลวง โดยไม่รับค่าตัว!”

โกวิฐ เล่าว่า “สำหรับคิวนักแสดงในเรื่องนี้ จากที่ไม่ได้แต่พอได้มาปุ๊บ ก็เกี่ยวข้องกับกรมทางหลวงทั้งนั้น อย่าง ตั๊ก-นภัสกร มิตรธีรโรจน์ ที่รับบท ‘นายช่างเสถียร’ พอเราไปคุยให้ฟัง ตั๊กบอกว่า ‘แค่อาพูดจบ ก็ได้หัวใจของผมแล้ว ผมเล่นครับ’ ก็คุยรายละเอียดเสร็จเรียบร้อย ตั๊กบอกว่า ‘ผมถามอานิดเดียว ช่วยถามคุณลุงวิเชียร รู้จักนายช่างสวัสดิ์ มิตรเอม มั้ย’ เราเลยโทรฯ หาพี่วิเชียร เขาก็บอกว่าสนิทกันเลย เขาเป็นวิศวกรคุมสร้างทาง รับช่วงต่อกรมทางหลวงจากนครไทยถึงด่านซ้าย เราก็ไปบอกตั๊กและถามว่าเกี่ยวอะไรกัน ตั๊กก็บอกว่า ‘เป็นพ่อของผมครับ มิน่าล่ะ! ตอนเด็กที่ผมนั่งกินข้าวกับคุณพ่อที่ทำงานของคุณพ่อ ที่กำลังทำถนนอยู่ ก็มีศพนอน มีเลือดเต็มไปด้วย ผมก็นึกว่าสงสัยว่า ทำไมผมต้องนั่นกินข้าวตรงนั้น นั่นแหละ พ่อของผมก็รบอยู่ตรงนั้น’ มันบังเอิญมาก

และตั๊กยังบอกอีกว่าจะไม่เรียกค่าตัว ทำถวายพ่อหลวง ผมก็บอกว่า ไม่ได้ คิวของทุกคนมีราคา มีค่ามาก ตั๊กเลยบอกว่า ‘งานแบบนี้ใช้งบมหาศาล ค่าน้ำมัน ค่าเอฟเฟกต์ และต้องถ่ายของจริงที่ จ.น่าน ทั้งเรื่อง อารู้มั้ยว่าเท่าไหร่ ดังนั้นงบที่มีทั้งหมด เอาไปทำงานให้ดีที่สุดให้เสร็จเสียก่อน แล้วเหลือเท่าไหร่ค่อยคิดถึงผม ให้ผมสองร้อยบาทก็ได้’ ได้ใจผมเลยครับ และอีกคนหนึ่ง คือ ผู้พันเบิร์ด ซึ่งมีบทในเรื่องเยอะเลย คนนี้คุยไม่กี่คำ ก็ตอบตกลงเล่น ทุกอย่างได้ครับ เราก็ถามว่าขอทราบราคาค่าตัวในการแสดง เขาก็ตอบมาว่า ‘แล้วแต่ครับ ไม่เรียกครับ ผมถวายพ่อหลวงครับ’ ซึ่งในเรื่องนี้ผู้พันเบิร์ด รับบท ‘ผู้กองยงยุทธ’ ผู้มีหัวใจรักชาติเต็มเปี่ยม และสละชีวิตเพื่อช่วยลูกน้อง ตายแทนลูกน้อง ในเรื่องนี้จะมีซีนที่ ‘ผู้กองยงยุทธ’ ใช้ร่างของตัวเองค้ำเสาธงชาติ ขณะที่โดนยิง จนขาดใจตายคาเสาธง ซึ่งซีนนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ว่า ทหารคือผู้ที่ใช้ชีวิต ร่างกายและเลือดเนื้อของตัวเอง ค้ำชาติจนลมหายใจสุดท้าย”

เมื่อถามถึงสิ่งที่คนไทยทุกคนจะได้เห็นผ่านภาพยนตร์ซีรีส์เฉลิมพระเกียรติชุดนี้นั้น โกวิฐ กล่าวตอบว่า “ในเรื่องนี้ทุกคนจะได้เห็นที่มาของถนนทางหลวงสายนี้ ถนนเลข 3 อันสวยงาม ที่ทุกคนไปถ่ายรูปกัน แต่ที่มาของถนนเส้นนี้ต้องแลกถึง 1 พันชีวิต กว่าจะได้มา นายช่างทุกคนที่ต้องไปลำบากตรากตรำ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ผมอยากให้ทุกคนได้เห็นถึงวีรกรรมของพวกเขา และอีกส่วนนึ่งคืออยากให้เห็นว่าทหารมีไว้ทำไม ที่ต้องไปปกป้องความปลอดภัยของนายช่างทุกคน ซึ่งผมตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นการสดุดีบุคลากรที่ร่วมกันสร้างทางหลวง ที่ต้องสละเลือดเนื้อและพลีชีพไปกว่า 1,000 คน กว่าถนนสายน่านถึงห้วยโก๋นจะสร้างเสร็จเรียบร้อย เพราะบุคลากรที่มีส่วนร่วมในการสร้างทาง ต้องถูกซุ่มโจมตีจากผู้ที่ไม่หวังดี”

ก่อนที่นักแสดงรุ่นใหญ่จะเน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดว่า “การทำผลงานชิ้นนี้ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 และเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวพระราชดำริ การพัฒนาประเทศไว้มากมาย รวมทั้งการสร้างทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคม ไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นทุกชุมชน นี่คือวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุด ที่ผมต้องการทำงานชิ้นนี้ให้ทุกคนดู อยากให้เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และ ร.10 พระองค์ทรงทำอะไรเพื่อแผ่นดินนี้บ้าง…”

“เขามียิงกัน แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงนั่งเฮลิคอปเตอร์ส่วนพระองค์ลงกลางดงคอมมิวนิสต์ เพื่อไปปลอบใจ และคว้ามือทหารที่กำลังบาดเจ็บ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านโอบเอวทหารผู้นั้นใส่บ่าของพระองค์ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อมารักษา มีภาพอยู่ เป็นภาพที่ฝรั่งได้ถ่ายเอาไว้ และภาพของรัชกาลที่ 10 ที่เหงื่อท่วมพระวรกาย สะพายปืนเอ็ม 16 เคียงบ่าเคียงไหล่ อารักขา ในหลวงรัชกาลที่ 9…”  โกวิฐ ในฐานะผู้กำกับ กล่าวพร้อมน้ำตาที่สุดกลั้น เพราะความตื้นตันใจ

นอกจากนี้ โกวิฐ ยังได้เล่าความประทับใจต่ออีกว่า “แม้แต่ครั้งหนึ่งก็คือทหารกำลังรบกับฝ่ายตรงข้าม ที่คิดต่าง ยกทีมมาถล่ม ทางทหารสู้จนสุดท้ายเหลืออยู่ไม่กี่คน และวิทยุขอกำลังสนับสนุนทางอากาศจาก จ.พิษณุโลก เพราะต้านไม่ไหวแล้ว ทางนั้นตอบมาว่าไปไม่ได้ ทัศนวิสัยแย่มาก บินไม่ได้ ให้ช่วยตัวเองไปก่อน ทางนี้ก็คิดว่าตายแน่ และวางวิทยุลงอย่างสิ้นหวัง แต่ยังเดินออกไม่พ้นเต็นท์เลย เสียง ว.ดังมาว่า อีกหนึ่งชั่วโมงจะส่งเฮลิคอปเตอร์ไปรับ ขอให้อดทน ทุกคนหยุดหันมามอง นี่เป็นเสียงของในหลวงรัชกาลที่ 9…” เมื่อพูดถึงตรงนี้ น้ำตาของนักแสดงรุ่นใหญ่ได้ไหลลงมาเพราะความซาบซึ้งอีกครั้ง ก่อนบอกต่อว่า “…ท่านไปด้วยพระองค์เอง และในหลวงได้บินลงตรงกลางดงนั้นเลย หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับมา สมเด็จฯ (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ก็บอกว่าไปทำไม ไปได้ยังไง มันอันตรายขนาดไหนรู้ไหม แต่ในหลวง ร.9 ท่านทรงตรัสตอบว่า ‘รู้ว่าอันตราย แต่อย่าลืมว่าเรามียศทางทหาร เราก็เป็นทหารเหมือนกัน’ ซึ่งยศของพระองค์คือ ‘จอมทัพไทย’ พระองค์ตรัสอีกว่า ‘เพื่อนทหารของเราอยู่ในพื้นที่ เสี่ยงตายทุกวินาที เขายังอยู่กันทั้งเดือนทั้งปี เราแค่ไปช่วยดูแล เราจะไม่กล้าไปเชียวหรือ จำไว้ว่าในสนามรบเราไม่ใช่พระราชา…’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทุกคนจะได้เห็นในละครเรื่องนี้ทั้งหมดครับ” 

โกวิฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อว่าซีรีส์เรื่องนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการโทรทัศน์ไทย ที่เรื่องราวจะตราตรึงอยู่ในหัวใจคนไทยอย่างแน่นอน และจะทำให้บางคนที่ไม่เคยรู้ ได้รับรู้ถึงการสร้างทางหลวงในอดีตว่า ลำบากและอันตรายมากขนาดไหนครับ ผมอยากให้ทั้งเด็กรุ่นใหม่และคนทุกวัยได้เห็น ซึ่งเราอาจไม่เคยรู้เลยว่าในหลวงนั้น ทำเพื่อพวกเรามากแค่ไหน…”

สำหรับ “เส้นทางเกียรติยศ” จะเริ่มออกอากาศในช่วงวันคล้ายวันสวรรคต ในหลวง รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 12-19 ต.ค. นี้ หลังข่าวภาคค่ำ ทาง ททบ.5 HD กดหมายเลข 5 และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Thai TV Global Network (TGN) ใน 133 ประเทศทั่วโลก พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษครบทุกตอน รวมทั้งจะนำกลับมาฉายอีกครั้งในช่วงของวันที่ 5 ธ.ค. นี้ด้วย.

ภาพ : facebook : เส้นทางเกียรติยศ171