เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความเห็นหลัง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ โดยมองว่าสิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ควรดำเนินการแบบเร่งด่วนคือ การพิจารณารายละเอียดของกฎหมายใหม่ว่ามีมาตราใดที่โยงไปสู่การออกกฎระเบียบให้สอดรับกับเจตนารมณ์ เนื่องจากการออกกฎระเบียบต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะที่กฎระเบียบเดิมที่ไม่สอดรับก็ต้องเร่งแก้ไข ควบคู่ไปกับส่วนที่เป็นเรื่องใหม่ในกฎหมายก็ต้องเร่งรัดออกมาให้ทันการณ์

ทั้งนี้ ในกรณีข้าราชการตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งทางปกครองและมีการฟ้องร้อง ซึ่งกว่าจะสิ้นสุดต้องใช้เวลานาน และระหว่างขั้นตอนคำสั่งได้กระทบสิทธิของผู้นั้นไปแล้วจะคืนความเป็นธรรมได้อย่างไร ประเด็นนี้ รศ.ดร.ภูมิ ระบุ ควรมีการเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันว่า หากมีคำสั่งโยกย้ายแต่งตั้งที่ไม่เป็นธรรมแล้วนำไปสู่คดีความ สุดท้ายแล้วชนะคดีหรือไม่ หากชนะก็ต้องย้อนกลับมาดูที่หน่วยงานว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งกรณีของตำรวจมีลักษณะของหน่วยงานที่เฉพาะ การจะย้อนกลับมาให้สิทธิคืนอาจทำไม่ได้ 100% แต่อย่างน้อยก็ควรพิจารณาถึงแนวทางปฏิบัติ หรือแนวทางที่จะพยายามคืนความเป็นธรรมให้มากสุดเท่าที่เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับใหม่มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ ส่วนนี้จำเป็นต้องไปดูถึงบทบาทและการดำเนินการ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน และเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนเจตนารมย์และสร้างขวัญและกำลังใจข้าราชการตำรวจ

“หวังว่าการที่มีคณะกรรมการมาดูเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย หรือการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่เป็นธรรม คณะกรรมการจะวางบรรทัดฐาน วางแนวทางพิจารณาว่าหากเกิดกรณีลักษณะนี้จะคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร คงต้องรอดูการทำงานต่อไป”

เมื่อถามถึงกระบวนการได้มาของ ก.พ.ค.ตร. และ ก.ร.ตร. ที่กำหนดให้ผ่านการสรรหาและแต่งตั้ง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซง รศ.ดร.ภูมิ เผยว่า ในมิติกฎหมายคงการันตีไม่ได้ 100% แต่มีการกำหนดคุณสมบัติไว้ ซึ่งจะทำให้ได้คนที่ดีหรือไม่ดี อย่างน้อยกฎหมายเองจะมีกลไกการเอาคนเหล่านี้ออกจากตำแหน่ง ส่วนตัวมองว่าหลังจากใช้กฎหมายนี้ จะมีกรณีตัวอย่างที่ประชาชนไปร้องเรียนแล้วประสบความสำเร็จได้รับการดูแล เชื่อว่าความเชื่อมั่นของประชาชนจะมีมากขึ้น และมีการใช้ช่องทางนี้มากขึ้น

สำหรับ ก.ม.ใหม่ สาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานตำรวจ มีคณะกรรมการต่างๆ วางนโยบาย กำหนดแนวทาง ปรับแต่งตั้งโยกย้ายตามสายงาน พิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรม ตลอดจนบทเฉพาะกาลที่ให้ยุบหน่วยงาน และถ่ายโอนภารกิจบางส่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนตัวมองว่า แม้จะตัดภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงออกไป แต่ภารกิจเดิมก็คงต้องอยู่ ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักก็ต้องรับไปดำเนินการ เช่น ป่าไม้ บางหน่วยงานมีความชำนาญและมีหน่วยเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่ดูแล แต่ในส่วนหน้างานรถไฟ ช่วงแรกอาจขอความช่วยเหลือจากตำรวจ จนกว่าทางรถไฟจะมีความพร้อม แต่ย้ำว่าต้องเร่งหารือการส่งต่อภารกิจ เพราะรถไฟมีกำหนด 1 ปี ขณะที่ป่าไม้กำหนดไว้ 2 ปี ต้องหาทางออกที่เป็นรูปธรรมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป.