กรณีชาวบ้านร้องเรียนตรวจสอบถังเหล็กบรรจุน้ำบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ในโครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการนำแผ่นเหล็กมาล้อมต่อเรียงกันขึ้นไปตั้งไว้พื้นดิน และใช้พลาสติกรองรับน้ำด้านใน ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าถังน้ำดังกล่าวจะรับน้ำหนักไม่ไหว และจะใช้ประโยชน์ได้ไม่นานไม่คุ้มงบประมาณ 5 แสนบาท เพราะไม่เคยเห็นถังลักษณะนี้มาก่อน ซึ่ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดกาฬสินธุ์ และ ป.ป.ช.กาฬสินธุ์ พร้อมเข้ามาตรวจสอบ ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ป.ป.ช.กาฬสินธุ์ ลุยสอบถังน้ำบาดาลไร้ มอก. ตั้งกก.สอบ 19 แห่งป้องทุจริต

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ (ทสจ.) ผู้สื่อข่าวเข้าพบ นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ โดย ผอ.ทสจ.ได้เรียก นายประดิษฐ์ สุดชาดา หน.กลุ่มงานส่วนสิ่งแวดล้อมฯ เป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการนี้มาชี้แจงแทนเนื่องจาก นายยศวัฒน์ แจ้งว่า เพิ่งมารับตำแหน่ง ทสจ.กาฬสินธุ์ แทน นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ที่ย้ายไป จ.อุบลราชธานี

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ตนรับผิดชอบ 12 บ่อ จาก 19 บ่อ ในโครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ผ่านมา เมื่อมีการร้องขอให้ตรวจสอบเรื่องคุณภาพของโครงสร้างและถังน้ำในลักษณะนี้ หลักการที่ได้ดำเนินการนั้นได้อธิบายว่า การประกอบกิจการอุตสาหกรรมต้องขออนุญาต สินค้าอุตสาหกรรมที่จะส่งไปให้ผู้อุปโภค บริโภค ต้องปลอดภัย ได้มาตรฐาน ซึ่งผู้ประกอบการรายนี้ได้รับรองมาตรฐานโรงงานผลิตในระดับ ISO จึงเห็นว่า ในเรื่องของมาตรฐาน มอก. จึงเป็นมาตรฐานที่บังคับอยู่แล้ว

“การก่อสร้างถังน้ำบาดาลในลักษณะนี้เป็นการเทียบเคียงจากถังเหล็กยกสูงของกองทุนพลังงาน เป็นหอถังสูง โดยหลักการแบบเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ออกแบบ แต่โดยความเป็นราชการ ราชการมีหน้าที่บริการสาธารณะ เรื่องนี้เป็นการทำเพื่อประโยชน์ประชาชน ซึ่งไม่คุ้นตากับเกษตรกร อาจจะมีความกังวล แต่ขอให้สบายใจได้ การออกแบบ วัสดุที่นำมาดำเนินการ ได้มาตรฐานการก่อสร้างเป็นไปตามรูปแบบรายการ มีวิศวกรควบคุมงาน ดำเนินการตามรูปแบบมาตรฐาน ยืนยันดำเนินการถูกต้อง” นายประดิษฐ์ กล่าว

นายยศวัฒน์ กล่าวว่า ตนเพิ่งย้ายมารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่า มีการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ถังบ่อบาดาลใน ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ 1 จุด และมีการรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งนี้ได้มีการหารือกับผู้รับจ้างให้แก้ไขโดยติดสายล่อฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงตามที่ชาวบ้านร้องขอมา ขณะที่ในส่วนของการเพิ่มความสูงของเหล็กค้ำยันนั้น ทางผู้รับจ้างและวิศวกรยืนยันถึงความปลอดภัย จึงไม่ได้แก้ไขให้ ซึ่งเท่าที่ทราบโครงการดังกล่าวมีทั้งหมด 19 จุด มีการลงพื้นที่ตรวจสอบเพียง 1 จุด แก้ไขโดยติดตั้งสายล่อฟ้า 12 จุด ส่วนที่เหลืออีก 7 จุด ยังไม่มีรายงานเข้ามา ซึ่งตนจะลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตัวเอง ในกรณี ถังน้ำไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก.นั้น เรื่องนี้คงต้องไปดูให้เห็นกับตา เพราะถังน้ำในลักษณะนี้ก็ไม่เคยเห็น ซึ่งก็คงต้องตรวจสอบให้ชัดแจ้งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตในโครงการนี้

สำหรับกรณีได้รับการเปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2565 ชาวบ้านร้องเรียนให้ดำเนินการตรวจสอบการก่อสร้างบ่อบาดาลทั้ง 19 โครงการ ของ ทสจ.กาฬสินธุ์ ที่จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงจ้างแยกงบประมาณโครงการละไม่เกิน 500,000 บาท รวมงบประมาณเกือบ 10 ล้านบาทครั้งนี้ เพราะพบว่าอาจจะมีการแก้ไขแบบแปลน และกำหนดทีโออาร์ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะถังกักเก็บน้ำเหล็กขนาดกว่า 2 หมื่นลิตร ซึ่งไม่มี มอก. แต่ตั้งราคากลางไว้สูงถังละกว่า 120,000 บาท ทำให้หลายคนสงสัยว่าการออกแบบกำหนดทีโออาร์โครงการนี้ด้วยงบประมาณที่สูงในการก่อสร้างถังบาดาล ทำไมไม่เหมือนกับโครงการถังบาดาลอื่นๆ ที่เคยทำมา ที่สำคัญเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ใช้แบบคล้ายกับถังน้ำของกรมพลังงานฯ แต่ก็ไม่เคยเห็นถังแบบนี้มาก่อนเนื่องจากการก่อสร้างพบว่ามีการนำแผ่นเหล็กคล้ายแผ่นสังกะสีสรรไทแยกชั้นส่วนมาล้อมต่อเรียงกันขึ้นไป และใช้แผ่นพลาสติกยัดรองน้ำด้านใน ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่การก่อสร้างบ่อบาดาลทั่วไป จึงสงสัยว่าโครงการนี้ฯ ส่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่รับจ้าง หรือผู้รับเหมาหรือไม่ จึงขอให้หน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักงานตรวจแผ่นดิน (สตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบทั้ง 19 โครงการ เพื่อประโยชน์และให้คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนและงบประมาณแผ่นดิน