สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ต.ค. อ้างอิงจากเนื้อหาส่วนหนึ่งของอีเมลที่ส่งภายในบริษัททวิตเตอร์ ว่า การปลดพนักงานครอบคลุมสัดส่วนประมาณ 50% หรือคิดเป็นประมาณ 3,700 คน จากสำนักงานทุกแห่งทั่วโลก ซึ่งปิดชั่วคราวตลอดวันศุกร์ โดยฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ วิศวกรรม การสื่อสาร การผลิต การสร้างสรรค์คอนเทนต์ และจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์


อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวภายในทวิตเตอร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า “บุคลากรทั้งหมด” ในฝ่ายงานด้านสิทธิมนุษยชน ต้องพ้นจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจหมายเลขหนึ่งของโลก ซื้อกิจการทวิตเตอร์อย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ด้วยราคา 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.63 ล้านล้านบาท) โดยการเทคโอเวอร์กิจการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งศาล และจนถึงตอนนี้ มัสก์ยังคงกล่าวว่า “แพงเกินไป” และ “จำเป็น” ต้องดำเนินการหลายอย่าง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

อีลอน มัสก์ เดินทางมาร่วมงานเสวนาทางธุรกิจ ที่นครนิวยอร์ก


นอกจากการปลดคณะผู้บริหารชุดเดิมออกทั้งหมด ตามด้วยการยุบบอร์ดบริหาร ส่งผลให้มัสก์เป็นเจ้าขององค์กรเพียงคนเดียว ขณะเดียวกัน มัสก์มีแผนยกเลิกนโยบาย “Work From Anywhere” ซึ่งหมายถึง การปฏิบัติงานจากที่ใดก็ได้ เพื่อให้พนักงานที่ยังคงปฏิบัติงานนอกออฟฟิศ กลับเข้ามาทำงานในสำนักงาน ทว่าเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนอย่างเป็นทางการในวันปลดพนักงาน ส่วนสื่อท้องถิ่นหลายแห่งรายงานว่า มัสก์อาจกำหนด “เงื่อนไขยกเว้นในบางกรณี” สำหรับการทำงานในและนอกออฟฟิศ


ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่ง ทยอยประกาศระงับความร่วมมือโฆษณากับทวิตเตอร์ ขณะที่มัสก์กล่าวถึงเรื่องนี้เพียงว่า นโยบายของเขาในการปรับโครงสร้างของทวิตเตอร์ “ไม่เปลี่ยนแปลง” เพื่อปกป้อง “สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของพลเมือง”.

เครดิตภาพ : REUTERS